คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3374/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของบัญชีกระแสรายวันเป็นผู้จัดหรือรู้เห็นในการจัดให้มีการทำปลอมเช็คพิพาท โดยใช้วิธีการลอกทาบแบบลายมือชื่อโจทก์ แล้วให้ผู้อื่นนำเช็คพิพาทมาเบิกเงินในบัญชีกระแสรายวันของโจทก์จากธนาคารจำเลยนั้น ถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โดยการนำเช็คพิพาทปลอมมาเรียกร้องให้จำเลยรับผิดใช้เงินตามเช็คโดยอ้างว่าลายมือชื่อปลอม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการรับฝากเงินเป็นอาชีพ ปรากฏว่ามีผู้นำเช็คมาเบิกไปจากบัญชีโจทก์รวม 4 ฉบับ ซึ่งเช็คทั้ง 4 ฉบับดังกล่าวเป็นเช็คที่ปลอมลายมือชื่อโจทก์ เมื่อจำเลยจ่ายเงินตามเช็คที่มีผู้ปลอมลายมือชื่อถือว่าจำเลยประมาทเลินเล่อ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 1,145,853.58 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จจำเลยให้การว่า เช็คทั้ง 4 ฉบับที่โจทก์อ้างว่าเป็นเช็คที่ปลอมลายมือชื่อโจทก์นั้น เป็นเช็คที่โจทก์เป็นตัวการทำขึ้นเองหรือเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดหรือเป็นผู้สนับสนุนหรือเป็นผู้วางแผนการจัดทำให้มีขึ้น ตลอดจนมีการจัดให้นำมาเบิกเงินจากจำเลย จำเลยได้จ่ายเงินสดให้ผู้ที่นำเช็คมาขึ้นเงินไปโดยมิได้ประมาทเลินเล่อ เมื่อโจทก์เป็นผู้กระทำการโดยไม่สุจริต โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายในอันที่จะมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวน 1,145,853.58 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2526 จนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษา ให้ยกฟ้องโจทก์โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้เคยค้าของธนาคารจำเลยสาขาถนนประดิพัทธ์โดยได้เบิกบัญชีกระแสรายวันไว้ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2522ตามเอกสารหมาย จ.1 เป็นต้นมาจนกระทั่งเกิดกรณีพิพาทคดีนี้ซึ่งเป็นช่วงเวลาระหว่างวันที่ 1 จนถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2526โดยได้มีผู้นำเช็คมาเบิกเงินสดจากธนาคารจำเลย สาขาถนนประดิพัทธ์ไปได้รวม 4 ฉบับ ฉบับที่ 1 ได้เบิกเงินไปเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน2526 จำนวน 400,000 บาท ฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2526จำนวน 300,000 บาท ฉบับที่ 3 และฉบับที่ 4 เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน2526 ฉบับละจำนวน 250,000 บาท