แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมลงนามเป็นพยานในพินัยกรรมด้วยนั้นมีผลทำให้เป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมนั้นไม่ได้แต่สภาพแห่งการลงนามเป็นพยานในพินัยกรรมนั้นและพินัยกรรมนั้นยังสมบูรณ์อยู่สำหรับผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมที่ไม่ได้ลงนามเป็นพยานด้วยผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมลงนามเป็นผู้รับมอบทรัพย์ตามพินัยกรรมนั้นได้ไม่ถือว่าการลงนามนั้นเป็นพยานในพินัยกรรม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นายแปลก นางหม้ง ตายไปแล้ว โดยนางหม้งตายเมื่อ 18 กรกฎาคม 2501 ก่อนตายนางหม้งมีที่ดินสวนยาง 2 แปลงแปลง ก. ราคา 4,000 บาท แปลง ข. ราคา 2,000 บาท โจทก์เป็นบุตรผู้ตาย จึงครอบครองต่อมา เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2501 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอรับมรดกที่สวนยางทั้งสองแปลง โดยจำเลยที่ 1 ขอรับแปลง ก. จำเลยที่ 2 ขอรับแปลง ข. อ้างว่านางหม้งทำพินัยกรรมยกให้ ในพินัยกรรมมีชื่อโจทก์เป็นพยานด้วย จึงเป็นพินัยกรรมที่ใช้ไม่ได้ตามกฎหมาย ขอให้พิพากษาแสดงว่าสวนยางพิพาทตามฟ้องเป็นของโจทก์โดยรับมรดกตกทอดจากนางหม้ง
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า พินัยกรรมชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ก็เป็นคนหนึ่งที่รับทรัพย์ตามพินัยกรรมด้วย ทรัพย์สินตามพินัยกรรมตกเป็นของจำเลยแล้ว แต่โจทก์ละเมิดสิทธิเข้ากรีดยางในสวนยางของจำเลย จึงฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหาย 6,900 บาท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า สวนยางเป็นของโจทก์ ๆ ไม่ต้องรับผิด
ศาลชั้นต้นเห็นว่า เอกสาร ล.1 มิใช่พินัยกรรม แต่เห็นว่าเอกสารล.1 เป็นหนังสือยกให้อันทำขึ้นโดยสุจริต สวนยางพิพาทได้โอนไปยังจำเลยทั้งสองก่อนนางหม้งตายจึงมิใช่มรดกที่จะตกทอดมายังโจทก์พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเอกสาร ล.1 ทำขึ้นโดยสุจริต และเห็นว่าข้อความในเอกสารเป็นข้อกำหนดการเผื่อตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646 แล้ว เอกสาร ล.1 จึงเป็นพินัยกรรม แต่ปรากฏว่าในพินัยกรรมมีพระภิกษุชุ่มเป็นผู้รับมอบ นายพูนและนางสาวเสงี่ยมลงนามเป็นพยาน เป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1653, 1705 เมื่อตัดนายพูน นางสาวเสงี่ยม ออกแล้วก็เหลือพยานคนเดียวที่เซ็นว่า ด.กลสามัญ เท่านั้น จึงฝ่าฝืนมาตรา 1653, 1656 เป็นโมฆะเสียเปล่า ใช้ไม่ได้ตามมาตรา 1705 ไม่มีผลแก่ผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรม จึงพิพากษากลับว่าสวนยางพิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง ให้ยกฟ้องแย้งจำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เอกสาร ล.1 ได้ทำขึ้นโดยสุจริต และมีข้อความอันเป็นคำสั่งเผื่อตายเป็นพินัยกรรมแล้ว แต่มีปัญหาว่า เป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1653 บัญญัติว่า ผู้เขียนหรือพยานในพินัยกรรมจะเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมไม่ได้ แต่ในพินัยกรรมนี้มีนายพูน โจทก์และนางสาวเสงี่ยมจำเลยที่ 2 ลงนามเป็นพยาน ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1653, 1705 จึงไม่มีผลแก่บุคคลทั้งสองซึ่งเป็นทรัพย์ตามพินัยกรรมที่ระบุให้แก่บุคคลทั้งสองต้องตกเป็นของทายาทนางหม้ง คือ นายพูน โจทก์
แต่พินัยกรรม ล.1 นี้ แม้นายพูนโจทก์และนางสาวเสงี่ยมจำเลยที่ 2 จะไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมก็ตาม แต่สภาพแห่งการเป็นพยานของนายพูนโจทก์ และนางสาวเสงี่ยมจำเลยในพินัยกรรมหาได้เสียตามไปด้วยไม่ พินัยกรรมนี้จึงมีพยานลงนาม 3 คน คือโจทก์นางสาวเสงี่ยม ด.กลสามัญเป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์ ส่วนจำเลยที่ 1 ลงชื่อเป็นผู้รับมอบพินัยกรรม หาได้ลงชื่อเป็นพยานหรือผู้เขียนด้วยไม่ ฉะนั้น พินัยกรรมที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จึงใช้ได้ตามกฎหมาย นัยฎีกาที่ 730/2489, 52/2503
จึงพิพากษาแก้ว่า เฉพาะสวนยางพิพาทหมาย ก. ท้ายฟ้องเป็นของจำเลยที่ 1 ห้ามโจทก์และบริวารเกี่ยวข้อง ส่วนสวนยางพิพาทหมาย ข. ท้ายฟ้อง เป็นของโจทก์ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้อง