แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คดีแพ่งคู่ความทั้งสองฝ่ายจะต้องนำพยานมาสืบต่อศาลเพื่อให้ศาลได้ใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานว่าพยานฝ่ายใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่ากัน หากพยานฝ่ายใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่าศาลก็จะใช้ดุลพินิจพิพากษาให้ฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายชนะคดี แตกต่างกับคดีอาญาที่โจทก์จะต้องนำพยานเข้าสืบแสดงต่อศาลจนปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องจริง ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นได้พิจารณาชั่งน้ำหนักพยานแล้วเห็นว่าพยานโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่าพยานจำเลยจึงพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี คำพิพากษาดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ในคดีแพ่งจำเลยจะต้องยื่นคำให้การว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง เมื่อคำให้การของจำเลยมิได้ปฏิเสธว่าการประกอบธุรกิจเงินทุนหรือธุรกิจหลักทรัพย์ของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีประเด็นพิพาทในศาลชั้นต้น จำเลยจะหยิบยกขึ้นเป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาหาได้ไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคแรก และมาตรา 249 วรรคแรก
สัญญากู้ยืมเงินกำหนดเวลาชำระคืนเงินกู้ภายใน 5 ปี นับแต่วันทำสัญญา จึงเป็นการกำหนดเวลาชำระไว้แน่นอน ส่วนทางปฏิบัติแม้จะมีการขยายเวลาให้ชำระกันบ้างก็ไม่มีผลทำให้สัญญาดังกล่าวกลายเป็นสัญญาที่ไม่กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ประกอบธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์มีการมอบอำนาจและมอบอำนาจช่วงให้ดำเนินคดีแทนโจทก์ จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2536 จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์และผู้ให้กู้รายอื่นโดยทำสัญญาสนับสนุนทางการเงินตามสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงศรีอยุธยา จำกัด และธนาคารนครธน จำกัด รวมวงเงิน 370,000,000 บาท โดยโจทก์ให้กู้ในวงเงิน 200,000,000 บาท จำเลยยอมเสียดอกเบี้ยให้โจทก์และผู้ให้กู้รายอื่นในอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) คิดกับลูกค้าชั้นดีประเภทเบิกเงินเกินบัญชีบวกด้วยร้อยละ 1 ต่อปี (ขณะทำสัญญาจึงเท่ากับอัตราร้อยละ 12.25 ต่อปี) กำหนดชำระดอกเบี้ยทุกเดือน ส่วนต้นเงินจำเลยตกลงชำระคืนวันที่ 31 พฤษภาคม 2538, 30 พฤศจิกายน 2538, 31 พฤษภาคม 2539, 30 พฤศจิกายน 2539 และวันที่ 31 พฤษภาคม 2540 ครั้งละ 60,000,000 บาท และชำระวันที่ 30 พฤศจิกายน 2540 จำนวน 70,000,000 บาท หากไม่ปฏิบัติตามสัญญายอมให้ปรับดอกเบี้ยเป็นอัตราสูงสุดตามที่โจทก์และผู้ให้กู้รายอื่นประกาศเรียกเก็บจากลูกหนี้ นับแต่วันผิดสัญญาเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้จำเลยได้นำสัญญาเช่าอาคารเอกสาร เลขที่ 119 ถนนสาธรใต้ ระหว่างจำเลยกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มาทำสัญญาโอนสิทธิการเช่าสร้างยกกรรมสิทธิ์อาคารเป็นประกันหนี้ไว้กับโจทก์ และจำเลยนำสัญญาเช่าพื้นที่และบริการในอาคารเอกสารระหว่างจำเลยกับบริษัทเอกโฮลดิ้ง จำกัด บริษัทเงินทุนเอกธนกิจ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกธนา จำกัด มาเป็นประกันหนี้ไว้กับโจทก์ เพื่อประโยชน์แก่โจทก์และผู้ให้กู้รายอื่นในกรณีที่จำเลยผิดสัญญากู้ ต่อมาวันที่ 2 มิถุนายน 2536 จำเลยมาเบิกเงินกู้ตามสัญญาจากโจทก์จำนวน 200,000,000 บาท และจากผู้ให้กู้รายอื่นรายละ 85,000,000 บาท โดยในส่วนที่รับจากโจทก์ จำเลยขอให้โจทก์จัดหาเงินกู้เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากต่างประเทศต่ำกว่าภายในประเทศ วันที่ 29 มิถุนายน 2536 จำเลยได้ทำสัญญากู้ยืมกับโจทก์โดยใช้ฐานเงินกู้ดอลลาร์สหรัฐในวงเงินจำนวน 4,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินกู้ที่เบิกใช้และเงินกู้ที่ค้างชำระรวมกันแล้วคำนวณเป็นเงินบาทต้องไม่เกิน 107,100,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราที่เรียกเก็บจากเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐที่กู้ยืมกันระหว่างธนาคารพาณิชย์ในสิงคโปร์บวกด้วยอัตราร้อยละ 3 ต่อปี หากผิดนัดยอมให้โจทก์เปลี่ยนเป็นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์สามารถเรียกเก็บจากลูกหนี้ วันที่ 2 สิงหาคม 2536 จำเลยรับเงินกู้ฐานเงินดอลลาร์สหรัฐจำนวน 4,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ 29 กรกฎาคม 2536 ซึ่งเป็นวันเบิกเงินกู้เป็นเงินจำนวน 100,920,000 บาท กำหนดชำระคืนวันที่ 2 พฤศจิกายน 2536 โจทก์นำเงินจำนวนดังกล่าวไปหักชำระหนี้ตามสัญญาสนับสนุนทางการเงิน ซึ่งจำเลยรับเงินกู้ล่วงหน้าแบบเร่งด่วนไปแล้วและตกลงให้นำเงินกู้ตามสัญญาสนับสนุนทางการเงินไปหักชำระ จึงทำให้ ณ วันที่ 2 สิงหาคม 2536 จำเลยคงค้างชำระหนี้ตามสัญญาสนับสนุนทางการเงินแก่โจทก์จำนวน 99,080,000 บาท และเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงินโดยใช้ฐานเงินดอลลาร์สหรัฐจำนวน 100,920,000 บาท หนี้ตามสัญญาสนับสนุนทางการเงินจำเลยผิดนัดชำระตั้งแต่งวดวันที่ 31 พฤษภาคม 2539 คงค้างชำระส่วนที่เป็นหนี้โจทก์จำนวน 34,215,200 บาท ส่วนหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินโดยใช้ฐานเงินดอลลาร์สหรัฐ จำเลยขอขยายระยะเวลาการชำระคืนเงินกู้รวม 