ธนาคารจำเลยได้จ่ายเงินตามเช็คซึ่งระบุวันที่สั่งจ่ายในวันเดียวกับที่นำมาเบิกเงินให้แก่ผู้ถือซึ่งนำเช็คมาเบิกตามชื่อที่ได้ลงไว้ด้านหลังเช็คทั้ง 4 ฉบับดังกล่าวรวมเป็นเงิน 1,200,000 บาท ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 3จ.3 ถึง จ.6 ต่อมาเมื่อวันที่ 6 เดือนเดียวกัน โจทก์ได้มาเบิกเงินเพื่อขอซื้อแคชเชียร์เช็คของธนาคารเป็นเงิน 80,719.95 บาทจึงทราบว่ามีเงินเหลืออยู่ในบัญชีเพียงจำนวน 52,493.53 บาทมิใช่ จำนวน 1,252,493.53 บาท ตามความเข้าใจของโจทก์ หลังจากเกิดกรณีพิพาทดังกล่าวได้มีการตรวจสอบเช็ค 4 ฉบับที่มีผู้นำไปเบิกเงินจากธนาคารจำเลย สาขาถนนประดิพัทธ์ ตามเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.6ผลการตรวจพิสูจน์เช็คพิพาท 4 ฉบับ โดยกองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจได้ลงความเห็นว่าเป็นเช็คที่ทำปลอมขึ้นและลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเป็นการทำปลอมโดยวิธีลากทับเส้นหรือลอกทาบแบบลายมือชื่อที่แท้จริงของโจทก์ผู้เป็นเจ้าของบัญชี คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้จัดหรือรู้เห็นในการจัดให้มีการทำปลอมเช็คพิพาท 4 ฉบับซึ่งได้นำมาเบิกเงินจากธนาคารจำเลยตามที่จำเลยให้การต่อสู้หรือไม่ และธนาคารจำเลยได้จ่ายเงินตามเช็คพิพาทไปโดยประมาทเลินเล่อตามที่โจทก์กล่าวอ้างหรือไม่
สำหรับประเด็นพิพาทข้อแรกตามข้อต่อสู้ของจำเลยดังกล่าวจำเลยนำสืบว่า ภายหลังที่ได้รับแจ้งจากโจทก์ว่าเงินในบัญชีขาดหายไป1 ล้านบาทเศษ เป็นเหตุให้มีเงินเหลือไม่พอจ่าย นายชูศักดิ์บำรุงราษฎร์ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารจำเลยสาขาถนนประดิพัทธ์ได้ยอมให้โจทก์ได้รับเงินตามเช็คที่นำมาเบิกผ่านไปก่อน แล้วได้รายงานให้ฝ่ายตรวจสอบทราบ ทางสำนักงานใหญ่ของจำเลยได้ให้นายอาทิตย์ หงษ์ประภัศร์ พนักงานฝ่ายตรวจสอบของธนาคารมาทำการตรวจสอบหลักฐานบัญชีของโจทก์ โดยได้ตรวจสอบการทุจริตของพนักงานธนาคารจำเลยก่อน และจากการสอบสวนพนักงานธนาคารจำเลยที่เกี่ยวข้องทั้ง 7 คน ซึ่งทำงานที่ธนาคารไม่ต่ำกว่า 10 ปี ไม่เคยมีประวัติเสียหายเกี่ยวกับด้านการเงินและการทำงาน ไม่พบหลักฐานว่ามีการกระทำทุจริตเกี่ยวกับเช็คปลอมเกิดขึ้นในธนาคารจำเลยสาขาแห่งนี้ทั้งบัญชีเงินฝากของโจทก์ก็มีกระแสเงินเดินสะพัดเป็นจำนวนเพียงหลักพันถึงหลักหมื่น โดยเฉพาะการจ่ายเงินตามเช็คปลอมทั้ง 4 ฉบับได้มีขึ้นจากการที่โจทก์นำเงินไปเข้าบัญชีโดยผ่านธนาคารจำเลยสาขาอื่น ซึ่งจากการตรวจสอบระบบคอมพิวเตอร์ ที่นำมาใช้ตั้งแต่ปี 2524 พนักงานธนาคารจะไม่มีโอกาสทราบว่าโจทก์นำเงินไปเข้าบัญชีจำนวนเท่าใดและเมื่อใด