คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3368/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ไปจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากที่ดิน โดยอ้างว่าโจทก์ได้ผ่อนชำระค่าไถ่ถอนให้จำเลยจำนวน 74,500 บาท ครบถ้วนตามสัญญาขายฝากแล้วและมีคำขอให้บังคับจำเลยทำการเพิกถอนนิติกรรมสัญญาขายฝากและคืนโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ไปดำเนินการจดทะเบียนไถ่ถอน ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา จำเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์มิได้ไถ่ถอนที่ดินภายในกำหนด ที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแล้ว ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์มิได้กล่าวอ้างหรือตั้งประเด็นเกี่ยวกับความรับผิดฐานลาภมิควรได้และมีคำขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวน 67,500 บาท ที่ชำระไปแก่โจทก์ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่า โจทก์มิได้ใช้สิทธิไถ่ถอนภายในกำหนด จึงหมดสิทธิไถ่ถอนที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 492 กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตกเป็นของจำเลยโดยเด็ดขาด แต่เห็นว่าเงินไถ่ถอนจำนวน 67,500 บาท จำเลยรับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ ต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ แล้วพิพากคืนเงินจำนวน 67,500 บาท แก่โจทก์ จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอและเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากที่ดินและคืนโฉนดที่ดินแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2539 โจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยจำนวน 100,000 บาท โจทก์จึงได้จดทะเบียนขายฝากที่ดินแก่จำเลยเป็นเงิน 70,000 บาท โดยอ้างว่าเพื่อลดค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียน ส่วนเงินที่โจทก์รับไปอีก 30,000 บาท มิได้ทำหลักฐานการกู้ยืมไว้ โจทก์ตกลงชำระดอกเบี้ยทุกเดือนในอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน ของต้นเงิน 100,000 บาท แต่โจทก์ไม่ได้ชำระดอกเบี้ยเป็นเวลาหลายเดือน จำเลยทวงถาม โจทก์จึงให้จำเลยเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารและนำเงินเข้าบัญชีของจำเลยได้ 6 งวด เป็นเงิน 67,500 บาท เงินจำนวนดังกล่าวเป็นการชำระดอกเบี้ยและเงินกู้ มิใช่เงินชำระราคาขายฝาก เงินที่โจทก์ชำระจึงยังไม่ครบ 70,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน แต่ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 67,500 บาท แก่โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวน 67,500 บาท แก่โจทก์เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ไปจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากที่ดิน โดยอ้างว่าโจทก์ได้ผ่อนชำระค่าไถ่ถอนให้จำเลยจำนวน 74,500 บาท ครบถ้วนตามสัญญาขายฝากแล้ว และมีคำขอให้บังคับจำเลยทำการเพิกถอนนิติกรรมสัญญาขายฝากและคืนโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ไปดำเนินการจดทะเบียนไถ่ถอน ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา จำเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์มิได้ไถ่ถอนที่ดินภายในกำหนด ที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแล้ว เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์มิได้กล่าวอ้างหรือตั้งประเด็นเกี่ยวกับความรับผิดฐานลาภมิควรได้และมีคำขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวน 67,500 บาท ที่ชำระไปให้แก่โจทก์ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่าโจทก์มิได้ใช้สิทธิไถ่ถอนภายในกำหนด จึงหมดสิทธิไถ่ถอนที่ดินพิพาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 492 กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตกเป็นของจำเลยโดยเด็ดขาด แต่เห็นว่าเงินไถ่ถอนจำนวน 67,500 บาท จำเลยได้รับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ ต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้วพิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวน 67,500 บาท แก่โจทก์ จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอและเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ตัดข้อความที่ว่า “แต่ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 67,500 บาท แก่โจทก์” ออกจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share