คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3369/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 ขับรถโดยสารซึ่งเป็นรถมีขนาดใหญ่ถอยหลังคนที่อยู่ด้านหลังรถดังกล่าวมีโอกาสที่จะถูกรถโดยสารที่จำเลยที่ 1 ขับเฉี่ยวชนได้ง่าย จำเลยที่ 1 จึงต้องใช้ความระมัดระวังดูแลบริเวณข้างหลังให้ปลอดภัยเสียก่อนเมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถโดยสารถอยหลังชนและทับผู้ตายเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลบริเวณข้างหลังให้ปลอดภัยเสียก่อนดังนี้เหตุรถโดยสารชนและทับผู้ตายเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 1 ทำศพผู้ตายทั้งประเพณีไทยและจีนเนื่องจากผู้ตายเป็นคนเชื้อชาติจีน สิ้นค่าใช้จ่ายรวมเป็นเงิน76,692 บาท เนื่องจากผู้ตายมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าหมวดบัญชีค่าโดยสาร ได้รับเงินเดือน 8,317.75 บาท ค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพจำนวนดังกล่าวจึงเหมาะสมแก่ฐานานุรูปของผู้ตายแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพเป็นเงินจำนวน 68,185 บาท จึงเป็นการสมควร ในส่วนค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 วรรคสองนั้น โจทก์ที่ 1 มีอายุ 47 ปี ส่วนผู้ตายมีอายุ 50 ปีย่อมเห็นได้ว่าโจทก์ที่ 1 มีโอกาสได้รับอุปการะตามกฎหมายได้ไม่น้อยกว่า 10 ปี ที่โจทก์ที่ 1 เรียกค่าขาดไร้อุปการะเป็นระยะเวลา 10 ปี จึงเป็นระยะเวลาที่สมควร ขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 2 และที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรมีอายุเกิน20 ปี เป็นบุคคลบรรลุนิติภาวะแล้ว และค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443วรรคสาม จะต้องเป็นการขาดไร้อุปการะตามกฎหมายหาได้มีความหมายรวมไปถึงการขาดไร้อุปการะตามหน้าที่ศีลธรรมไม่ อีกทั้งในข้อที่บิดาจำต้องให้อุปการะเลี้ยงดูบุตรตามกฎหมายนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564บัญญัติให้บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วแต่เฉพาะผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ เมื่อขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 2 และที่ 4 มิใช่ผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้โจทก์ที่ 2 และที่ 4 จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคสาม สำหรับโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 8 แม้ว่ายังไม่บรรลุนิติภาวะแต่ก็จะได้รับค่าอุปการะเท่าที่อยู่ในข่ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคสามบัญญัติไว้กล่าวคือเท่าที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเว้นแต่จะเป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 8 เป็นผู้ทุพพลภาพ โจทก์ที่ 5 ถึงที่ 8แต่ละคนจึงมีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมายนับแต่วันเกิดเหตุไปจนกระทั่งมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ อันเป็นบุคคลที่พ้นจากภาวะผู้เยาว์และเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะ หาใช่แต่ละคนมีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะไปจนถึง 10 ปีนับจากวันเกิดเหตุไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 ในกรณีหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิดลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิดและจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระแก่โจทก์ทั้งแปดนั้นศาลได้กำหนดเป็นจำนวนเงินที่แน่นอน เป็นหนี้เงินที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระทันที จำเลยทั้งสองจึงต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 158ถ้าศาลเห็นว่า คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นผู้รับผิดเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดหรือแต่บางส่วนของคู่ความทั้งสองฝ่าย ให้ศาลพิพากษาในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมโดยสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งนั้นชำระต่อศาลในนามของบุคคลผู้ฟ้องหรือต่อสู้ความอย่างคนอนาถาซึ่งค่าฤชาธรรมเนียมที่ผู้ฟ้องหรือต่อสู้ความอย่างคนอนาถานั้นได้ยกเว้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตามที่ศาลเห็นสมควรศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยผู้ซึ่งจะต้องรับผิดเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดให้เป็นผู้เสียค่าฤชาธรรมเนียมเฉพาะส่วนที่โจทก์ทั้งแปดชนะคดีได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาได้ หนี้ที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้เมื่อจำเลยที่ 2 ฎีกาและศาลฎีกากำหนดค่าสินไหมทดแทนกรณีขาดไร้อุปการะที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดน้อยลงแม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดเท่ากับจำเลยที่ 2 ได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งแปดฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาว่าโจทก์ที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสำเริง มหัจฉริยวงศ์ มีบุตรด้วยกัน 7 คนคือโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 8 สำหรับโจทก์ที่ 6 ถึงที่ 8ยังไม่บรรลุนิติภาวะและอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของโจทก์ที่ 1เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2533 เวลาประมาณ 18 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างขับรถโดยสารประจำทางของจำเลยที่ 2ได้ขับรถคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทเลินเล่อชนนายสำะเริงถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งแปดได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิด และจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งแปดดังนี้ ค่ารักษาพยาบาลผู้ตายเป็นเงิน 8,507 บาท ค่าปลงศพผู้ตายเป็นเงิน 76,692 บาท ค่าขาดไร้อุปการะสำหรับโจทก์ที่ 1เป็นเงิน 966,000 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 739,200 บาทโจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 180,000 บาท โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน624,000 บาท โจทก์ที่ 5 เป็นเงิน 764,400 บาท โจทก์ที่ 6เป็นเงิน 552,000 บาท โจทก์ที่ 7 เป็นเงิน 527,400 บาทและโจทก์ที่ 8 เป็นเงิน 411,600 บาท รวมเป็นเงิน 4,849,799 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่ารักษาพยาบาลและค่าปลงศพจำนวน 85,199 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 6,389 บาท กับชำระเงินค่าขาดไร้อุปการะจำนวน 966,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,057,588 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 1,051,199 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และชำระเงินค่าขาดไร้อุปการะจำนวน 739,200 บาทแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 180,000 บาท แก่โจทก์ที่ 3 จำนวน624,000 บาท แก่โจทก์ที่ 4 จำนวน 764,400 บาท แก่โจทก์ที่ 5จำนวน 552,000 บาท แก่โจทก์ที่ 6 จำนวน 527,400 บาทแก่โจทก์ที่ 7 และจำนวน 411,600 บาท แก่โจทก์ที่ 8 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่จะต้องชำระแก่โจทก์ที่ 2ถึงที่ 8 แต่ละคนนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เหตุคดีนี้เกิดจากเหตุสุดวิสัยเนื่องจากขณะจำเลยที่ 1 กำลังถอยหลังรถโดยสารคันเกิดเหตุนายสำเริงเดินมาทางด้านหลังรถในระยะกระชั้นชิดเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1ไม่สามารถหยุดรถคันดังกล่าวได้ทัน จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดโจทก์ทั้งแปดเรียกร้องค่าเสียหายสูงเกินความจริง กล่าวคือนายสำเริงถึงแก่ความตายทันทีไม่เสียค่ารักษาพยาบาลโจทก์ที่ 1 เรียกร้องค่าปลงศพเกินฐานะ โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะเนื่องจากบรรลุนิติภาวะแล้วค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่ 6 ถึงที่ 8 ไม่เกิน 5,000 บาท7,000 บาทและ 10,000 บาท ตามลำดับ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1จำนวน 482,428 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงิน476,692 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 180,000 บาท โจทก์ที่ 6จำนวน 40,000 บาท โจทก์ที่ 7 จำนวน 160,000 บาทและโจทก์ที่ 8 จำนวน 240,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 6 ที่ 7และที่ 8 สำหรับค่าธรรมเนียมศาลที่โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 6 ที่ 7และที่ 8 ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถานั้นให้จำเลยทั้งสองนำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ดังกล่าวเฉพาะค่าขึ้นศาลให้ชำระเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 