คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3380/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดชอบตามสัญญากู้ยืมเงิน จำเลยย่อมนำสืบข้อเท็จจริงตามคำให้การได้ว่า ไม่เคยกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากโจทก์ แต่ได้ลงชื่อในสัญญากู้ยืมเงินมอบให้โจทก์โดยยังไม่ได้กรอกข้อความ เพื่อให้ผ่อนผันการจับกุม ย. ตามหมายจับของศาล และเพื่อค้ำประกันหนี้ของ ย. ที่มีต่อ พ. เพราะเป็นการนำสืบถึงที่มาของการลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงิน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ หรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคท้าย หาใช่เป็นการนำสืบเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารอันเป็นการต้องห้ามมิให้นำสืบไม่
จำเลยมิได้ยกข้อต่อสู้เรื่องนิติกรรมอำพรางขึ้นอ้างไว้ในคำให้การ และศาลชั้นต้นวินิจฉัยเกินเลยไปว่าสัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์ให้จำเลยลงลายมือชื่อไว้เป็นนิติกรรมอำพรางการค้ำประกัน แต่การค้ำประกันตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นก็หมายถึงการค้ำประกันหนี้ของ ย. ที่มีต่อ พ. ซึ่งไม่เกี่ยวกับโจทก์ และก่อนที่จะวินิจฉัยว่าเป็นนิติกรรมอำพราง ศาลชั้นต้นก็ได้วินิจฉัยไว้ชัดแจ้งในเบื้องต้นแล้วว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์มิได้อุทธรณ์หรือฎีกาโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในส่วนนี้ ดังนั้น ไม่ว่าศาลฎีกาจะวินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยเรื่องนิติกรรมอำพรางเป็นการนอกประเด็นหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน 2,080,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,600,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ในสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ซึ่งมีข้อความว่าจำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์และได้รับเงินไปแล้วในวันทำสัญญา มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าการที่จำเลยนำสืบข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากข้อความในสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นการนำสืบเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า จำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากโจทก์ แต่จำเลยได้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวมอบให้โจทก์โดยยังไม่ได้กรอกข้อความ เพื่อขอให้ผ่อนผันการจับกุมนางยุพาพิน พิมพ์น้อย ตามหมายจับของศาล และเพื่อเป็นการค้ำประกันการชำระหนี้ของนางยุพาพิน ซึ่งถูกนายพานิช โชติวิทยา ญาติโจทก์แจ้งความดำเนินคดีและพนักงานอัยการฟ้องในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ต่อมาศาลพิพากษาจำคุกนางยุพาพิน นายพานิชไม่อาจเรียกเงินตามเช็คจากนางยุพาพินได้ จึงให้โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ดังนี้ จำเลยย่อมนำสืบข้อเท็จจริงตามข้อต่อสู้ของจำเลยได้ว่า จำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากโจทก์และจำเลยลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 เพื่อค้ำประกันหนี้ของนางยุพาพินที่มีต่อนายพานิช เพราะเป็นการนำสืบถึงที่มาของการลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินเพื่อแสดงให้เห็นถึงความไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ หรืออีกนัยหนึ่งหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์ จำเลยจึงมีสิทธินำสืบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคท้าย หาใช่เป็นการนำสืบเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารอันจะเป็นการต้องห้ามมิให้นำสืบดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 เป็นนิติกรรมอำพรางการค้ำประกันจึงตกเป็นโมฆะ เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น เพราะจำเลยมิได้ยกข้อต่อสู้เรื่องนิติกรรมอำพรางขึ้นอ้างไว้ในคำให้การ และแม้ว่านิติกรรมอำพรางจะตกเป็นโมฆะ ก็ต้องบังคับตามนิติกรรมค้ำประกันซึ่งถูกอำพราง จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า แม้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเกินเลยไปว่าสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ที่โจทก์ให้จำเลยลงลายมือชื่อไว้เป็นนิติกรรมอำพรางการค้ำประกัน แต่การค้ำประกันตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นก็หมายถึงการค้ำประกันหนี้ของนางยุพาพินที่มีต่อนายพานิช ซึ่งไม่เกี่ยวกับโจทก์ และก่อนที่จะวินิจฉัยว่าเป็นนิติกรรมอำพราง ศาลชั้นต้นก็ได้วินิจฉัยไว้ชัดแจ้งในเบื้องต้นแล้วว่าจำเลยมิได้กู้ยืมเงินโจทก์ตามที่ปรากฏในสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ซึ่งเป็นผลทำให้จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์มิได้อุทธรณ์หรือฎีกาโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในส่วนนี้ ดังนั้น ไม่ว่าศาลฎีกาจะวินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยเรื่องนิติกรรมอำพรางเป็นการนอกประเด็นหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายืน

Share