คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3352/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้เป็นผู้ติดต่อกับต่างประเทศในด้านการทำประกันภัยต่อ ระบุตำแหน่งว่าเป็นผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ลงชื่อในสัญญาที่ทำกับโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 รู้เห็นและไม่ทักท้วง จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1ในการทำสัญญาดังกล่าวกับโจทก์ เมื่อสัญญาเหล่านั้นเกี่ยวด้วยการรับประกันภัยอันอยู่ภายในขอบวัตถุที่ประสงค์ของจำเลยที่ 1 โจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงย่อมมีนิติสัมพันธ์ต่อกัน
จำเลยที่ 2 มิได้ยื่นบัญชีระบุพยานเอกสารที่อ้าง และทนายจำเลยที่ 1 คัดค้านมิให้ศาลรับฟัง แต่เมื่อประธานกรรมการจำเลยที่1 เบิกความทนายจำเลยที่ 2 ได้ถามพยานเกี่ยวกับเอกสารดังกล่าว พยานเบิกความรับรองศาลชั้นต้นรับเอกสารนี้ไว้และสั่งให้จำเลยที่ 2 เสียค่าอ้าง จำเลยที่ 2 ได้เสียค่าอ้างเอกสารแล้ว ศาลรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้
ตามเอกสารท้ายฟ้องมีข้อความว่า โจทก์เป็นผู้ถือบันทึกประกันภัยจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับประกันภัย โดยยอมรับส่วนการประกันภัย และยอมให้โจทก์มีอำนาจผูกพันบัญชีของจำเลยที่ 1และมีอำนาจออกกรมธรรม์ประกันภัยในนามของจำเลยที่ 1 อันเกี่ยวกับการประกันภัยโดยตรงและการประกันภัยโดยทางอ้อมเมื่อได้ความตามฟ้องว่า ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้มีการทำสัญญาเกี่ยวกับการรับประกันภัยเกิดขึ้น และมีหนี้ผูกพันเกี่ยวด้วยการปฏิบัติตามสัญญานั้นที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระแก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลย
ตามสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้มีการเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด แต่ปรากฏตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1ว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ ดังนั้นจึงไม่มีกรณีที่จำเลยที่ 1 จะยอมเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ แม้โจทก์มีความประสงค์เช่นนั้น และปรากฏตามฟ้องว่า ก่อนฟ้องโจทก์ทวงถามจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 โดยไม่ต้องเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดได้
โจทก์ฟ้องเรียกเงินในส่วนที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ อ้างความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์จำเลยที่ 1 และบริษัทคนกลางมีเอกสารท้ายฟ้องประกอบแสดงรายละเอียดจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระในแต่ละงวด แต่ละปี รวมเป็นยอดหนี้ทั้งสิ้น และขอให้ศาลบังคับจำเลยที่ 1 ชำระตามยอดเงินตรงกับเอกสารท้ายฟ้อง เป็นฟ้องที่แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่เคลือบคลุม
จำเลยที่ 1 ให้การว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ โดยมิได้อ้างเหตุว่าขาดอายุความกรณีใดบ้าง เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งเพราะอายุความแห่งสิทธิเรียกร้องในแต่ละประเภทมีกำหนดเวลาต่างกันคำให้การจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย
ในกรณีที่ต้องชำระหนี้กันเป็นเงินตราต่างประเทศศาลจะพิพากษาให้ใช้เงินตราต่างประเทศหรือมิฉะนั้นให้คิดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศนั้นเป็นเงินไทย โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินโดยเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ที่ทำการขายเงินตราต่างประเทศเป็นเงินไทยในวันที่มีคำพิพากษา ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวไม่มี ก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันพิพากษา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ทำสัญญากับโจทก์ โดยจำเลยที่ ๒ ลงนามแทน ตั้งโจทก์เป็นตัวแทนรับประกันภัยเกี่ยวกับตัวเรือและเครื่องจักรของเรือที่แล่นภายในประเทศฮอลแลนด์ เบลเยี่ยม ลุกแซมเบิร์ก เยอรมันตะวันตก และฝรั่งเศส แทนจำเลยที่ ๑ ตามภาพถ่ายสัญญาท้ายฟ้อง โจทก์ได้ปฏิบัติตามสัญญาที่ทำไว้กับจำเลย เมื่อตัดทอนบัญชีกันแล้ว จำเลยจะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ๑๕๔,๙๖๒.