6 ที่และที่ 8 ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้รวมกันเป็นเงิน15,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 กับจำเลยทั้งสองให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 8 และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์โดยโจทก์ที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 8 ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 20,000 บาท แก่โจทก์ที่ 5 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 8 และจำเลยที่ 2 ฎีกา โดยโจทก์ที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 8 ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยที่ 1 และนายสำเริง มหัจฉริยวงศ์ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานขับรถโดยสารประจำทาง ส่วนนายสำเริง เป็นหัวหน้าหมวดบัญชีค่าโดยสารสาย 16 โจทก์ที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสำเริง และโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 8 เป็นบุตรของนายสำเริงอันเกิดจากโจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2533 ขณะจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยขับรถโดยสารประจำทางสาย 16คันหมายเลขทะเบียน 10-4763 กรุงเทพมหานคร ได้ขับรถคันดังกล่าวถอยหลังไปชนและทับนายสำเริงเป็นเหตุให้นายสำเริงถึงแก่ความตาย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อแรกมีว่า เหตุรถโดยสารชนและทับนายสำเริงผู้ตายเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 หรือไม่ เนื่องจากปัญหานี้เป็นปัญหาข้อเท็จจริงสำหรับฎีกาจำเลยที่ 2 ในส่วนของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจำนวน 73,920 บาท ซึ่งเป็นจำนวนคงเหลือที่โจทก์ที่ 2 ติดใจเรียกร้อง และจำนวน180,000 บาท ที่โจทก์ที่ 3 ขอมาท้ายฟ้องตามลำดับซึ่งไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยในส่วนนี้ คงรับวินิจฉัยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 8
จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 8ไม่มีประจักษ์พยานเห็นเหตุการณ์มาเบิกความย่อมรับฟังไม่ได้ว่าเหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 เห็นว่า โจทก์ที่ 1ที่ 4 ถึงที่ 8 มีร้อยตำรวจเอกใจเย็น นามศรี พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 18 นาฬิกาพยานได้รับแจ้งเหตุรถโดยสารชนผู้ตายจึงไปดูที่เกิดเหตุ ปรากฏว่าผู้ตายถูกนำส่งโรงพยาบาลแล้ว ส่วนจำเลยที่ 1 ผู้ขับหลบหนีไปพยานลงรายงานประจำวันไว้ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.22 จากการสอบสวนปรากฏว่าเหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 และข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถโดยสารคันเกิดเหตุถอยหลังชนและทับผู้ตายการที่จำเลยที่ 1 ขับรถโดยสารซึ่งเป็นรถมีขนาดใหญ่ถอยหลัง ย่อมเห็นได้ว่าคนที่อยู่ด้านหลังรถดังกล่าวมีโอกาสที่จะถูกรถโดยสารที่จำเลยที่ 1 ขับเฉี่ยวชนได้ง่ายจำเลยที่ 1จะต้องใช้ความระมัดระวังดูแลบริเวณข้างหลังให้ปลอดภัยเสียก่อนเมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถโดยสารถอยหลังชนและทับผู้ตายเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลบริเวณข้างหลังให้ปลอดภัยเสียก่อน เหตุการณ์จึงสอดคล้องกับทางสอบสวนที่ร้อยตำรวจเอกใจเย็นเบิกความมา จำเลยทั้งสองมีพยานมานำสืบเพียง 1 ปาก คือนายบุญเพ็ง พัดน้อยหัวหน้ากองอุบัติเหตุสังกัดสำนักงานกฎหมายของจำเลยที่ 2 แต่ก็หาได้เบิกความโต้เถียงว่า เหตุมิใช่เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใดไม่ ตามพฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่าเหตุรถโดยสารชนและทับผู้ตายเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ในผลแห่งละเมิดด้วย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4ถึงที่ 8 มีว่า จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึง 8 หรือไม่ เพียงใด เนื่องจากปัญหานี้เป็นปัญหาข้อเท็จจริง สำหรับฎีกาโจทก์ที่ 8 มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจำนวน 171,600 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่โจทก์ที่ 8 ติดใจเรียกร้องเพิ่มซึ่งไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยในส่วนนี้ คงรับวินิจฉัยเฉพาะฎีกาโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 7 และตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อต่อไปมีว่า โจทก์ที่ 1 ควรได้รับค่าปลงศพเพียงใด และโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 8 ควรได้รับค่าขาดไร้อุปการะเพียงใด ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยรวมกันไปโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 7 ฎีกาว่า โจทก์ที่ 2 และที่ 4แม้จะบรรจุนิติภาวะแล้วแต่ยังอยู่ระหว่างการศึกษาซึ่งขณะมีชีวิตผู้ตายได้ให้การอุปการะและการศึกษามาตลอด ตามกฎหมายบิดามารดาต้องให้อุปการะเลี้ยงดูบุตรมิใช่เพียงเฉพาะผู้เยาว์ที่ไม่บรรลุนิติภาวะเท่านั้นแต่จะต้องให้อุปการะเลี้ยงดูบุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้ว ซึ่งยังไม่มีงานทำหรือไม่มีรายได้ต่อไปตามหน้าที่ศีลธรรมอีกด้วย โจทก์ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 7 จึงชอบที่จะเรียกค่าขาดไร้อุปการะเป็นเวลา 10 ปี นับแต่วันทำละเมิดและจำนวนเงินค่าขาดไร้อุปการะก็ชอบที่จะได้รับเต็มจำนวนตามฟ้องทุกคน ส่วนจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยที่ 2 ชดใช้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 8 สูงเกินไป เห็นว่า สำหรับค่าปลงศพนั้น โจทก์ที่ 1 เบิกความว่า โจทก์ที่ 1 ทำศพนายสำเริงทั้งประเพณีไทยและจีนเนื่องจากผู้ตายเป็นคนเชื้อชาติจีนสิ้นค่าใช้จ่ายรวมเป็นเงิน 76,692 บาท ตามรายละเอียดค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพ บิลเงินสด 4 ฉบับ ใบรับการ์ดงานศพ และใบรับค่าบำรุงวัดเวตวันธรรมาวาสเอกสารหมาย จ.25 ถึง จ.31จำเลยที่ 2 มิได้นำสืบหรือฎีกาโต้เถียงว่า รายการค่าใช้จ่ายตามเอกสารดังกล่าวไม่ถูกต้องประการใดบ้างปรากฏว่าตามรายละเอียดค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพเอกสารหมาย จ.25ระบุค่าใช้จ่ายแต่ละรายการไว้โดยละเอียดโดยทุกรายการเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการจัดงานศพรวมเป็นเงิน 76,692 บาทแต่ได้รวมรายการค่ารักษาพยาบาลจำนวน 8,507 บาท ไว้ด้วยเมื่อหักรายการค้ารักษาพยาบาลออกแล้วจะเป็นเงินค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพจำนวน 68,185 บาท เนื่องจากผู้ตายมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าหมวดบัญชีค่าโดยสารสาย 16 ได้รับเงินเดือน8,317.75 บาท ค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพจำนวนดังกล่าวจึงเหมาะสมแก่ฐานะนุรูปของผู้ตายแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพเป็นเงินจำนวน 68,185 บาท จึงเป็นจำนวนที่สมควร
สำหรับค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ทั้งแปดนั้น สำหรับโจทก์ที่ 2 ปัญหาที่ว่าโจทก์ที่ 2 มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมายได้หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายจึงไม่ต้องห้ามฎีกาในส่วนค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของผู้ตายนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 วรรคสอง บัญญัติว่า”สามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน” โจทก์ที่ 1 มีอายุ 47 ปี ส่วนผู้ตายตามมรณบัตรเอกสารหมาย จ.9 ปรากฏว่ามีอายุ 50 ปี ย่อมเห็นได้ว่าโจทก์ที่ 1มีโอกาสได้รับอุปการะตามกฎหมายได้ไม่น้อยกว่า 10 ปี ที่โจทก์ที่ 1เรียกค่าขาดไร้อุปการะเป็นระยะเวลา 10 ปี จึงเป็นระยะเวลาที่สมควรส่วนโจทก์ที่ 2 และที่ 4 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 2 และที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรมีอายุเกิน 20 ปี เป็นบุคคลบรรลุนิติภาวะแล้วซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคสามบัญญัติว่า “ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลคนหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ท่านว่าบุคคลนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น” อันมีความหมายชัดแจ้งว่าค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะจะต้องเป็นการขาดไร้อปุการะตามกฎหมายหาได้มีความหมายรวมไปถึงการขาดไร้อุปการะตามหน้าที่ศีลธรรมดังโจทก์ทั้งแปดฎีกาไม่ในข้อที่บิดาจำต้องให้อุปการะเลี้ยงดูตามกฎหมายแก่บุตรนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 บัญญัติว่า”บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่เฉพาะผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้” เมื่อขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 