คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3370/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อพิจารณาใบรับขนทางอากาศด้านหน้า ช่องที่ 9 มีผู้ลงลายมือชื่อใต้ข้อความตัวพิมพ์ที่มีข้อความชัดเจนว่า ผู้ส่งตกลงตามเงื่อนไขข้อจำกัดความรับผิดที่ระบุไว้ในใบรับขนทางอากาศด้านหลังและช่องที่ 3 มีข้อความว่า สินค้าจำนวน 1 กล่อง น้ำหนักรวม 1 กิโลกรัม ช่องให้สำแดงมูลค่าสินค้าเพื่อการศุลกากร (TOTAL VALUE FOR CUSTOMS) ซึ่งจะต้องใช้ในการคำนวณภาษีศุลกากร มีข้อความว่า “โปรดดูใบกำกับสินค้า” ส่วนช่องสำแดงมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่ง (TOTAL DECLARED VALUE FOR CARRIAGE) ระบุตัวเลข 100 โดยไม่แสดงหน่วยเงินแต่อย่างใด พฤติการณ์ที่ผู้ส่งระบุเพียงตัวเลข 100 น่าเชื่อว่า ผู้ส่งทราบดีว่าจำเลยที่ 2 อนุญาตให้ผู้ส่งสำแดงมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่งสำหรับสินค้าในหีบห่อไม่เกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐและจะจำกัดความรับผิดไว้ในกรณีนี้ไม่เกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อการขนส่ง 1 ครั้ง หรือ 20 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่าการที่ผู้ส่งกรอกข้อความเช่นนั้น จึงน่าจะเป็นการกรอกรายละเอียดเพื่อให้ผู้ขนส่งคิดค่าระวางขนส่งตามน้ำหนักของสินค้า เพราะหากแจ้งราคามูลค่าสินค้าที่แท้จริงจะต้องเสียค่าธรรมเสียมการขนส่งเพิ่ม และถึงแม้จะเป็นกรณีส่งสินค้าที่มีราคาสูง ผู้ขนส่งก็อนุญาตให้สำแดงราคาไม่เกิน 500 ดอลลาร์สหรัฐ และจำกัดความรับผิดไม่เกินมูลค่าที่สำแดง ผู้ส่งน่าจะทราบเงื่อนไขดังกล่าวจึงได้เอาประกันเพื่อความเสี่ยงภัยสูญหาย เสียหายของสินค้าไว้กับโจทก์เต็มมูลค่าของสินค้า จึงเชื่อว่าบริษัท ซ. ผู้ส่งสินค้ารู้และตกลงด้วยชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดของจำเลยทั้งสองตามที่ระบุไว้ในด้านหลังของใบรับขนทางอากาศ ดังนั้น ข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันผู้ส่งสินค้า

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันคืนทรัพย์พิพาทแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแก่โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 371,169.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 367,768.75 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า หากจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดก็ได้รับการจำกัดความรับผิดโดยข้อตกลงด้วยชัดแจ้งของผู้ส่งไม่มากกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐ การที่ผู้ส่งเลือกที่จะเอาประกันภัยสินค้ากับโจทก์เพื่อความเสี่ยวงภัยของสินค้า แสดงว่าผู้ส่งทราบดีว่าจำเลยทั้งสองมีข้อจำกัดความรับผิด โจทก์ไม่มีสิทธิคิดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง จำนวน 3,400.60 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันขำระเงินจำนวน 4,143.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า ข้อจำกัดความรับผิดด้านหลังใบรับขนทางอากาศที่กำหนดให้ผู้ขนส่งรับผิดไม่เกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อการขนส่ง 1 ครั้ง หรือ 20 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่ามีผลใช้บังคับได้หรือไม่โจทก์อุทธรณ์เป็นประการแรกว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์ที่ผู้ขนส่งพึงมีเป็นเหตุให้สินค้าสูญหาย จึงเป็นการกระทำโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจอ้างข้อจำกัดความรับผิดในกรณีนี้ได้ เมื่อพิจารณาข้อสรุปจากรายงานการสำรวจและหาสาเหตุการสูญหายที่โจทก์อ้างส่งคงได้ความเพียงว่า สินค้าสูญหายในช่วงเวลาที่ศูนย์เฟ็ดเอ็กซ์ที่สแตนสเต็ทจะส่งต่อให้บิสซิเนส โพสต์ ที่คาร์ดิฟฟ์ เท่านั้นโดยไม่มีข้อความใดที่ระบุถึงเรื่องการทุจริต ลักขโมยสินค้าหรือเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้ขนส่ง คงรับฟังได้เพียงว่าสินค้าสูญหายไประหว่างการขนส่งของจำเลยทั้งสองเท่านั้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า บริษัทโซฟราเจม จำกัด ผู้เอาประกันในฐานะผู้ส่งสินค้ารายนี้ได้ตกลงด้วยอย่างชัดแจ้งกับข้อความความรับผิดของจำเลยทั้งสองด้านหลังในรับขนทางอากาศหรือไม่ เมื่อพิจารณาใบรับขนทางอากาศด้านหน้า ช่องที่ 9 มีผู้ลงลายมือชื่อใช้ข้อความตัวพิมพ์ที่มีข้อความชัดเจนว่า ผู้ส่งตกลงตามเงื่อนไขข้อจำกัดความรับผิดที่ระบุไว้ในใบรับขนทางอากาศด้านหลัง และช่องที่ 3 มีข้อความว่าสินค้าจำนวน 1 กล่อง น้ำหนักรวม 1 กิโลกรัม ช่องให้สำแดงมูลค่าสินค้าเพื่อการศุลกากร (TOTAL VALUE FOR CUSTOMS) ซึ่งจะต้องใช้ในการคำนวณภาษีศุลกากรมีข้อความว่า “โปรดดูใบกำกับสินค้า” ส่วนช่องสำแดงมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่ง (TOTAL DECLARED VALUE FOR CARRIAGE) ระบุตัวเลข 100 โดยไม่แสดงหน่วยเงินแต่อย่างใด ซึ่งส่วนนี้นางญาณศิ พยานจำเลยที่ทั้งสอง เบิกความว่า สำหรับสินค้าพิพาท จำเลยที่ 2 คิดค่าขนส่งตามน้ำหนักสินค้าที่แจ้งคือ 1 กิโลกรัม บวกค่าบริการประกันภัยเพิ่มอีก 40 เซนต์ พฤติการณ์ที่ผู้ส่งระบุเพียงตัวเลข 100 น่าเชื่อว่า ผู้ส่งทราบดีว่าจำเลยที่ 2 อนุญาตให้ผู้ส่งสำแดงมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่งสำหรับสินค้าในหีบห่อไม่เกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐ และจะจำกัดความรับผิดไว้ในกรณีนี้ไม่เกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อการขนส่ง 1 ครั้ง หรือ 20 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า การที่ผู้ส่งกรอกข้อความเช่นนั้นจึงน่าจะเป็นการกรอกรายละเอียดเพื่อให้ผู้ขนส่งคิดค่าระวางขนส่งตามน้ำหนักของสินค้า เพราะหากแจ้งราคามูลค่าสินค้าที่แท้จริง จะต้องเสียค่าธรรมเนียมการขนส่งเพิ่ม และถึงแม้จะเป็นกรณีส่งสินค้าที่มีราคาสูง ผู้ขนส่งก็จะอนุญาตให้สำแดงราคาราคามาเกิน 500 ดอลลาร์สหรัฐ และจะจำกัดความรับผิดไม่เกินมูลค่าที่สำแดง ผู้ส่งน่าจะทราบเงื่อนไขดังกล่าวจึงได้เอาประกันเพื่อความเสี่ยงภัยสูญหาย เสียหายของสินค้าไว้กับโจทก์เต็มมูลค่าของสินค้า นอกจากนี้ จากบันทึกถ้อยคำของนางญาณศิ พยานจำเลยทั้งสองยังได้ความว่า เมื่อปี 2545 สินค้าที่ผู้เอาประกันซึ่งเป็นผู้ส่งรายนี้จ้างให้จำเลยที่ 2 ขนส่งเคยสูญหายและผู้ส่งได้ยอมรับค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 จำนวน 100 ดอลลาร์สหรัฐ ตามจำนวนที่สำแดงมูลค่าเพื่อการขนส่งในใบรับขนทางอากาศ ตามสำเนาคำพิพากษาตามยอมของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ซึ่งส่วนนี้โจทก์มิได้นำสืบหักล้าง จึงเชื่อว่า บริษัทโซฟราเจม จำกัด ผู้ส่งสินค้ารู้และตกลงด้วยชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดของจำเลยทั้งสองตามที่ระบุไว้ในด้านหลังของใบรับขนทางอากาศ ข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันผู้ส่งสินค้า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามเงื่อนไขข้อกำหนดความรับผิดนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share