แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเคยแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่าไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นคนร้ายยิงสามีจำเลย ต่อมาจำเลยแจ้งเพิ่มเติมว่าโจทก์เป็นคนร้ายพนักงานสอบสวนจึงดำเนินคดีแก่โจทก์ แม้ต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องโจทก์ ก็ยังถือไม่ได้ว่าคำกล่าวหาของจำเลยเป็นความเท็จ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๒, ๑๗๔, ๑๘๑
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๒ ข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งหมด
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มูลเหตุที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ก็โดยอาศัยข้อเท็จจริงจากถ้อยคำของจำเลยที่แจ้งต่อพนักงานสอบสวนในคืนเกิดเหตุที่สามีจำเลยถูกคนร้ายยิงตายว่าจำเลยไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นคนร้าย แต่ภายหลังจำเลยกลับนำความไปแจ้งเพิ่มเติมต่อพนักงานสอบสวนว่า คืนเกิดเหตุจำเลยเห็นและจำคนร้ายได้ โจทก์เป็นคนร้ายคนหนึ่งในจำนวน ๓ คน จึงเป็นผลให้โจทก์ต้องถูกจับเป็นผู้ต้องหา แต่ในที่สุดพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องโจทก์ศาลฎีกาเห็นว่า ลำพังข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบเพียงเท่านี้ ไม่เป็นเหตุผลที่จะชี้ให้เห็นเจตนาอันไม่สุจริตของจำเลยได้ว่านำเอาความเท็จซึ่งตนรู้ดีอยู่แล้วมาแกล้งกล่าวหาปรักปรำโจทก์ให้ต้องถูกจับดำเนินคดี อันจะทำให้จำเลยมีความผิดตามฟ้อง เพราะการที่จำเลยกล่าวความสองครั้งไม่ตรงกันนั้น โจทก์ก็หาได้พิสูจน์ให้เห็นได้ว่า ข้อความที่จำเลยกล่าวหาโจทก์ต่อพนักงานสอบสวนในชั้นหลังว่าเป็นคนร้ายนั้นเป็นเท็จ ตรงกันข้ามกลับปรากฏจากคำเบิกความของพันตำรวจโทศักดิ์ชัย พยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนว่าพยานได้ทำสำนวนเสร็จและมีความเห็นควรสั่งฟ้อง แสดงว่าข้อกล่าวหาของจำเลยนั้นมีมูลอยู่ การที่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องโจทก์นั้นจึงหาแปลความหมายเลยไปถึงว่าคำกล่าวหาของจำเลยเป็นเท็จไม่เพราะหากถือเช่นนั้นแล้ว คดีทุกเรื่องที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องก็ดี หรือแม้แต่คดีที่ศาลพิพากษายกฟ้องก็ดี ก็จะกลายเป็นว่าผู้เสียหายหรือผู้ให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนเหล่านั้นอาจถูกกล่าวหาว่าแจ้งความเท็จ หรือให้การเท็จเสมอไป ซึ่งว่าโดยเหตุผลแล้วหาได้เป็นดังที่โจทก์เข้าใจไม่
พิพากษายืน.