2 และที่ 4บรรลุนิติภาวะแล้วและข้อเท็จจริงก็ฟังได้ว่า โจทก์ที่ 2 และที่ 4มิใช่ผู้ทุกพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ โจทก์ที่ 2 และที่ 4จึงไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับค่าขาดไร้อุปการะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคสาม สำหรับโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 8 แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่ายังไม่บรรลุนิติภาวะแต่ก็จะได้รับค่าอุปการะเท่าที่อยู่ในข่ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคสาม บัญญัติไว้กล่าวคือ เท่าที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเว้นแต่จะเป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ ซึ่งข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งแปดนำสืบก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 8 เป็นผู้ทุพพลภาพแต่อย่างใดโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 8 แต่ละคนจึงมีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมายรับแต่วันเกิดเหตุไปจนกระทั่งมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์อันเป็นบุคคลที่พ้นจากภาวะผู้เยาว์และเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะหาใช่แต่ละคนมีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะไปจนถึง 10 ปีนับจากวันเกิดเหตุดังโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 8 ฎีกาไม่ สำหรับอายุของโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 8 นับจากวันเกิดเหตุจนกระทั่งแต่ละคนมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ นั้น ปรากฏว่าโจทก์ที่ 5 จะมีอายุครบ20 ปี ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2533 เมื่อนับจากวันเกิดเหตุจนมีอายุครบ 20 ปี จะเป็นระยะเวลาประมาณ 7 เดือนโจทก์ที่ 6 จะมีอายุครบ 20 ปี ในวันที่ 22 ตุลาคม 2535เมื่อนับจากวันเกิดเหตุจนมีอายุครบ 20 ปี จะเป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี 6 เดือน โจทก์ที่ 7 จะมีอายุครบ 20 ปี ในวันที่27 เมษายน 2538 เมื่อนับจากวันเกิดเหตุจนมีอายุครบ 20 ปีจะเป็นระยะเวลาประมาณ 5 ปี โจทก์ที่ 8 จะมีอายุครบ 20 ปีในวันที่ 5 กันยายน 2540 เมื่อนับจากวันเกิดเหตุจนมีอายุครบ20 ปี จะเป็นระยะเวลาประมาณ 7 ปี 5 เดือน ส่วนโจทก์ที่ 3เป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้จึงไม่อยู่ในข่ายที่จะคำนวณระยะเวลาค่าขาดไร้อุปการะไปจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะหรือไม่จะต้องคำนวณระยะเวลาตามความเหมาะสมของอายุผู้ตายและโจทก์ที่ 3 ซึ่งในข้อนี้โจทก์ที่ 3 เรียกค่าขาดไร้อุปการะมีกำหนด 10 ปี จึงเป็นระยะเวลาที่สมควร อย่างไรก็ดีในชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คัดค้านว่าค่าขาดไร้อุปการะโจทก์ที่ 3ที่ศาลชั้นต้นกำหนดมาสูงเกินไป แต่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยในปัญหาข้อนี้ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเสียก่อน สำหรับจำนวนค่าสินไหมทดแทนกรณีค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 8 นั้นเนื่องจากค่าขาดไร้อุปการะดังกล่าวโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 8ล้วนเรียกมาจากเหตุที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงต้องอาศัยรายได้ของผู้ตายที่สามารถจะให้อุปการะโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 5ถึงที่ 8 ได้เป็นหลักในการคำนวณศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าผู้ตายมีรายได้เสริมนอกจากเงินเดือนจำนวน8,317.75 บาท จำนวนไม่มาก ดังนั้นที่โจทก์ที่ 1 ฎีกาเรียกค่าขาดไร้อุปการะเป็นเงิน 566,000 บาท จึงสูงเกินไป แต่ขณะเกิดเหตุผู้ตายมีอายุ 50 ปี โจทก์ที่ 1 มีอายุประมาณ 47 ปีค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 8 ซึ่งชนะคดีทั้งหมดที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่ามีไม่เกิน 100,000 บาท จึงต่ำไปที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน400,000 บาท จึงเป็นจำนวนที่สมควร เมื่อโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของผู้ตายและเป็นมารดาของโจทก์ที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 8 