คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3354/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานระบุว่า “หากพนักงานผู้ใดฝ่าฝืน หรือหลีกเลี่ยงที่จะปฏิบัติตามระเบียบวินัยหรือฝ่าฝืนข้อห้าม มิให้ปฏิบัติ พนักงานผู้นั้นจะต้องได้รับโทษทางวินัย อย่างไรก็ดี ก่อนการสั่งลงโทษผู้บังคับบัญชาอาจสั่งพักงานเพื่อการสอบสวน ก็ได้ โดยในระหว่างพักงานให้งดจ่ายค่าจ้างและสิทธิประโยชน์ ต่าง ๆ โดยการพักงานกรณีนี้ให้กระทำเฉพาะพักงานเพื่อการสอบสวน เท่านั้น มิให้พักงานเพื่อรอผลคดี ซึ่งการพักงานเพื่อการสอบสวน นี้มิใช่เป็นการพักงานเพื่อการลงโทษ” เห็นได้ว่า การพักงาน เพื่อการสอบสวนตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าวเพื่อให้ ได้ความแจ้งชัดว่าลูกจ้างผู้ถูกพักงานได้กระทำความผิดตามที่ถูก สอบสวนหรือไม่ ทั้งการพักงานดังกล่าวมิใช่เป็นการลงโทษแม้ระหว่างการพักงานนายจ้างมีสิทธิงดจ่ายค่าจ้างและสิทธิ ประโยชน์ต่าง ๆ ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานก็ตาม แต่ระหว่างการพักงานเป็นเพียงนายจ้างให้ลูกจ้างผู้นั้นหยุดงาน เป็นการชั่วคราวเท่านั้น สภาพการเป็นนายจ้างและลูกจ้างยังคง มีอยู่ต่อไป ดังนี้ หากการสอบสวนปรากฏว่าลูกจ้างผู้นั้นมิได้ กระทำความผิด นายจ้างจะลงโทษลูกจ้างผู้นั้นไม่ได้และนายจ้าง ต้องจ่ายค่าจ้างระหว่างการพักงานให้แก่ลูกจ้าง จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้าง จำเลยย่อมมีหน้าที่จ่ายค่าจ้าง ให้แก่โจทก์ตลอดระยะเวลาที่โจทก์ทำงานให้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 จำเลยมีคำสั่ง พักงานโจทก์เพื่อการสอบสวน เป็นกรณีที่จำเลยมิให้โจทก์ทำงาน ดังนี้การที่โจทก์มิได้ทำงานให้จำเลยจึงมิใช่เป็นความผิดของโจทก์ จำเลยจะยกเหตุดังกล่าวเป็นข้ออ้างว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับ ค่าจ้างหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าจ้างค้างจำนวน 67,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ร้อยละ 15 ของค่าจ้างที่ค้างทุกระยะเวลา 7 วัน
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณา คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า โจทก์ได้รับค่าจ้างขณะถูกพักงานเดือนละ 61,000 บาท เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2541 จำเลยทั้งสองมีคำสั่งพักงานโจทก์เพื่อทำการสอบสวนโจทก์และบุคคลที่เกี่ยวข้องกรณีผู้อำนวยการฝ่ายก่อสร้างและวิศวกรรมถูกทำร้ายร่างกายโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2541 ถึงวันที่ 13 สิงหาคม 2541 หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงโดยไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ ตามคำสั่งของจำเลยเอกสารหมาย จล.1 และโจทก์แถลงขอสละสิทธิเรียกร้องค่ารถค่าโทรศัพท์ ดอกเบี้ยและเงินเพิ่มตามฟ้อง ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 10 กันยายน 2541
