คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3364/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้สัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินจะมีลายมือชื่อโจทก์ลงไว้ในช่องผู้จะซื้อคู่กับลายมือชื่อของจำเลย แต่ข้อความตอนต้นของสัญญาระบุชัดว่าจำเลยเป็นคู่สัญญาในฐานะผู้จะซื้อ ทั้งสัญญาฉบับดังกล่าวได้ทำขึ้นในวันเดียวกับวันที่โจทก์จำเลยทำพิธีหมั้นกันจึงเป็นเหตุผลน่าเชื่อว่าโจทก์ตกลงซื้อบ้านและที่ดิน และมอบสัญญาจะซื้อจะขายแก่จำเลยเป็นของหมั้นในวันทำพิธีหมั้นด้วยมิฉะนั้นแล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินในนามของจำเลยและไม่มีความจำเป็นต้องทำสัญญากันในวันหมั้น ต่อมาเมื่อบ้านก่อสร้างเสร็จก็ได้มีการโอนบ้านและที่ดินเป็นชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์ซึ่งเป็นการโอนที่สืบเนื่องโดยตรงจากสัญญาจะซื้อจะขายที่ทำกันในวันหมั้นนั้นเอง จึงฟังได้ว่าบ้านและที่ดินตามฟ้องเป็นทรัพย์ที่โจทก์มอบแก่จำเลยเป็นของหมั้นในวันหมั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2527 โจทก์ได้ซื้อบ้านแบบทาวน์เฮาส์พร้อมที่ดินจากนางจรัญญาในราคา 780,000 บาทเนื่องจากโจทก์เป็นคนต่างด้าวไม่มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินดังกล่าว โจทก์จึงให้จำเลยเป็นคู่สัญญาซื้อบ้านและที่ดินโดยโจทก์เป็นผู้ชำระเงิน นางจรัญญาได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2527โดยใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์แทน ต่อมาโจทก์ต้องการบ้านและที่ดินคืนจึงติดต่อทวงถามให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบบ้านพร้อมที่ดินแก่โจทก์จำเลยเพิกเฉยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบและโอนกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ และใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า โจทก์ได้มอบให้นายประสิทธิ์มาสู่ขอจำเลยต่อบิดามารดาเพื่อขอหมั้นและสมรสด้วย โดยตกลงให้ของหมั้นแก่จำเลยเป็นบ้านและที่ดินพร้อมกับเครื่องประดับอีกสองสามชิ้นและเงินสดอีกจำนวนหนึ่ง ต่อมาวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2527 โจทก์พาจำเลยไปทำสัญญาจะซื้อขายบ้านและที่ดินพิพาท โดยโจทก์และจำเลยลงนามร่วมกันในฐานะผู้จะซื้อ โจทก์ได้นำเอาของหมั้นต่าง ๆรวมทั้งสัญญาจะซื้อขายบ้านและที่ดินแปลงพิพาทส่งมอบให้แก่จำเลยในงานหมั้น บ้านและที่ดินพิพาทจึงเป็นของหมั้นที่โจทก์ให้ไว้แก่จำเลยเป็นหลักฐานการหมั้นและประกันว่าจะสมรสกับจำเลยต่อมาวันที่ 17 พฤษภาคม 2527 ได้มีการจดทะเบียนโอนขายกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินแปลงพิพาทให้แก่จำเลย จำเลยจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินโดยชอบ ต่อมาโจทก์กับจำเลยไม่ได้ประกอบพิธีสมรสกันโดยโจทก์อ้างว่าภรรยาและครอบครัวของโจทก์ไม่ยินยอมให้โจทก์สมรสกับจำเลย โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยส่งมอบบ้านและที่ดินพิพาทคืนโจทก์ และไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่จำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินตามฟ้องเป็นการถือกรรมสิทธิ์แทนโจทก์หรือโจทก์มอบเป็นของหมั้นให้แก่จำเลย เห็นว่า สัญญาจะซื้อจะขายบ้านพร้อมที่ดินตามเอกสารหมาย จ.2 แม้จะมีลายมือชื่อโจทก์ลงไว้ในช่องผู้จะซื้อคู่กับลายมือชื่อของจำเลยก็ตาม แต่ข้อความตอนต้นของสัญญาระบุชัดว่าจำเลยเป็นคู่สัญญาในฐานะผู้จะซื้อในราคา 780,000 บาท ทั้งสัญญาฉบับดังกล่าวได้ทำขึ้นในวันเดียวกับวันที่โจทก์จำเลยทำพิธีหมั้นกันจึงเป็นเหตุผลน่าเชื่อว่าโจทก์ตกลงซื้อบ้านและที่ดินตามฟ้องในวงเงิน 780,000 บาท และมอบสัญญาจะซื้อจะขายแก่จำเลยเป็นของหมั้นในวันทำพิธีหมั้นด้วยมิฉะนั้นแล้วก็ไม่มีความจำเป็นต้องทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินในนามของจำเลยและไม่มีความจำเป็นต้องทำสัญญากันในวันหมั้น ต่อมาเมื่อบ้านดังกล่าวก่อสร้างเสร็จก็ได้มีการโอนบ้านและที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายเป็นชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2527 ตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ซึ่งเป็นการโอนที่สืบเนื่องโดยตรงจากสัญญาจะซื้อจะขายที่ทำกันในวันหมั้นนั้นเอง จึงฟังได้ว่าบ้านและที่ดินตามฟ้องเป็นทรัพย์ที่โจทก์มอบแก่จำเลยเป็นของหมั้นในวันหมั้น และเมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น โจทก์จึงไม่อาจฟ้องเรียกบ้านและที่ดินตามฟ้องซึ่งเป็นของหมั้นคืน
พิพากษายืน

Share