นอกจากจะสอบถามไปยังศูนย์คอมพิวเตอร์ที่ธนาคารจำเลยสำนักงานใหญ่ ซึ่งเป็นที่รับข้อมูลจากแต่ละสาขาสำหรับบัญชีโจทก์ไม่ปรากฏหลักฐานว่าทางธนาคารจำเลยสาขาถนนประดิพัทธ์ได้สอบถามไปทางสำนักงานใหญ่ ดังนั้น ฝ่ายตรวจสอบจึงมุ่งการสอบสวนไปทางโจทก์ เพราะจากการตรวจสอบปรากฏว่าเช็คปลอมเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.6 เป็นเช็คที่มีแบบพิมพ์เหมือนกับเช็คที่แท้จริงของธนาคารทั้งสีและลวดลาย และมีเลขหมวดเดียวกับสมุดเช็คที่ธนาคารจำเลยได้จ่ายให้แก่โจทก์ และลายมือชื่อในเช็คก็เหมือนกับตัวอย่างลายมือชื่อของโจทก์ที่ได้ให้ไว้กับธนาคาร จากการตรวจสอบบัญชีกระแสรายวันตามเอกสารหมาย ล.2 ล.4 ปรากฏว่าในวันที่31 พฤษภาคม 2526 โจทก์ได้นำเงินเข้าบัญชีหลายรายการ ซึ่งรวมแล้วมียอดเงินฝากในวันดังกล่าวจำนวน 403,773.50 บาท และในช่วงวันที่1 ถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2526 ที่มีผู้นำเช็คปลอมมาขึ้นเงินไปรวมจำนวน 1,200,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.3-จ.6 เป็นการถอนเงินในลักษณะหมุนเวียนกับการนำเงินเข้าบัญชีของโจทก์โดยผ่านธนาคารต่างสาขา และในวันที่ 6 มิถุนายน 2526 โจทก์ยังได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารจำเลยสาขาถนนประดิพัทธ์จำนวน 415,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารนครหลวงไทย จำกัด ซึ่งโจทก์มีหนี้เบิกเงินเกินบัญชีในวงเงิน 400,000 บาท ตามเอกสารหมาย ล.10 ทางนำสืบของจำเลยฟังได้ว่า ก่อนช่วงวันที่ 1 ถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2526ที่มีผู้นำเช็คปลอม 4 ฉบับมาเบิกเงินจากบัญชีโจทก์ สาขาถนนประดิพัทธ์ เป็นจำนวนรวม 1,200,000 บาท ปรากฏว่าโจทก์มียอดหนี้เบิกเงินเกินบัญชีที่ธนาคารแห่งนี้อยู่จำนวน 115,024.83 บาทตามรายการบัญชีวันที่ 30 พฤษภาคม 2526 ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2526โจทก์ได้นำเงินเข้าบัญชี 3 ครั้ง ครั้งแรกฝากเงินสดจำนวน 300,000บาท ครั้งที่ 2 จำนวน 35,000 บาท และครั้งที่ 3 ได้นำเช็ค 12 ฉบับมาขายลดแก่ธนาคารสาขาจำเลยเป็นเงิน 189,358 บาท เมื่อคิดหักทอนบัญชีตามรายการในวันดังกล่าวแล้วโจทก์มีเงินฝากอยู่จำนวน403,773.53 บาท ปรากฏตามบัญชีกระแสรายวันของโจทก์เอกสารหมาย ล.4แผ่นที่ 14 ต่อมาในวันที่ 1 มิถุนายน 2526 มีผู้นำเช็คปลอมสั่งจ่ายเงินจำนวน 400,000 บาท มาเบิกเงินจากบัญชีโจทก์ หลังจากนั้นในวันเดียวกันโจทก์ได้นำเงินสดเข้าบัญชีจำนวน 340,000 บาท โดยผ่านธนาคารจำเลยสาขาถนนลาดพร้าวซอย 99 ในวันที่ 2 มิถุนายน 2526มีผู้นำเช็คปลอมฉบับที่ 2 สั่งจ่ายเงินจำนวน 300,000 บาท