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองมีคำสั่งพักงานโจทก์และงดจ่ายค่าจ้างระหว่างวันที่ 14 กรกฎาคม 2541 ถึงวันที่ 13 สิงหาคม 2541 ให้แก่โจทก์เนื่องจากจำเลยทั้งสองมีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการขึ้นสอบสวนโจทก์ว่า โจทก์มีส่วนร่วมในการทำร้ายร่างกายนายวิรัช เถื่อนยืนยงค์ ผู้อำนวยการฝ่ายก่อสร้างและวิศวกรรมของจำเลยทั้งสองหรือไม่ ผลการสอบสวนปรากฏว่า โจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและจำเลยทั้งสองรับโจทก์เข้าทำงานเช่นเดิม ดังนั้น การที่โจทก์ถูกพักงานดังกล่าวไม่ใช่ความผิดของโจทก์ จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ตลอดระยะเวลาที่โจทก์ถูกสั่งพักงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 575 เป็นเงิน 61,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นนายจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 2 และจำเลยที่ 2 กระทำไปภายในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่ 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าจ้างจำนวน 61,000 บาทแก่โจทก์โดยจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 มีคำสั่งพักงานโจทก์เพื่อการสอบสวนตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จล.2 ข้อ 50จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงานให้แก่โจทก์นั้นเห็นว่า ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าว ข้อ 50 ระบุว่า”หากพนักงานผู้ใดฝ่าฝืนหรือหลีกเลี่ยงที่จะปฏิบัติตามระเบียบวินัยหรือฝ่าฝืนข้อห้ามมิให้ปฏิบัติ พนักงานผู้นั้นจะต้องได้รับโทษทางวินัย อย่างไรก็ดี ก่อนการสั่งลงโทษผู้บังคับบัญชาอาจสั่งพักงานเพื่อการสอบสวนก็ได้ โดยในระหว่างพักงานให้งดจ่ายค่าจ้างและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ โดยการพักงานกรณีนี้ให้กระทำเฉพาะพนักงานเพื่อการสอบสวนเท่านั้น มิให้พักงานเพื่อรอผลคดี ซึ่งการพักงานเพื่อการสอบสวนนี้มิใช่เป็นการพักงานเพื่อการลงโทษ”เห็นได้ว่า การพักงานเพื่อการสอบสวนตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าวเพื่อให้ได้ความแจ้งชัดว่าลูกจ้างผู้ถูกพักงานได้กระทำความผิดตามที่ถูกสอบสวนหรือไม่ ทั้งการพักงานดังกล่าวมิใช่เป็นการลงโทษ แม้ระหว่างการพักงานนายจ้างมีสิทธิงดจ่ายค่าจ้างและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานก็ตาม แต่ระหว่างการพักงานเป็นเพียงนายจ้างให้ลูกจ้างผู้นั้นหยุดงานเป็นการชั่วคราวเท่านั้น สภาพการเป็นนายจ้างและลูกจ้างยังคงมีอยู่ต่อไป หากการสอบสวนปรากฏว่าลูกจ้างผู้นั้นมิได้กระทำความผิด นายจ้างจะลงโทษลูกจ้างผู้นั้นไม่ได้กรณีไม่มีเหตุที่นายจ้างจะหลุดพ้นจากความรับผิดในการจ่ายค่าจ้างระหว่างการพักงานแต่อย่างใดข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติว่า ผลการสอบสวนโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและจำเลยที่ 1รับโจทก์เข้าทำงานเช่นเดิม จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าจ้างระหว่างการพักงานให้แก่โจทก์ ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า ระหว่างที่โจทก์ถูกพักงานโจทก์มิได้ทำงานให้จำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ตลอดระยะเวลาที่โจทก์ทำงานให้ปรากฏว่าโจทก์เป็นลูกจ้างรายเดือนและการที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งพักงานโจทก์เพื่อการสอบสวนเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 มิให้โจทก์ทำงานดังนั้น การที่โจทก์มิได้ทำงานให้จำเลยที่ 1 จึงมิใช่เป็นความผิดของโจทก์ จำเลยที่ 1 จะยกเหตุดังกล่าวเป็นข้ออ้างว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างหาได้ไม่
พิพากษายืน

Share