แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยนำเครื่องวิทยุคมนาคม 6 เครื่อง มาทำให้เกิดคลื่นความถี่วิทยุและลักลอบใช้เป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบมือถือของบุคคลอื่นรวม 6 หมายเลข แล้วนำออกให้ประชาชนเช่าใช้บริการนาทีละ 3 บาท เป็นการแสวงหาประโยชน์ส่วนตน โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่นซึ่งเป็นเจ้าของคลื่น ซึ่งได้รับใบอนุญาตและระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ นับเป็นพฤติการณ์ร้ายแรง ไม่สมควรรอการลงโทษให้จำเลย
ความผิดฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นความผิดเพราะจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตส่วนความผิดฐานทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคมเป็นความผิด เพราะจำเลยจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคม ซึ่งแม้จำเลยจะมีวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยได้รับหรือไม่ได้รับใบอนุญาตก็ตาม หากจำเลยจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคมก็เป็นความผิดฐานนี้แล้วความผิดทั้งสองฐานนี้จึงมีองค์ประกอบความผิดแตกต่างกันจำเลยจึงมีความผิด 2 กรรมต่างกัน แต่เมื่อโจทก์มิได้ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยเป็น 2 กรรม ศาลฎีกาไม่อาจแก้ไขในเรื่องโทษได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือจำเลยมีเครื่องวิทยุคมนาคมชนิดมือถือของบุคคลอื่น 6 เครื่อง พร้อมแบตเตอรี่ 10 ก้อน เครื่องเขียนรหัส 1 เครื่อง แท่นชาร์จ 3 ชุด และเอกสารหมายเลขโทรศัพท์ 40 แผ่น ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และจำเลยใช้เครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ดังกล่าวทำให้เกิดคลื่นความถี่วิทยุภาคส่งที่ 824.040 – 848.970 เมกะเฮิรตซ์ และ 896.040 -893.970 เมกะเฮิรตซ์ กำลังส่ง 0.6 วัตต์ โดยลักลอบใช้เป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบมือถือระบบ เอ เอ็ม พี เอส 800 เป็นหมายเลขโทรศัพท์มือถือของบุคคลอื่นรวม 6 หมายเลขแล้วนำออกให้ประชาชนเช่าใช้บริการนาทีละ 3 บาท อันเป็นการดัก รับไว้ ใช้ประโยชน์ซึ่งข่าววิทยุคมนาคมที่มิได้มุ่งหมายเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติหรือประชาชนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมายและจงใจกระทำให้เกิดการรบกวน หรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคม ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายเหตุเกิดที่ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมยึดเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ดังกล่าวที่จำเลยมีและใช้ กับเงินสดจำนวน 900 บาท ซึ่งเป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 4, 6, 17, 22, 23, 25, 26ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91 ริบเครื่องวิทยุคมนาคม พร้อมอุปกรณ์ของกลางเพื่อใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข และริบเงินสดจำนวน 900 บาทของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคมพ.ศ. 2498 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง, 17, 23, 25, 26 ความผิดฐานดักรับไว้ใช้ประโยชน์ซึ่งข่าววิทยุคมนาคมที่มิได้มุ่งหมายเพื่อประโยชน์สาธารณะ กับความผิดฐานกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคม เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษในความผิดฐานกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 2 ปี ความผิดฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี ริบเครื่องวิทยุคมนาคม พร้อมอุปกรณ์ของกลางเพื่อให้ไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลขและริบเงินสดจำนวน 900 บาท ของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และความผิดฐานใช้เครื่องวิทยุคมนาคมเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษในความผิดฐานใช้เครื่องวิทยุคมนาคมกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคม อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า มีเหตุสมควรลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยนำเครื่องวิทยุคมนาคมจำนวนถึง 6 เครื่อง มาทำให้เกิดคลื่นความถี่วิทยุและลักลอบใช้เป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบมือถือของบุคคลอื่นรวม 6 หมายเลข แล้วนำออกให้ประชาชนเช่าใช้บริการนาทีละ 3 บาท เป็นการแสวงหาประโยชน์ส่วนตนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่นซึ่งเป็นเจ้าของคลื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตและระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศนับเป็นพฤติการณ์ที่ร้ายแรงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำคุกและไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยนั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาว่า ความผิดฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมและความผิดฐานใช้เครื่องวิทยุคมนาคมเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานใช้เครื่องวิทยุคมนาคมกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคมอันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 นั้น เห็นว่า ความผิดฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และความผิดฐานกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคมมีองค์ประกอบความผิดแตกต่างกัน กล่าวคือ ความผิดฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นความผิดเพราะจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจออกใบอนุญาต ส่วนความผิดฐานกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคม เป็นความผิด เพราะจำเลยจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคม ซึ่งแม้จำเลยจะมีเครื่องวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยได้รับหรือไม่ได้รับใบอนุญาตก็ตาม หากจำเลยจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคมก็เป็นความผิดฐานนี้เช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5พิพากษาว่า ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวเป็นความผิดกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องด้วย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองแต่เนื่องจากโจทก์มิได้ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยเป็น 2 กรรม ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขในเรื่องโทษให้ผิดไปจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามา เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตกระทงหนึ่ง และฐานกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคมอีกกระทงหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5