คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6460/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองทำกินในทรัพย์มรดกร่วมกับเจ้ามรดกและมารดาจำเลยทั้งสองก่อนเจ้ามรดกถึงแก่กรรม 10 ปีเศษ เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรมก็ยังครอบครองทรัพย์มรดกนับแต่เจ้ามรดกถึงแก่กรรมเกิน 10 ปีแล้ว โดยโจทก์และผู้ร้องสอดไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่แรก ฉะนั้นสิทธิของโจทก์และผู้ร้องสอดให้จำเลยทั้งสองแบ่งมรดกซึ่งเป็นคดีมรดกจึงต้องห้ามมิให้ฟ้องตาม ป.พ.พ.มาตรา 1754 วรรคท้าย สิทธิในทรัพย์มรดกดังกล่าวย่อมตกแก่จำเลยทั้งสองโดยสมบูรณ์ การที่จำเลยที่ 1 ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกในเวลาต่อมาก็เพื่อจะดำเนินการให้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนให้ได้สิทธิโดยสมบูรณ์ในทรัพย์มรดกเท่านั้น หาใช่เพื่อประโยชน์แก่ทายาทอื่น ๆ ซึ่งสิ้นสิทธิในการฟ้องคดีเกี่ยวกับทรัพย์มรดกไปโดยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1754 แล้วไม่
กรณีดังกล่าวมิใช่กรณีจำเลยที่ 1 สละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 192 เดิม หรือ 193/24 ใหม่ ฉะนั้นถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองครอบครองทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกแทนหรือเพื่อประโยชน์แก่ทายาทอื่นทั้งปวงของเจ้ามรดก โจทก์และผู้ร้องจะยกเอาประโยชน์แห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1748 มาอ้างสิทธิเพื่อเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองแบ่งทรัพย์มรดกเมื่อล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แล้วหาได้ไม่ จำเลยจึงยกอายุความใช้ยันโจทก์และผู้ร้องสอดได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายเขียน คงสมบัติ เจ้ามรดกมีภรรยา 3 คนโดยมิได้จดทะเบียนสมรส ภรรยาคนแรกชื่อนางเปรื่องหรือเผือก คงสมบัติ มีบุตร 3 คน คือนายขีด นางนิลและนางนากซึ่งถึงแก่กรรมแล้ว ภรรยาคนที่สองชื่อนางเรือน คงสมบัติ ถึงแก่กรรมแล้ว มีบุตร 2 คน คือ โจทก์และนายเม้ง แซ่ตั้งภรรยาคนที่สามชื่อนางลิ้ม คงสมบัติถึงแก่กรรมแล้ว มีบุตร 2 คน คือจำเลยทั้งสอง เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2517นายเขียนถึงแก่กรรมโดยมิได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้แก่ผู้ใด นายเขียนมีทรัพย์สินบ้านเลขที่ 255 หมู่ที่ 3 และที่ดินโฉนดเลขที่ 2359 และที่ 1892 ตำบลพลา อำเภอเมืองระยองจังหวัดระยอง ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2519 โจทก์ได้มอบให้นายเม้ง แซ่ตั้งและจำเลยทั้งสองครอบครองดูแลบ้าน และที่ดินทั้งสองแปลงแปลงดังกล่าวแทนโจทก์และทายาทอื่นของนายเขียน และให้จำเลยทั้งสองรักษาโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงแทนทายาทของนายเขียนด้วยต่อมาเมื่อประมาณปี 2530 จำเลยที่ 1 กับพวกโดยทุจริตสมคบกันยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอเป็นผู้ขัดการมรดกของนายเขียนในขณะที่โจทก์ยังอยู่ในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกโดยโจทก์ไม่ทราบจนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายเขียน แล้วจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเขียนได้สมคบกับจำเลยที่ 2 โดยทุจริตโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินที่ 2359 ให้แก่จำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียว ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้โอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้อื่นไปโดยมิได้นำเงินมาแบ่งแก่โจทก์และทายาทของนายเขียน และได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 1892 เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 เองแต่ผู้เดียวการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการปิดบังทรัพย์มรดกและรับมรดกเกินสิทธิของตนโดยฉ้อฉล จึงต้องถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกของนายเขียนทั้งหมด คงเหลือแต่ทายาทของนายเขียนที่เกิดจากนางเปรื่อง กับนางเรือนโดยโจทก์มีสิทธิได้รับมรดกของนายเขียน 1 ใน 4 ส่วนของทรัพย์มรดกทั้งหมดขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าโจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในบ้านเลขที่ 255 หมู่ที่ 3 จำนวน 1 ใน 4 ให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1892 ให้แก่โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์จำนวนเนื้อที่ 5 ไร่ 1 งาน50 ตารางวา หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฎิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกันชำระเงินจำนวน 443,880 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 437,500 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ทรัพย์สินของนายเขียนตามฟ้องเป็นทรัพย์ที่นางลิ้ม คงสมบัติ เป็นผู้ทำมาหาได้ร่วมกันกับนายเขียนในระหว่างเป็นสามีภรรยากัน มิใช่เป็นทรัพย์สินที่นายเขียนทำมาหาได้ร่วมกับนางเรือนมารดาโจทก์ โจทก์ไม่เคยมอบให้นายเม้งหรือจำเลยทั้งสองครอบครองทรัพย์สินแทนทายาททั้งโจทก์ นายเม้งและบุคคลภายนอกไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยวในทรัพย์สินดังกล่าว ไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์หรือเข้าพักอาศัยหรือโต้แย้งคัดค้าน คงมีแต่จำเลยทั้งสองและนางลิ้มมารดาจำเลยทั้งสองเท่านั้นที่เข้าครองครองทำประโยชน์ด้วยความสงบ เปิดเผย จำเลยที่ 1 ไม่เคยทราบเรื่องที่โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายเขียน และโจทก์มิได้รับความยินยอมจากจำเลยทั้งสองและมารดาจำเลยทั้งสอง โจทก์กระทำโดยทุจริต ปิดบังข้อเท็จจริงมิได้นำหลักฐานที่แท้จริงมาแสดงต่อศาลและแจ้งให้จำเลยทั้งสองและมารดาจำเลยทั้งสองทราบเพื่อให้นำทรัพย์สินมาแบ่งกันภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด โจทก์จึงไม่มีสิทธิและไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้จัดการมรดก โจทก์ฟ้องหลังจากที่นายเขียนถึงแก่ความตายมาเป็นเวลา 15 ปีแล้ว ฟ้องโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ผู้ร้องสอดทั้งเก้าร้องขอเข้าเป็นคู่ความ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) โดยผู้ร้องสอดที่ 1 ถึงที่ 8ขอให้แบ่งทรัพย์มรดกของนายเขียนให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 1 ถึงที่ 5 คือบ้านเลขที่ 255 หมู่ที่ 3 ราคา 40,000 บาท จำนวน 1 ใน 6เป็นเงิน 6,666.66 บาทเงินขายที่ดินโฉนดเลขที่ 2359 ราคา 1,750,000 บาท จำนวน 1 ใน 6 เป็นเงิน 291,666.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี คิดอย่างเดียวกับที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยทั้งสองมาในฟ้องเดิม และแบ่งที่ดินแปลงหมายเลขโฉนดที่ 1892 เนื้อที่ 21 ไร่ 2 งาน 68 8/10 ตารางวาจำนวน 1 ใน 6 เป็นจำนวนเนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน 44 ตารางวา และแบ่งทรัพย์ให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 จำนวน 1 ใน 6ของทรัพย์มรดกทั้งหมดส่วนผู้ร้องสอดที่ 9 ขอให้แบ่งทรัพย์มรดกของนายเขียนเจ้าของมรดกแก่ผู้ร้องสอดที่ 9 จำนวน 1 ใน 5 ส่วนของทรัพย์มรดกทั้งหมด เพื่อนำไปแบ่งแก่ทายาทของนายขีดต่อไป
ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องสอดทั้งเก้าเข้าเป็นคู่ความได้
จำเลยที่ 1 ให้การแก้คำร้องสอดของผู้ร้องสอดที่ 1 ถึงที่ 9 ว่า คดีของผู้ร้องสอดที่ 1 ถึงที่ 9 ขาดอายุความ ขอให้ยกคำร้องสอด
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การแก้คำร้องสอดของผู้ร้องสอดที่ 1 ถึงที่ 9 และขาดนัดพิจารณา
ระหว่างพิจารณาผู้ร้องสอดที่ 9 มิได้ยื่นคำขอเพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การแก้คำร้องสอดของผู้ร้องสอดที่ 9 ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีของผู้ร้องที่ 9 เฉพาะโจทก์กับจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์ และยกคำร้องสอดของผู้ร้องสอดทั้งเก้า
โจทก์และผู้ร้องสอดที่ 1 ถึงที่ 8 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และผู้ร้องสอดที่ 1 ถึงที่ 8 ฎีกา
ระหว่างพิจารณาโจทก์และผู้ร้องสอดที่ 1 ถึงที่ 8 ขอถอนฟ้องฎีกาสำหรับจำเลยที่ 2 ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ทำกินในทรัพย์มรดกร่วมกับเจ้ามรดกและมารดาจำเลยทั้งสองก่อนที่เจ้ามรดกจะถึงแก่กรรมประมาณ 10 ปีเศษ เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรมก็ยังเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกตลอดมานับแต่เจ้ามรดกถึงแก่กรรมเกินกำหนด 10 ปีแล้ว โดยโจทก์และผู้ร้องสอดที่ 1ถึงที่ 8 ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่แรกเลย ฉะนั้นสิทธิเรียกร้องของโจทก์และผู้ร้องสอดที่ 1 ถึงที่ 8 ให้จำเลยทั้งสองแบ่งทรัพย์มรดกซึ่งเป็นคดีมรดกจึงต้องห้ามมิให้ฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 สิทธิในทรัพย์มรดกดังกล่าวย่อมตกแก่จำเลยทั้งสองโดยสมบูรณ์ การที่จำเลยที่ 1 มาร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกในเวลาต่อมาก็เพื่อที่จะดำเนินการให้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนให้ได้สิทธิโดยสมบูรณ์ในทรัพย์มรดกเท่านั้น หาใช่เพื่อประโยชน์แก่ทายาทอื่น ๆ ซึ่งสิ้นสิทธิในการฟ้องคดีเกี่ยวกับทรัพย์มรดกไปโดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 แล้วไม่ และกรณีดังกล่าวก็มิใช่เป็นกรณีจำเลยที่ 1 สละประโยชน์แห่งอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 192 เดิมซึ่งเป็นมาตรา 193/24 ที่ชำระใหม่ดังที่โจทก์และผู้ร้องสอดที่ 1 ถึงที่ 8 อ้าง ฉะนั้นถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองครอบครองทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกแทนหรือเพื่อประโยชน์แก่ทายาทอื่นทั้งปวงของเจ้ามรดก โจทก์และผู้ร้องที่ 1ถึงที่ 8 จะยกเอาประโยชน์แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1748 มาอ้างสิทธิเพื่อเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองแบ่งทรัพย์มรดกเมื่อล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา 1754 แล้วหาได้ไม่ จำเลยที่ 1จึงยกอายุความมรดกขึ้นใช้ยันโจทก์และผู้ร้องสอดที่ 1 ถึง 8 ได้
พิพากษายืน

Share