มาเบิกเงินจากบัญชีโจทก์ และในวันเดียวกันโจทก์ได้นำเช็คธนาคารทหารไทยจำกัด สาขาโชคชัย 4 จำนวน 18,720 บาท และได้นำเงินสดจำนวน230,000 บาท เข้าบัญชีโดยผ่านธนาคารจำเลย สาขาราชวงศ์ในวันที่ 3 มิถุนายน 2526 ได้มีผู้นำเช็คปลอมฉบับที่ 3 สั่งจ่ายเงินจำนวน 250,000 บาทมาเบิกเงินจากบัญชีโจทก์ ในวันเดียวกันนี้ได้มีการนำเงินสดเข้าบัญชีโจทก์อีกโดยผ่านธนาคารจำเลย สาขาราชวงศ์จำนวน 260,000 บาท และได้มีผู้นำเช็คปลอมฉบับที่ 4 สั่งจ่ายเงินจำนวน 250,000 บาท มาเบิกเงินจากบัญชีโจทก์ ตามรายการบัญชีโจทก์จึงมียอดเงินคงเหลืออยู่จำนวน 52,493.53 บาท ทั้งนี้ปรากฏตามหลักฐานบัญชีเงินฝากกระแสรายวันลูกค้าธนาคารจำเลย สาขาถนนประดิพัทธ์เอกสารหมาย ล.2 ชุดที่ 1-4 บัญชีกระแสรายวันของโจทก์หมาย ล.4 แผ่นที่ 14, 15 ใบฝากเงินเข้าบัญชีผ่านธนาคารสาขาอื่นเอกสารหมาย ล.8 ฉบับที่ 1-4 ตามฐานะการเงินที่ปรากฏจากบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ซึ่งแสดงยอดหนี้เบิกเงินเกินบัญชีอยู่ก่อนที่โจทก์จะนำเงินเข้าและมีการถอนเงินออกโดยใช้เช็คปลอมในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ประกอบกับโจทก์ยังนำเงินเข้าบัญชีโดยผ่านธนาคารสาขาอื่น ซึ่งพนักงานสาขาจำเลยไม่มีโอกาสได้ทราบก่อนล่วงหน้าเห็นว่า ไม่มีเหตุชี้ชวนให้พนักงานสาขาจำเลยกระทำการทุจริตจากผู้เคยค้ารายนี้ ตามผลการสอบสวนของฝ่ายตรวจสอบธนาคารจำเลยสำนักงานใหญ่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าพนักงานสาขาจำเลยมิได้มีส่วนรู้เห็นในการถอนเงินตามเช็คปลอม คงมีปัญหาว่าโจทก์เป็นผู้จัดหรือรู้เห็นในการจัดให้มีการปลอมเช็คพิพาท 4 ฉบับตามที่จำเลยนำสืบต่อสู้หรือไม่ ในประเด็นข้อนี้จำเลยมีนางสาวสายพิณกาฬดิษฐ์ พนักงานรับจ่ายเงินผู้รับเช็คปลอมฉบับแรกหมาย จ.6จากผู้นำมาเบิกเงินในวันที่ 1 มิถุนายน 2526 เวลา 10.17 นาฬิกาเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า เห็นโจทก์มากับชายที่นำเช็คดังกล่าวมาเบิกเงิน และโจทก์ได้นำเช็คธนาคารทหารไทย จำกัด สาขาโชคชัย 4จำนวน 18,720 บาท มาเข้าบัญชีในวันดังกล่าว เหตุที่พยานจำโจทก์ได้เพราะเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2526 โจทก์ได้มาที่ธนาคารสอบถามยอดเงินฝากในบัญชีเมื่อเวลาประมาณ 14.45 นาฬิกา พยานได้แจ้งยอดเงินในบัญชีว่ามีเงินอยู่จำนวน 184,975.17 บาท โจทก์ได้ทักท้วงว่าไม่ถูกต้อง พยานยังได้ยืนยันกับโจทก์หลังจากได้ตรวจสอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ครั้งที่ 2 เมื่อเวลา 14.47 นาฬิกา คำเบิกความของพยานจำเลยดังกล่าวตรงกับรายงานคอมพิวเตอร์ ในเอกสารหมาย ล.2ชุดที่ 