แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 วรรคแรก หมายถึงบุคคลสองฝ่ายมิได้มีเจตนาที่จะผูกพิติสัมพันธ์กันอย่างไรเลย หากแต่แสร้งทำเป็นนิติกรรมขึ้นเพื่อลวงบุคคลภายนอก กฎหมายจึงยอมให้บุคคลทั้งสองฝ่ายน้นอ้างอิงความไม่สมบูรณืของนิติกรรมนั้น เพื่อแสดงว่าเป็นโมฆะได้ ส่วนวรรคสองหมายถึงบุคคลสองฝ่ายตกลงกันทำนิติกรรมอันหนึ่ง แต่ไม่แสดงเจตนาออกเช่นนั้น แสร้งทำเป็นนิติกรรมอีกอันหนึ่ง เพื่ออำพรางนิติกรรมที่เขาแสดงเจตนาอันแท้จริงผูกนิติสัมพันธ์กันขึ้นนั้น กฎหมายจึงให้บังคับตามเจตนาอันแท้จริงที่เขาผูกนิติสัมพันธ์กันนั้นได้
ในกรณีที่จำเลยได้แสดงเจตนาตกลงกับโจทก์และจดทะเบียนแสดงเจตนานั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของจำเลยไปให้โจทก์เป็นการขายฝากแล้วนั้น จำเลยจะขอสืบพยานว่าพฤติการณ์เป็นจำนองโดยไม่มีสัญญาจำนองอันแท้จริงอีกอันหนึ่งเลยหาได้ไม่ เพราะเป็นการขอสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 26/2505)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขายฝากที่ดินโฉนด ๓๔๓๙ พร้อมตึกเปล่า ๑๑ ห้อง แก่โจทก์เป็นเงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท สัญญาไถ่คืนใน ๑ ปี โจทก์ให้จำเลยอาศัยตึกแถวดังกล่าวอยู่ ๒ ห้อง เมื่อครบกำหนด จำเลยไม่สามารถไถ่คืน จึงตกลงกันเมื่อ ๓๑ มกราคม ๒๕๐๑ ขยายเวลาไถ่ออกไปอีก ๑๒ เดือน ครั้นครบกำหนดจำเลยก็ไม่ไถ่ ให้ส่งมอบตึก ๒ ห้อง จำเลยก็เพิกเฉย จึงขอให้ศาลบังคับขับไล่และใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า ความจริงสัญญาขายฝากเป็นแต่วิธีลวง ตามพฤติการณ์ระหว่างโจทก์จำเลยตกลงและปฏิบัติต่อกันเป็นลักษณะจำนอง เมื่อจดทะเบียนขายฝากแล้วโจทก์ไม่เคยเกี่ยวข้อง จำเลยเคยครอบครองมาอย่างไรก็คงปฏิบัติอยู่เช่นนั้น ไม่ได้อาศัยโจทก์อยู่ การให้เช่าตึก การเสียภาษีที่ดินและโรงเรือน จำเลยประเมินในนามของจำเลยทั้งสิ้น จำเลยรับเงินจากโจทก์เพียง ๑๒๐,๐๐๐ บาทเศษ เหลือนั้นเป็นค่าดอกเบี้ยธรรมเนียมขายฝาก เมื่อทำสัญญาขยายเวลาไถ่ โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นสำหรับปีที่เกินเวลาขายฝากจนถึงวันทำสัญญา และสำหรับเงินโอนหนี้ให้จำเลยใช้แทนเจ๊ก จึงรวมเป็นเงิน ๒๗๔,๐๐๐ บาท เมื่อพฤติการณ์เป็นลักษณะจำนอง จำเลยไม่ต้องใช้ค่าเสียหายเพราะจำเลยเสียดอกเบี้ยแทนผลประโยชน์ให้โจทก์แล้ว
ศาลชั้นต้นชี้แจงสถานและประเด็นว่า จะเป็นการจำนองหรือไม่ เป็นปัญหาหารือ ส่วนข้อต่อสู้อื่น ๆ ไม่เป็นประเด็น เพราะจำเลยไม่ได้ฟ้องแย้ง ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีเพียงว่า โจทก์เสียหายตามฟ้องหรือไม่ ให้โจทก์นำสืบก่อน โจทก์แถลงไม่ติดใจสืบ ขอรับค่าเสียหายเพียงห้องละ ๗๐ บาทตามที่จำเลยให้การรับ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้ขับไล่จำเลยออกจากตึกตามฟ้อง และให้จำเลยเสียค่าเสียหายให้โจทก์ เดือนละ ๑๔๐ บาทจนกว่าจะออกจากห้อง โดยเห็นว่าข้ออ้างที่ว่า โจทก์ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ขายฝากนั้น ไม่มีทางจะเป็นไปได้ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ขายฝากย่อมตกเป็นของผู้ซื้อฝากโดยผลแห่งกฎหมาย โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องเข้าครอบครอง จำเลยไม่มีทางจะนำสืบข้อเท็จจริงตามที่อ้าง เพราะถึงสืบไปก็ไม่เกิดผลให้เปลี่ยนแปลงบทกฎหมายแต่ประการใด อีกข้อหนึ่งที่อ้างว่าตกลงคิดดอกเบี้ยรวมเข้าเป็นต้นเงิน ก็เป็นการกำหนสินไถ่ตามที่ตกลงกัน ข้ออ้างของจำเลยทั้ง ๒ ประการนี้ แม้สืบได้ก็ไม่ทำให้พฤติการณ์ที่แสดงว่าเป็นการปฏิบัติต่อกันในลักษณะจำนอง จึงให้งดสืบพยานเสีย รูปคดีฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาขายฝากตกเป็นของโจทก์แล้ว จำเลยไม่มีสิทธิอยู่ในห้องต่อไป
