คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 337/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีความผิดต่อส่วนตัวอันยอมความได้นั้นถ้ามารดาของผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการได้ถอนคำร้องทุกข์โดยผู้เสียหายยินยอมไม่คัดค้าน สิทธินำคดีมาฟ้องย่อมระงับไปตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) อัยการโจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะดำเนินคดีนั้นต่อไปอีก ฉะนั้น การที่อัยการโจทก์แถลงขอผัดเวลายื่นคำร้องขอถอนฟ้อง โดยจะไปขออนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดก่อน เพื่อมิให้ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ย่อมไม่บังเกิดผลแต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำอนาจารเด็กหญิงเลี่ยมหรือแต๋วซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๒๗๘
มรดาเด็กหญิงเลี่ยมผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลอนุญาต
ก่อนสืบพยานโจทก์ โจทก์ร่วมถอนคำร้องทุขก์ เด็กหญิงเลี่ยม ไม่คัดค้านอัยการโจทก์แถลงขอเวลายื่นคำร้องถอนฟ้อง เพราะการถอนฟ้องจะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และคำสั่งของกรมอัยการ เพื่อมิให้ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ศาลชั้นต้นสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ขอผัดเวลายื่นคำร้องถอนฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ว่าศาลควรให้เวลาโจทก์ไปเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อจะได้ขอถอนฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความผิดต่อส่วนตัวอันยอมความได้
เมื่อโจทก์ร่วมกับซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมถอนคำร้องทุกข์โดยผู้เสียหายยินยอมไม่คัดค้าน สิทธินำคดีมาฟ้องย่อมระงับไปตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ (๒) อัยการโจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะดำเนินคดีนั้นต่อไปแล้ว หาก โจทก์จะถอนฟ้อง ก็ชอบที่จะถอนฟ้องได้ทันที จะผัดไปขออนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดก่อนนั้นไม่บังเกิดผลแต่อย่างใด เพราะถึงผู้ว่าราชการจังหวัดจะอนุมัติให้ถอนฟ้องหรือไม่ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิดำเนินคดีต่อไปแล้ว พิพากษายืน

Share