1 ซึ่งได้บันทึกยอดเงินฝากจำนวน 300,000 บาท ที่โจทก์นำเข้าเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2526 เวลา 14 นาฬิกา 4 นาที 36 วินาทีอันเป็นผลให้โจทก์มียอดเงินในฐานะเจ้าหนี้ เมื่อหักทอนกับยอดหนี้เบิกเงินเกินบัญชีที่โจทก์เป็นหนี้จำนวน 115,024.83 บาท ตามบัญชีกระแสรายวัน เอกสารหมาย ล.4 แผ่นที่ 14 แล้วคงเหลือจำนวนเงินในบัญชี 184,975.17 บาท ดังคำเบิกความของพยานจำเลย และไม่ขัดกับเอกสารหมาย ล.2 ชุดที่ 1, ล.4 แผ่นที่ 14 ที่แสดงยอดบัญชีของโจทก์ว่า ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2526 โจทก์มีเงินอยู่ 403,773.53 บาทตามที่โจทก์ฎีกาแต่อย่างใด เพราะในวันเดียวกันปรากฏว่าโจทก์ได้นำเงินมาเข้าบัญชีจำนวน 35,000 บาท เมื่อเวลา 14 นาฬิกา 50 นาที44 วินาที และต่อมาเมื่อเวลา 18 นาฬิกา 19 นาที 28 วินาทีในวันเดียวกันนั้นเอง โจทก์ได้ทำสัญญาขายลดเช็ค 12 ฉบับให้กับธนาคารจำนวน 189,358 บาท อันเป็นผลให้ยอดเงินในบัญชีหลังจากหักจากเงินที่ถอนตามเช็คจำนวน 2,200 บาท และค่าชักส่วนลด 3,304.50บาท จึงมีเงินเหลืออยู่จำนวน 403,773.53 บาท การที่โจทก์กลับทักท้วงยอดเงินในบัญชีว่า ไม่ถูกต้องย่อมส่อแสดงความพิรุธของโจทก์กรณีจึงมีเหตุผลน่าเชื่อว่า โจทก์ทราบความถูกต้องของบัญชีเงินฝากในขณะที่มาสอบถามแล้ว คำเบิกความของนางสาวสายพิณพยานจำเลยที่ว่าเห็นโจทก์มากับชายที่นำเช็คปลอมมาเบิกเงิน จึงมีน้ำหนักให้รับฟังเป็นความจริงว่าโจทก์ได้มาที่ธนาคารด้วยเพื่อควบคุมผู้ที่นำเช็คปลอมมาถอนเงินนั้น และตามพฤติการณ์ที่โจทก์ใช้วิธีนำเงินเข้าบัญชีโดยผ่านธนาคารสาขาอื่น น่าเชื่อว่าโจทก์กระทำเพื่อมิให้เป็นที่ผิดสังเกตของพนักงานธนาคารจำเลย สาขาถนนประดิพัทธ์ ที่โจทก์มีบัญชีอยู่ เพราะเป็นการนำเงินเข้าและถอนออกในลักษณะหมุนเวียนในเวลาใกล้เคียงกันอันผิดปกติและเป็นพิรุธพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมีน้ำหนักน่าเชื่อว่าโจทก์เป็นผู้จัดหรือรู้เห็นในการจัดให้มีการทำปลอมเช็คพิพาททั้ง 4 ฉบับ โดยใช้วิธีการลอกทาบแบบลายมือชื่อโจทก์ แล้วให้ผู้อื่นนำเช็คพิพาทมาเบิกเงินจากธนาคารจำเลย สาขาถนนประดิพัทธ์ กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตในการนำเช็คพิพาทปลอม 4 ฉบับ มาเรียกร้องให้จำเลยรับผิดใช้เงินตามเช็คโดยอ้างว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเป็นลายมือชื่อปลอม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง คดีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นต่อไป ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์”
พิพากษายืน

Share