จำเลยอุทธรณ์ความสำคัญว่า ตามคำให้การของจำเลยโต้เถียงว่า ข้อตกลงและพฤติการณืที่ปฏิบัติต่อกันระหว่างโจทก์จำเลยเป็นเรื่องจำนอง ไม่ใช่เรื่องขายฝาก การที่ศาลชั้นต้นตัดพยานมิให้จำเลยสืบตามขอต่อสู้ เป็นการไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาต่อมาเฉพาะข้อที่ศาลสั่งตัดพยาน
ศาลฎีกาตรวจสำนวนและพร้อมกันประชุมใหญ่แล้วเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๘ มีไว้เพื่อใช้บังคับในกรณีที่บุคคลสองฝ่ายตกลงกันแสดงเจตนาอันมิใช่เจตนาอันแท้จริงระหว่างเขาทั้งสองนั้น ในวรรคแรกหมายถึงบุคคลสองฝ่ายมิได้มีเจตนาที่จะผูกนิติสัมพันธ์กันอย่างไรเลย หากแต่แสร้งทำเป็นนิติกรรมขึ้นเพื่อลวงบุคคลภายนอก กฎหมายจึงยอมให้บุคคลทั้งสองฝ่ายนั้นอ้างอิงความไม่สมบูรณ์ของนิติกรรมนั้นเพื่อแสดงว่านิติกรรมนั้นเป็นโมฆะได้ ดังนี้ ความในวรรคสองมาตรา ๑๑๘ นี้ จึงหมายว่า บุคคลสองฝ่ายตกลงทำนิติกรรมอันหนึ่ง แต่ไม่แสดงเจตนาออกเช่นนั้น แสร้งทำเป็นนิติกรรมอีกอันหนึ่งเพื่ออำพรางนิติกรรมที่เขาแสดงเจตนาอันแท้จริงผูกนิติสัมพันธ์กันขึ้นนั้น กฎหมายจึงให้บังคับตามเจตนาอันแท้จริงที่เขาผูกนิติสัมพันธ์กันนั้นได้
กรณีที่ปรากฏในคดีนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นเรื่องที่จำเลยต้องการเงินจากโจทก์ โจทก์จะจ่ายเงินให้ต่อเมื่อจำเลยทำนิติกรรมเป็นสัญญาขายฝาก จำเลยจึงได้ไปทำหนังสือจดทะเบียนต่อพนักงานเจาหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทเป็นสัญญษขายฝากโดยถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยให้การโต้แย้งฟ้องโจทก์ที่อ้างสัญญาขายฝาก ก็เพียงว่าพฤติการณ์ระหว่างโจทก์จำเลยตกลงและปฏิบัติต่อกันเป็นลักษณะจำนองเท่านั้น อันว่าจำนองนั้น คือ การที่ผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้แก่ผู้รับจำนอง เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ หาได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินไปดังเช่นสัญญาขายฝากไม่ ก็เมื่อจำเลยได้แสดงเจตนาตกลงกับโจทก์และจดทะเบียนแสดงเจตนาตกลงกับโจทก์และจดทะเบียนแสดงเจตนานั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยเต็มใจโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของจำเลยไปให้โจทก์เป็นการขายฝากแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า จะมากลับคำอ้างเอาแต่ฝ่ายเดียวว่าพฤติการณ์เป็นจำนองโดยจำเลยและโจทก์ม่มีเจตนาจะโอนและรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทกันนั้นย่อมฟังไม่ได้ นิติกรรมอำพรางนั้นต้องมีนิติกรรมซึ่งใช้บังคับได้ทั้งสองอัน แต่คู่กรณีทำเป็นนิติกรรมอันหนึ่งอำพรางนิติกรรมอันแท้จริงไว้ ในเรื่องนี้นิติกรรมที่จำเลยอ้างว่าเป็นสัญญาจำนองนั้นหามีไม่เลย เพราะสัญญาจำนองนั้นต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๑๕ มิฉะนั้น จะเป็นการตราไว้เพื่อเป็นการชำระหนี้หาได้ไม่ ศาลฎีกาจึงเห็นว่า กรณีนี้นิติกรรมคงมีอยู่แต่อันเดียว คือ นิติกรรมขายฝากที่โจทก์จำเลยจดทะเบียนไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเอกสารมหาชน จำเลยได้ทำหนังสือแสดงให้ปรากฏชัดว่า จำเลยได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไปยังโจทก์ในการขายฝากนั้นแล้ว จำเลยจะขอสืบพยานว่าไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ จึงเป็นการขอนำสืบเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารนั้น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๔
พิพากษายืน