คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3364/2527

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 304 มุ่งประสงค์ คุ้มครองถึงบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต ด้วยจึงบัญญัติ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งให้ เจ้าพนักงานที่ดินผู้มี หน้าที่ทราบ และให้เจ้าพนักงานที่ดิน บันทึกการยึดไว้ ในทะเบียน เมื่อผู้ร้องซื้อและรับโอนที่พิพาท ในวันเดียว กับที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึด โดยรับโอน ภายหลังการยึด แต่ต่างเวลากัน เจ้าพนักงานที่ดินยังไม่ได้ รับแจ้งการ ยึดจากเจ้าพนักงานบังคับคดี ดังนี้ จึงใช้ยัน ผู้ร้องซึ่ง รับโอนโดยสุจริตไม่ได้

ย่อยาว

ชั้นบังคับคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 164332ฯ ระหว่าง ส.ต.ต.สำเนียง เดือนตะคุ กับพวกเสีย และให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ถอนการยึดที่พิพาทโจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ผู้ร้องนำสืบว่าได้ติดต่อซื้อที่พิพาทผ่านนางแหนงหรือสีดาแม่ยายจำเลยก่อนทำการโอนประมาณ 3 เดือน ในราคา25,000 บาท ชำระเป็นงวด 2 งวด งวดแรก 13,000 บาท งวดหลังชำระอีก12,000 บาทในวันโอน ในสัญญาซื้อขายระบุราคาไว้เพียง 12,000 บาท เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียมโอน ผู้ร้องไม่เคยรู้ถึงเรื่องระหว่างโจทก์กับจำเลยและไม่รู้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์พิพาทไว้ก่อนแล้ว เจ้าพนักงานที่ดินก็แจ้งให้ทราบว่าที่พิพาทไม่ติดภาระผูกพันใด ๆ โอนกันได้จึงตกลงซื้อ

ศาลไม่อนุญาตให้โจทก์ระบุพยานและสืบพยานโจทก์

พิเคราะห์แล้ว ปัญหาข้อแรกที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าผู้ร้องรับโอนที่ดินพิพาทโดยรู้ถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบหรือไม่ ผู้ร้องเบิกความว่าไม่รู้เรื่องที่จำเลยถูกโจทก์ฟ้องและไม่รู้ถึงว่าทรัพย์พิพาทถูกเจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ก่อน นายอรรถสิทธิ์เวชยานนท์ เจ้าพนักงานที่ดินผู้ทำการโอนก็เบิกความว่า การจดทะเบียนโอนต้องตรวจดูว่าที่ดินมีการอายัดไว้หรือไม่เสียก่อนจึงจะโอนให้ได้ โจทก์ไม่มีพยานมาสืบหักล้างในประเด็นนี้เลย จึงต้องฟังว่าผู้ร้องรับโอนไว้โดยสุจริตมีค่าตอบแทนและไม่รู้ถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบ

ปัญหาที่จะวินิจฉัยต่อไปมีว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์พิพาทไว้ก่อนผู้ร้องรับโอน โดยเจ้าพนักงานบังคับคดียังไม่ได้แจ้งการยึดให้เจ้าพนักงานที่ดินผู้มีหน้าที่ทราบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 304 วรรคแรก จะใช้ยันแก่โจทก์หรือเจ้าพนักงานบังคับคดีดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 305(1) ได้หรือไม่ เห็นว่าบทบัญญัติแห่งมาตรา 304 มุ่งประสงค์คุ้มครองถึงบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยทุจริตด้วย จึงบัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินผู้มีหน้าที่ทราบและให้เจ้าพนักงานที่ดินบันทึกการยึดไว้ในทะเบียน คดีนี้ผู้ร้องรับโอนที่พิพาทในวันเดียวกับที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึด ทั้งนี้โดยรับโอนภายหลังการยึดแต่ต่างเวลากันเจ้าพนักงานที่ดินยังไม่ได้รับการแจ้งการยึดจากเจ้าพนักงาานบังคับคดี จึงใช้ยันผู้ร้องซึ่งรับโอนโดยสุจริตไม่ได้ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share