แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยวิธีจับสลากเพื่อคัดเลือกพนักงานที่ต้องพ้นหน้าที่ไป มิใช่เนื่องจากมีพนักงานมากเกินความจำเป็น แต่มีสาเหตุเนื่องจากจำเลยไม่พอใจสามีโจทก์ที่เป็นที่ปรึกษาสหภาพแรงงานปากกาไพล๊อต จึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำเลยอุทธรณ์ว่า ในการวินิจฉัยประเด็นว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น ศาลจะต้องพิจารณาตามข้อต่อสู้ของจำเลยก่อนว่ามีเหตุผลในการเลิกจ้างโจทก์อย่างไรหรือไม่ แต่ศาลแรงงานกลางกลับวินิจฉัยข้อกล่าวอ้างของโจทก์ก่อน และวินิจฉัยแต่เพียงคำเบิกความของพยานโจทก์และพยานเอกสารของโจทก์เท่านั้น ทำให้จำเลยเสียเปรียบ ศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยว่า การจับสลากนั้นจำเลยใช้กลอุบายหลอกลวงโจทก์อย่างไรหรือไม่ จึงเป็นการวินิจฉัยที่ขัดต่อข้อเท็จจริง และเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ปรากฏจากคำเบิกความของพยานฝ่ายใด และปรากฏจากคำเบิกความของพยานจำเลยว่า จำเลยมีความจำเป็นต้องนำเครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้ ข้อเท็จจริงจึงสรุปได้เป็นยุติว่า จำเลยจำเป็นต้นลดจำนวนพนักงานในหน่วยงานที่โจทก์ทำงาน ซึ่งเป็นเหตุผลที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ด้วยวิธีจับสลากนั้น อุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี ๒๕๑๙ จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำได้รับค่าจ้างสุดท้ายเดือนละ ๕,๙๕๐ บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ ๓๐ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๓๒ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยวิธีจับสลาก อ้างว่ามีพนักงานเกินความจำเป็น ความจริงเหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากสามีโจทก์เป็นที่ปรึกษาสหภาพแรงงานปากกาไพล๊อต จึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
จำเลยให้การต่อสู้คดี
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน ๖๕,๐๐๐ บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่ขาดเป็นเงิน ๑,๙๘๓ บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ว่า ในการวินิจฉัยปัญหาตามประเด็นที่ศาลแรงงานกลางกำหนดว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ศาลจะต้องพิจารณาตามข้อต่อสู้ของจำเลยก่อนว่ามีเหตุผลในการเลิกจ้างโจทก์อย่างไรหรือไม่ แต่ศาลแรงงานกลางพิจารณาวินิจฉัยแต่เพียงคำเบิกความของพยานโจทก์และพยานเอกสารของโจทก์เท่านั้น และยังเป็นการพิจารณาวินิจฉัยข้อกล่าวอ้างของโจทก์ก่อนที่จะพิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างของจำเลย อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ ทั้งที่ศาลแรงงานกลางก็รับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติแล้วว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยวิธีจับสลาก เพื่อคัดเลือกพนักงานที่ต้องพ้นหน้าที่ไป ซึ่งผลการจับสลากโจทก์เป็นผู้ที่ต้องพ้นจากการเป็นพนักงานของจำเลย ศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยว่า การจับสลากนั้นจำเลยใช้กลอุบายหลอกลวงโจทก์อย่างไรหรือไม่ การที่ศาลแรงงานกลางรับฟังคำเบิกความของพยานโจทก์และพยานเอกสารของโจทก์แล้ววินิจฉัยว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากจำเลยไม่พอใจสามีโจทก์ที่เป็นที่ปรึกษาสหภาพแรงงานปากกาไพล๊อต เป็นการวินิจฉัยที่ขัดต่อข้อเท็จจริงข้างต้นและเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ปรากฏจากคำเบิกความของพยานฝ่ายใด ถือได้ว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยวิธีการจับสลากตามที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุตินั้น เป็นการถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย ไม่ปรากฎว่าเป็นการกลั่นแกล้งแต่ประการใดที่ชี้ชัดว่าโจทก์ถูกเลิกจ้าง เพราะเหตุที่สามีโจทก์เป็นที่ปรึกษาสหภาพแรงงานปากกาไพล๊อต อีกทั้งจากคำเบิกความของนางสาวเรวดี กิติพงศ์ไพโรจน์ พยานจำเลยที่เบิกความถึงเหตุผลของจำเลยในการนำเครื่องคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้งานในสำนักงานของจำเลยและผลกระทบที่มีต่อหน่วยงานของจำเลยและตัวโจทก์เองเบิกความรับว่า การที่จำเลยนำเครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้ในบริษัทจำเลยก็เพื่อความถูกต้องและรวดเร็ว และในกรณีที่โจทก์ไม่อยู่ นางสาวสุรีรัตน์ เอี้ยวตระกูล ก็สามารถทำงานแทนโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงจึงสรุปได้เป็นยุติว่า จำเลยมีความจำเป็นที่ต้องนำเครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้และจำเลยจำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานในหน่วยงานที่โจทก์ทำงาน ซึ่งเป็นเหตุผลที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ด้วยวิธีการจับสลาก แต่ศาลแรงงานกลางมิได้หยิบยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย พิเคราะห์แล้ว ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยวิธีจับสลากเพื่อคัดเลือกพนักงานที่ต้องพ้นหน้าที่ไป มิใช่เนื่องจากมีพนักงานมากเกินความจำเป็น แต่มีสาเหตุเนื่องจากจำเลยไม่พอใจสามีโจทก์ที่เป็นที่ปรึกษาสหภาพแรงงานปากกาไพล๊อต อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกอุทธรณ์จำเลย