แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คดีเดิมภริยาโจทก์ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความอันสืบเนื่องมาจากจำเลยทำร้ายร่างกายของโจทก์ศาลพิพากษายกฟ้องเพราะสัญญาประนีประนอมยอมความมีวัตถุประสงค์ให้ระงับคดีอาญาแผ่นดินเป็นโมฆะคดีถึงที่สุดประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่าจำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยทำร้ายร่างกายโจทก์และทำให้กล้องวีดีโอของโจทก์เสียหายอันเป็นการละเมิดประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่าจำเลยกระทำละเมิดหรือไม่ประเด็นแห่งคดีที่จะต้องวินิจฉัยในคดีนี้จึงมิใช่ประเด็นที่ได้วินิจฉัยมาแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีเดิมไม่เป็นฟ้องซ้ำ จำเลยทำร้ายร่างกายโจทก์โจทก์มอบอำนาจให้ภริยาทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยแต่จำเลยไม่ชำระหนี้ตามสัญญาโจทก์จึงมอบอำนาจให้ภริยาฟ้องจำเลยเป็นคดีก่อนปรากฏว่าศาลพิพากษายกฟ้องเพราะสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นโมฆะดังนั้นสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นอันเสียเปล่าเท่ากับมิได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อกันจึงถือไม่ได้ว่าหนี้ละเมิดที่จำเลยกระทำต่อโจทก์ซึ่งเป็นมูลเหตุของการประนีประนอมยอมความที่โจทก์และจำเลยได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไปและได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญาประนีประนอมเป็นของโจทก์และจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา852โจทก์จึงฟ้องจำเลยฐานละเมิดเป็นคดีนี้ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากัน เมื่อวันที่17 พฤศจิกายน 2534 จำเลยที่ 1 ยักยอกกล้องวีดีโอสีดำและทำให้กล้องดังกล่าวใช้งานไม่ได้ ต่อมาจำเลยที่ 1 กับพวกอีก 9 คนบุกรุกเข้าไปในบ้านโจทก์แล้วทำร้ายโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ ต่อจากนั้นจำเลยที่ 1 ใช้ไม้ตีศีรษะโจทก์ 1 ครั้งเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัส เสียหายประสาท หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว และอาจทุพพลภาพถึงตลอดชีวิต ส่วนจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 นำกล้องวีดีโอของโจทก์ไปซุกซ่อนและทำให้กล้องวีดีโอชำรุดเสียหาย จำเลยที่ 2 ไม่ห้ามปรามจำเลยที่ 1 กับพวกที่รุมทำร้ายโจทก์และไม่ห้ามจำเลยที่ 1 ไม่ให้ใช้ไม้ตีโจทก์ ทั้งที่จำเลยที่ 2 ทราบอยู่แล้วว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ดื่มสุราแล้วชอบหาเรื่องทะเลาะวิวาทกับผู้อื่น นอกจากนั้นจำเลยที่ 2 ยังร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทืบทำร้ายโจทก์ด้วย การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ต้องนำกล้องวีดีโอไปซ่อมที่บริษัทในกรุงเทพมหานครเสียค่าซ่อมและค่าเดินทางรวมเป็น 8,000 บาท การที่โจทก์ถูกจำเลยทั้งสองทำร้ายและใช้ไม้ตี ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาเสียค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายรวมเป็นเงิน 33,000 บาท ตามปกติโจทก์มีรายได้จากการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าวันละ 500 ถึง 700 บาทเมื่อโจทก์ถูกจำเลยทั้งสองทำร้ายทำให้ระบบประสาทตาและมือเสื่อมลงต้องขาดรายได้ไปเป็นเงิน 60,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น101,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 101,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 49/2535 ของศาลแขวงนครราชสีมา ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 20,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ 2
จำเลย ที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลย ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ทำร้ายร่างกายโจทก์ได้รับอันตรายสาหัส ต่อมาเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2534 ภายหลังเกิดเหตุนางราตรี แตงโสภา ภริยาโจทก์ ซึ่งรับมอบอำนาจจากโจทก์ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 1 ความว่า จำเลยที่ 1ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 50,000 บาท และโจทก์จะไม่ดำเนินการฟ้องร้องคดีแพ่งคดีอาญาเอาแก่จำเลยที่ 1 อีกจำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ 35,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 15,000 บาท จะนำมาชำระในวันที่ 19 ธันวาคม 2534 ต่อมาจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเสียหายส่วนที่เหลือตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้แก่โจทก์ ภริยาโจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระค่าเสียหายดังกล่าว ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สัญญาประนีประนอมยอมความมีวัตถุประสงค์ให้ระงับคดีอาญาแผ่นดินเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113(เดิม)พิพากษายกฟ้องปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 49/2535 ของศาลแขวงนครราชสีมา โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1ในปัญหาข้อกฎหมายประการแรกว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 49/2535 ของศาลแขวงนครราชสีมาหรือไม่เห็นว่า คดีเดิมภริยาของโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่า จำเลยที่ 1ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากจำเลยที่ 1 ทำร้ายร่างกายโจทก์ และทำให้กล้องวีดีโอของโจทก์เสียหาย อันเป็นการละเมิด ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดหรือไม่ ดังนั้น ประเด็นแห่งคดีที่จะต้องวินิจฉัยในคดีนี้จึงมิใช่ประเด็นที่ได้วินิจฉัยมาแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีเดิม ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 49/2535 ของศาลแขวงนครราชสีมา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ในปัญหาข้อกฎหมายประการที่สองว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่ อำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 1ย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ภริยาโจทก์ใช้สิทธิตามสัญญาประนีประนอมยอมความฟ้องจำเลยที่ 1 และศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้อีกเห็นว่า คดีดังกล่าวศาลพิพากษายกฟ้องเพราะสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นโมฆะ ดังนั้นสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งภริยาโจทก์โดยได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้เป็นผู้ทำสัญญาเป็นอันเสียเปล่า เท่ากับว่ามิได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อกัน จึงถือไม่ได้ว่าหนี้ละเมิดที่จำเลยที่ 1 กระทำต่อโจทก์ ซึ่งเป็นมูลเหตุของการทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญาประนีประนอมเป็นของโจทก์และจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 การฟ้องคดีดังกล่าวจึงไม่มีผลต่ออำนาจฟ้องของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดเป็นคดีนี้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน