คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3379/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามข้อบังคับว่าด้วยการแบ่งส่วนงานและการปฏิบัติงานของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด ฉบับที่ 2 ว่าด้วยเรื่องบำเหน็จ บำนาญ กำหนดวิธีการคำนวณ “บำนาญ” ว่า ให้นำเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีที่ทำงานแล้วหารด้วย 50 ผลลัพธ์จะเป็นบำนาญซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องจ่ายให้แก่พนักงานเป็นรายเดือนตลอดชีวิต ส่วนข้อความว่า “จำนวนปีที่ทำงาน” หมายถึง จำนวนปีที่โจทก์ได้ทำงานกับจำเลยที่ 1 จริงๆ มิได้มีความหมายให้นับรวมไปจนถึงวันที่โจทก์เกษียณอายุและพ้นจากตำแหน่งหน้าที่เมื่ออายุครบ 60 ปีด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 อนุมัติให้โจทก์ลาออกตามโครงการเอื้ออาทรน้องพี่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2539 แล้วโจทก์ก็ไม่ได้ทำงานกับจำเลยที่ 1 อีกต่อไป ย่อมไม่มีเวลาทำงานกับจำเลยที่ 1 จึงไม่มี “ปีที่ทำงาน” ตามที่กำหนดในข้อบังคับดังกล่าว โจทก์เข้าทำงานเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2505 เมื่อนับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2538 โจทก์มีอายุการทำงาน 33 ปี 8 เดือนเศษ ซึ่งตามข้อบังคับดังกล่าวให้นับอายุการทำงานเป็นเวลา 34 ปี เมื่อจำเลยที่ 1 คำนวณบำนาญโดยนำเงินเดือนเดือนสุดท้ายของโจทก์คูณด้วย 34 ซึ่งเป็นจำนวนปีที่ทำงานแล้วหารด้วย 50 จึงเป็นการคิดคำนวณบำนาญตามระเบียบของธนาคารตรงตามที่กำหนดไว้ในโครงการเอื้ออาทรน้องพี่และถูกต้องตามข้อบังคับว่าด้วยเงินบำเหน็จ บำนาญแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 170,953.83 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 138,595.60 บาท นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายบำนาญให้แก่โจทก์เดือนละ 18,414.40 บาท นับแต่งวดวันที่ 31 ธันวาคม 243 เป็นต้นไปจนตลอดชีวิตของโจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาศาลแรงงานกลางอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 24,230 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 31 มกราคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2543 ต้องไม่เกิน 8,936.86 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อบังคับว่าด้วยการแบ่งส่วนงานและการปฏิบัติงานของธนาคารกรุงเทพ ฯ พาณิชย์การ จำกัด ฉบับที่ 2 ว่าด้วยเรื่องเงินบำเหน็จ บำนาญ ลงวันที่ 29 เมษายน 2531 กำหนดวิธีคำนวณ “บำเหน็จ” ว่า ให้นำเงินเดือนเดือนสุดท้ายของพนักงานผู้นั้นคูณด้วยจำนวนปีที่ทำงานนับแต่วันที่บรรจุ และกำหนดวิธีการคำนวณ “บำนาญ” ว่า ให้นำเงินเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีที่ทำงานแล้วหารด้วย 50 ผลลัพธ์จะเป็นบำนาญซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องจ่ายให้แก่พนักงานเป็นรายเดือนตลอดชีวิต ส่วนการคำนวณอายุงานกำหนดว่า เศษของปีเกิน 6 เดือน ให้นับเป็น 1 ปี ซึ่งตามหนังสือของจำเลยที่ 1 ที่ สญ. (ว) 056/2537 ฉบับลงวันที่ 29 กันยายน 2537 เรื่อง โครงการเอื้ออาทรน้องพี่ กำหนดให้พนักงานทุกคนทุกระดับชั้นที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปหรือมีอายุการทำงาน 15 ปีขึ้นไป โดยนับอายุดังกล่าวถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2537 เป็นผู้ที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ และมีข้อความระบุทำนองเดียวกันว่าโครงการดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานได้ลาออกจากธนาคารโดยมีสิทธิได้รับผลตอบแทนเช่นเดียวกับการออกจากธนาคารกรณีเกษียณอายุ เห็นว่า ข้อความว่า “จำนวนปีที่ทำงาน” ในข้อบังคับว่าด้วยเรื่องเงินบำเหน็จบำนาญดังกล่าวหมายถึงจำนวนปีที่โจทก์ได้ทำงานกับจำเลยที่ 1 จริง ๆ มิได้มีความหมายให้นับรวมไปจนถึงวันที่โจทก์เกษียณอายุและพ้นจากตำแหน่งหน้าที่เมื่ออายุครบ 60 ปีด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 อนุมัติให้โจทก์ลาออกตามโครงการเอื้ออาทรน้องพี่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2539 แล้ว โจทก์ก็ไม่ได้ทำงานกับจำเลยที่ 1 อีกต่อไป ย่อมไม่มีเวลาทำงานกับจำเลยที่ 1 จึงไม่มี “ปีที่ทำงาน” ตามที่กำหนดในข้อบังคับดังกล่าวและตามโครงการเอื้ออาทรน้องพี่นั้น ได้กำหนดผลตอบแทนแก่ผู้เข้าร่วมโครงการไว้ในข้อ 7.3 คือ เงินบำเหน็จหรือบำนาญตามระเบียบของธนาคาร โดยไม่ปรากฏว่าต้องใช้วิธีการคำนวณเงินบำเหน็จหรือบำนาญแตกต่างไปจากวิธีการคำนวณตามปกติ โจทก์เกิดเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2482 และเข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2505 เมื่อนับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2538 โจทก์มีอายุการทำงาน 33 ปี 8 เดือนเศษ ซึ่งตามข้อบังคับดังกล่าวให้นับอายุการทำงานเป็นเวลา 34 ปี เมื่อจำเลยที่ 1 คำนวณบำนาญโดยนำเงินเดือนเดือนสุดท้ายของโจทก์ซึ่งเป็นเงินจำนวน 24,230 บาทคูณด้วย 34 ซึ่งเป็นจำนวนปีที่ทำงานแล้วหารด้วย 50 ผลลัพธ์ได้เป็นบำนาญเดือนละ 16,476 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องจ่ายให้แก่โจทก์เป็นรายเดือนตลอดชีวิตของโจทก์จึงเป็นการคิดคำนวณบำนาญตามระเบียบของธนาคารตรงตามที่กำหนดไว้ในโครงการเอื้ออาทรน้องพี่ และถูกต้องตามข้อบังคับว่าด้วยเงินบำเหน็จ บำนาญแล้ว จำเลยที่ 1 มิได้คิดเงินบำนาญให้โจทก์ขาดไปแต่อย่างใด ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share