11 ครั้ง ถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2539 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดที่ขยายให้ครั้งสุดท้ายจำเลยก็ผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงโอนเงินกู้ที่ค้างชำระจำนวน 4,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ มาเป็นเงินบาทในอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 25.34 บาท คิดเป็นเงินไทยจำนวน 101,360,000 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์ทั้งสิ้นจำนวน 135,575,200 บาท หลังจากนั้นจำเลยนำเงินมาชำระดอกเบี้ยหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายวันที่ 20 พฤศจิกายน 2540 จำนวน 764,286.21 บาท คงค้างชำระต้นเงินจำนวน 135,575,200 บาท ดอกเบี้ยจำนวน 8,741,346.17 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 40 ต่อปี ของต้นเงิน 135,575,200 บาท นับแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2540 คิดถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ยจำนวน 29,566,536.77 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 173,883,082.94 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 40 ต่อปี ของต้นเงิน 135,575,200 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะลายมือชื่อผู้มอบอำนาจเป็นลายมือปลอม จำเลยไม่เคยทำสัญญาหรือข้อตกลงใด ๆ กับโจทก์ และไม่เคยได้รับเงินกู้จากโจทก์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะบรรยายฟ้องวกวน ไม่อาจเข้าใจได้ว่าโจทก์อาศัยมูลหนี้จากสัญญาฉบับใดและจำเลยผิดนัดในสัญญาใดนับแต่เมื่อใด โจทก์ไม่ได้บอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 141,209,459.82 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.25 ต่อปี ของต้นเงิน 135,575,200 บาท นับแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 15,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า พยานโจทก์รับฟังได้หรือไม่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง โดยจำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่นำสืบพยานหลักฐานให้ปรากฏชัดแจ้งปราศจากข้อสงสัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งซึ่งคู่ความทั้งสองฝ่ายจะต้องนำพยานมาสืบต่อศาลเพื่อให้ศาลได้ใช้ดุลพินิจไตร่ตรองชั่งน้ำหนักพยานว่าพยานฝ่ายใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่ากัน หากพยานฝ่ายใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่าศาลก็จะใช้ดุลพินิจพิพากษาให้ฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายชนะคดี ซึ่งแตกต่างกับคดีอาญาที่โจทก์จะต้องนำพยานเข้าสืบแสดงต่อศาลจนปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องจริง ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นได้พิจารณาชั่งน้ำหนักพยานแล้ว เห็นว่า พยานโจทก์ที่นำสืบมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่าพยานจำเลย จึงพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี คำพิพากษาดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าตามฟ้องโจทก์อ้างว่าโจทก์ประกอบธุรกิจเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ตามกฎหมาย แต่โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าก่อนหน้านั้นโจทก์ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจดังกล่าว จึงรับฟังไม่ได้ว่าสัญญากู้ระหว่างโจทก์กับจำเลยสมบูรณ์ตามกฎหมาย เห็นว่า ในคดีแพ่งจำเลยจะต้องยื่นคำให้การว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง เมื่อคำให้การของจำเลยมิได้ปฏิเสธว่าการประกอบธุรกิจเงินทุนหรือธุรกิจหลักทรัพย์ของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงไม่มีประเด็นพิพาทในศาลชั้นต้น จำเลยจะหยิบยกขึ้นเป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาหาได้ไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคแรก และมาตรา 249 วรรคแรก ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้ชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ฎีกาประการสุดท้ายของจำเลยที่ว่า สัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญากู้ที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ไว้แน่นอน โจทก์ไม่ได้บอกกล่าวทวงถามชำระหนี้ เห็นว่า ตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.34 ได้มีการกำหนดเวลาชำระคืนเงินกู้ภายใน 5 ปี นับแต่วันทำสัญญา ดังนั้น การกู้เงินดังกล่าวจึงเป็นการกำหนดเวลาชำระไว้แน่นอน ส่วนทางปฏิบัติแม้จะมีการขยายเวลาให้ชำระกันบ้างก็ไม่มีผลทำให้สัญญาดังกล่าวกลายเป็นสัญญาที่ไม่กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ ส่วนประเด็นที่ว่า การบอกกล่าวชำระหนี้ไม่ชอบเพราะผู้บอกกล่าวไม่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์และการเรียกดอกเบี้ยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า ข้อฎีกาดังกล่าวจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ในคำให้การจึงไม่มีประเด็นพิพาทในศาลชั้นต้นเช่นกัน จำเลยจะหยิบยกขึ้นเป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกามิได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคแรก และมาตรา 249 วรรคแรก ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้ชอบแล้ว ฎีกาทุกข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 10,000 บาท แทนโจทก์