คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 337/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่1ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์คณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์โจทก์ได้มีมติให้จำเลยที่1ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยินยอมได้มีหนังสือร้องเรียนไปยังกรมส่งเสริมสหกรณ์เพื่อตรวจสอบความถูกต้องเกี่ยวกับการยุบตัวของข้าวเปลือกอีกครั้งหนึ่งหลังจากนั้นคณะกรรมการดำเนินการได้ประชุมเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2535 พิจารณาหาผู้รับผิดชอบชดใช้ข้าวเปลือกขาดบัญชีและมีมติในวันเดียวกันนั้นให้จำเลยที่ 1 รับผิดชอบใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์โดยให้ชดใช้ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ร่วมประชุมและทำหนังสือยินยอมชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนข้าวที่หายไปต่อโจทก์หนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือรับสภาพหนี้อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2535 และเริ่มนับใหม่ต่อไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 172 เดิม (มาตรา 193/14 (1) ใหม่)โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2536 ภายในอายุความ1ปีมาตรา448คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ มาตรา 728 การบังคับจำนองนั้นผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรซึ่งกำหนดไว้ในคำบอกกล่าวนั้นไม่ได้ระบุว่าต้องส่งคำบอกกล่าวโดยทางจดหมายลงทะเบียนตอบรับแต่อย่างใดพนักงานของโจทก์ไปส่งหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ยอมรับจึงได้ทำบันทึกไว้ท้ายคำบอกกล่าวว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ยอมรับผู้ส่งจึงได้วางหนังสือไว้ต่อหน้าผู้รับและต่อหน้าพยานการบอกกล่าวบังคับจำนองชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานโจทก์ในตำแหน่งผู้จัดการ มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการของโจทก์ทั้งปวงโดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 จดทะเบียนจำนองที่ดินของตนประกันการปฎิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ระหว่างปี 2531 ถึงปี 2533 โจทก์รับซื้อข้าวเปลือกไว้382,970 กิโลกรัม จำเลยที่ 1 ปฎิบัติหน้าที่โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้ข้าวเปลือกขาดหายไปคิดเป็นเงิน187,956.59 บาท กระสอบขาดหายไปคิดเป็นเงิน 18,924 บาทสินค้าทั่วไปขาดหายไปคิดเป็นเงิน 9,440 บาท โจทก์ทวงถามจำเลยที่ 1 และบอกกล่าวบังคับจำนองจำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้วแต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 216,320.59 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ถ้าจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ซึ่งเป็นทรัพย์ที่จำนองขายทอดตลาดนำเงินมาชำระแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การในทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนอง โจทก์มิได้ฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 216,320.59 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 107, 173, 174 น.ส.3 ก. เลขที่ 279, 283 ตำบลบ้านเนินน.ส.3 ก. เลขที่ 99, 100 ตำบลแม่เจ้าอยู่หัว และ น.ส.3 ก.เลขที่ 1448 ตำบลท้องลำเจียก ที่ดินทั้งแปดแปลงตั้งอยู่ที่อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ในวงเงินตามสัญญาจำนอง
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษา ยื่น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต่อไปมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เพราะโจทก์ได้ประชุมคณะกรรมการพิจารณา ข้าวขาดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน2534 ถือว่าโจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและผู้ทำละเมิดตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2534 แล้วนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อกรมส่งเสริมสหกรณ์ตามเอกสาร จ.23 ว่า คณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ได้มีมติให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยินยอม ได้มีหนังสือร้องเรียนไปยังกรมส่งเสริมสหกรณ์เพื่อตรวจสอบความถูกต้องเกี่ยวกับการยุบตัวของข้าวเปลือกอีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นคณะกรรมการดำเนินการได้ประชุมเมื่อวันที่20 เมษายน 2535 พิจารณาหาผู้รับผิดชอบชดใช้ข้าวเปลือกขาดบัญชี และมีมติในวันเดียวกันนั้นให้จำเลยที่ 1 รับผิดชอบใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ โดยใช้ชดใช้ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ร่วมประชุม และทำหนังสือยินยอมชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนข้าวที่หายไปต่อโจทก์ ปรากฏตามหนังสือรับรองข้าวเปลือกขาดบัญชีและรายงานการประชุมเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 หนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือรับสภาพหนี้อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2535 และเริ่มนับใหม่ต่อไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 เดิม (มาตรา 193/14(1) ใหม่) โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2536 ภายในอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความฎีกาจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยชอบด้วยกฎหมายแล้วหรือไม่จำเลยทั้งสามฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้ส่งหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับการบอกกล่าวบังคับจำนองจึงไม่ชอบ พิเคราะห์แล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 728 การบังคับจำนองนั้นผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่า ให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรซึ่งกำหนดไว้ในคำบอกกล่าวนั้นไม่ได้ระบุว่าต้องส่งคำบอกกล่าวโดยทางจดหมายลงทะเบียนตอบรับแต่อย่างใดข้อเท็จจริงได้ความตามคำเบิกความของนายยกฮวด ยาวส่ง และนายเชือบ เพ็งสุวรรณพยานโจทก์เบิกความประกอบเอกสารหมาย จ.19 และ จ.20 ว่าพยานกับนายฉลาด นวลแก้ว ไปส่งหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ยอมรับจึงได้ทำบันทึกไว้ท้ายคำบอกกล่าวว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3ไม่ยอมรับ ผู้ส่งจึงได้วางหนังสือไว้ต่อหน้าผู้รับและต่อหน้าพยาน การบอกกล่าวบังคับจำนองชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำนองจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้
พิพากษายืน

Share