คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3369/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สิทธิในการร้องขอให้ศาลแต่งตั้งผู้จัดการมรดกและการคัดค้านการขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ยื่นคำร้องและของผู้ยื่นคำคัดค้าน หากผู้ยื่นคำร้องหรือคำคัดค้านไว้แล้ว ต่อมาถึงแก่ความตาย สิทธินั้นไม่ตกไปยังทายาท เมื่อปรากฎว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ผู้ร้องและผู้คัดค้านถึงแก่กรรมทั้งคู่ สิทธิของผู้ร้องในการยื่นคำร้องและสิทธิของผู้คัดค้านในการยื่นคำคัดค้านจึงเป็นอันระงับไปด้วยความตายของผู้ร้องและผู้คัดค้าน ต้องจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายฝั่น สีสินธ์ ผู้ร้อง เป็นผู้จัดการมรดกของนายจันทร์ สีสินธ์หรือศิลป์ ผู้ตาย ต่อมานายอำคา สีสินธ์หรือศรีศิลป์ ผู้คัดค้านได้มายื่นคำร้องขอว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรผู้ตายมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายแต่ผู้เดียวขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายคนใหม่แทน ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งคัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทนผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องขอของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความตามท้องสำนวนว่าในวันที่ศาลชั้นต้นนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา นางทองไร่ สีสินธ์ ภริยาของผู้คัดค้านมาศาลได้แถลงประกอบกับเสนอหลักฐานมรณบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านต่อศาลว่า ผู้คัดค้านถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2546 และทนายผู้ร้องแถลงว่า ผู้ร้องถึงแก่กรรมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2546 เช่นกัน ศาลชั้นต้นจึงส่งสำนวนคืนศาลฎีกาเพื่อพิจารณา เห็นว่า สิทธในการร้องขอให้ศาลแต่งตั้งผู้จัดการมรดกก็ดี การคัดค้านการขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกก็ดี เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ยื่นคำร้องและของผู้ยื่นคำคัดค้าน หากผู้ยื่นคำร้องหรือคำคัดค้านไว้แล้ว ต่อมาถึงความตาย สิทธินั้นไม่ตกไปยังทายาท เมื่อปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ผู้ร้องและผู้คัดค้านถึงแก่กรรมทั้งคู่สิทธิของผู้ร้องในการยื่นคำร้องและสิทธิของผู้คัดค้านในการยื่นคำคัดค้านจึงเป็นอันระงับไปด้วยความตายของผู้ร้องและผู้คัดค้าน จึงไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาต่อไป”
จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

Share