ได้รับค่าขาดไร้อุปการะเป็นจำนวนเงิน 400,000 บาท แล้ว โจทก์ที่ 3ที่ 5 ถึงที่ 8 ควรได้รับค่าขาดไร้อุปการะโดยคำนึงว่าโจทก์ที่ 1ผู้เป็นภริยาได้รับไปบ้างแล้ว ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้แก่โจทก์ที่ 3 ผู้ทุพพลภาพเป็นจำนวนเงิน180,000 บาท จึงสูงเกินไป เห็นสมควรกำหนดให้เป็นเงิน100,000 บาท โจทก์ที่ 5 มีอายุที่มีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะประมาณ 7 เดือนที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าขาดไร้อุปการะเป็นเงิน20,000 บาท จึงสูงเกินไป สมควรกำหนดให้เป็นเงิน 10,000 บาทโจทก์ที่ 6 มีอายุที่มีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะประมาณ 2 ปี6 เดือน ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าขาดไร้อุปการะเป็นเงิน40,000 บาท จึงสูงเกินไป เห็นสมควรกำหนดให้เป็นเงิน36,000 บาท โจทก์ที่ 7 มีอายุที่มีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะประมาณ 5 ปี ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าขาดไร้อุปการะเป็นเงิน160,000 บาท จึงสูงเกินไป เห็นสมควรกำหนดให้เป็นเงิน72,000 บาท โจทก์ที่ 8 มีอายุที่มีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะประมาณ 7 ปี 5 เดือน ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าขาดไร้อุปการะเป็นเงิน 240,000 บาท จึงสูงเกินไป เห็นสมควรกำหนดให้เป็นเงิน 106,000 บาท
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อต่อไปมีว่าที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องชอบหรือไม่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ค่าขาดไร้อุปการะในวันฟ้องยังมีจำนวนไม่แน่นอน ควรที่จะกำหนดนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษานอกจากนี้ในวันยื่นคำฟ้อง ศาลยังไม่ได้รับคำฟ้องโจทก์ทั้งแปดเพราะโจทก์ทั้งแปดขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา หากจะกำหนดให้ก่อนวันมีคำพิพากษาก็ควรจะเป็นวันที่ศาลมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งแปดดำเนินคดีอย่างคนอนาถา เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 บัญญัติว่า”ในกรณีหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด” และจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระแก่โจทก์ทั้งแปดนั้นศาลได้กำหนดเป็นจำนวนเงินที่แน่นอน เป็นหนี้เงินที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระทันที จำเลยทั้งสองจึงต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดการที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องจึงเป็นผลดีแก่จำเลยทั้งสองอยู่แล้ว
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาข้อต่อมาว่า โจทก์ทั้งแปดได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลแล้ว ไม่มีกฎหมายกำหนดให้จำเลยทั้งสองนำค่าธรรมเนียมศาลมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ทั้งแปดดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 158 บัญญัติว่า”ถ้าศาลเห็นว่า คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นผู้รับผิดเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดหรือแต่บางส่วนของคู่ความทั้งสองฝ่ายให้ศาลพิพากษาในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมโดยสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งนั้นชำระต่อศาลในนามของบุคคลผู้ฟ้องหรือต่อสู้ความอย่างคนอนาถา ซึ่งค่าฤชาธรรมเนียมที่ผู้ฟ้องหรือต่อสู้ความอย่างคนอนาถานั้นได้ยกเว้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตามที่ศาลเห็นสมควร” ดังนี้ ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยทั้งสองธรรมเนียมเฉพาะส่วนที่โจทก์ทั้งแปดชนะคดีได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาได้ อนึ่ง หนี้ที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ฎีกาและศาลฎีกากำหนดค่าสินไหมทดแทนกรณีขาดไร้อุปการะที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดน้อยลงแม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดเท่ากับจำเลยที่ 2 ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 100,000 บาท แก่โจทก์ที่ 5 จำนวน10,000 บาท แก่โจทก์ที่ 6 จำนวน 36,000 บาท แก่โจทก์ที่ 7จำนวน 72,000 บาท และแก่โจทก์ที่ 8 จำนวน 106,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share