๑๔ เหรียญดัชฟลอรินท์ และ ๑๐๗,๘๓๓.๓๗ เหรียญเบลเยี่ยมฟรังซ์ ต่อมาจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์และตัวแทนของโจทก์ แต่เมื่อครบกำหนดจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๑๕๔,๙๖๒.๑๔ เหรียญดัชฟลอรินท์ เท่ากับ ๑,๕๔๖,๕๒๒ บาท ๑๖ สตางค์ และ ๑๐๗,๘๓๓.๓๗ เหรียญเบลเยี่ยาฟรังซ์ เท่ากับ ๗๔,๔๐๕ บาท ๓ สตางค์ รวมเป็นเงิน ๑,๖๒๐,๙๒๗ บาท ๑๙ สตางค์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่เคยทำสัญญาตามฟ้องกับโจทก์ และไม่เคยมอบหมายให้จำเลยที่ ๒ ลงนามในสัญญาดังกล่าวแทนจำเลยที่ ๑ โจทก์และจำเลยที่ ๑ ไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน โจทก์ไม่มีสิทธิเป็นตัวแทนจำเลยที่ ๑ ตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๑๐ หากสัญญาตามฟ้องมีอยู่จริงก็ตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ ๑ ไม่เคยตัดทอนบัญชีหักกลบลบหนี้กับโจทก์ หนังสือรับสภาพหนี้จำเลยที่ ๒ ทำในฐานะส่วนตัว หนี้ตามฟ้องขาดอายุความและฟ้องที่เกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนเคลือบคลุม อีกทั้งโจทก์ฟ้องโดยไม่ได้มอบข้อพิพาทให้อนุญาตโตตุลาการชี้ขาดก่อน จึงไม่มีสิทธิฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การปฏิเสธฟ้องในสาระสำคัญหลายประการและขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๑,๖๒๐,๙๒๗ บาท ๑๙ สตางค์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ ๒
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๑ ด้วย นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในปัญหาว่าจำเลยที่ ๑ จะต้องรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๒ มิได้เป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๑ การกระทำของจำเลยที่ ๒ ไม่ผูกพันจำเลยที่ ๑ นั้น เห็นว่า นายพร เลี่ยวไพรัตน์ และนางสาวมาลินี เลี่ยวไพรัตน์ เบิกความสอดคล้องกันว่า จำเลยที่ ๒ เป็นกรรมการจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้เป็นผู้ติดต่อกับต่างประเทศในด้านการทำประกันภัยต่อ ระบุตำแหน่งว่าเป็นผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศของจำเลยที่ ๑ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ จนกระทั่งพ้นจากตำแหน่ง และตามเอกสารหมาย ล.๒๐ ที่จำเลยที่ ๒ อ้างเป็นพยานระบุว่าในการประชุมคณะกรรมการบริหารของจำเลยที่ ๑ ในวันศุกร์ที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๑๖ อันมีนายพร เลี่ยวไพรัตน์ ประธานกรรมการ นางสาวมาลินี เลี่ยวไพรัตน์ กรรมการรองผู้จัดการ และจำเลยที่ ๒ กรรมการของจำเลยที่ ๑ เข้าร่วมประชุมพร้อมด้วยกรรมการอื่น ๆ ได้มีการท้วงติงจากเจ้าหน้าที่บริหารของจำเลยที่ ๑ เกี่ยวกับการใช้ชื่อตำแหน่งในการติดต่อกับต่างประเทศของจำเลยที่ ๒ ในที่สุดที่ประชุมคงให้จำเลยที่ ๑ ใช้ชื่อตำแหน่งที่เคยใช้มาแต่เดิมได้ต่อไป ซึ่งเอกสารหมาย ล.๒๐ นี้ ทนายจำเลยที่ ๑ คัดค้านมิให้ศาลรับฟัง แต่ปรากฏว่าขณะที่นายพร เลี่ยวไพรัตน์ เบิกความ ทนายจำเลยที่ ๒ ได้ถามพยานปากนี้เกี่ยวกับเอกสารดังกล่าว พยานเบิกความรับรอง ศาลชั้นต้นรับเอกสารนี้ไว้ สั่งให้จำเลยที่ ๒ เสียค่าอ้าง จำเลยที่ ๒ ได้เสียค่าอ้างเอกสารไว้แล้ว จึงรับฟังเอกสารหมาย ล.๒๐ เป็นพยานได้ ตามเอกสารหมาย ล.๒๐ แสดงให้เห็นว่าการดำเนินงานของจำเลยที่ ๒ เกี่ยวกับการต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของจำเลยที่ ๑ ควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด ที่นายพรและนางสาวมาลินี ประธานและกรรมการของบริษัทจำเลยที่ ๑ เบิกความว่า ไม่เคยทราบว่าจำเลยที่ ๑ ทำสัญญากับโจทก์ในคดีนี้จึงชัดต่อเหตุผล เพราะว่าจำเลยที่ ๒ เริ่มเข้าทำงานติดต่อกับต่างประเทศด้านการประกันภัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ก็มีหลักฐานแสดงว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของจำเลยที่ ๑ ได้ควบคุมดูแลการทำงานของจำเลยที่ ๒ อย่างใกล้ชิดดังกล่าวแล้ว สัญญาที่จำเลยที่ ๒ ทำกับโจทก์ฉบับแรกเอกสารหมาย จ.๖ ลงวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๑๖ ก่อนการประชุมคณะกรรมการบริหารของจำเลยที่ ๑ ตามเอกสารหมาย ล.๒๐ จำเลยที่ ๑ น่าจะทราบการทำสัญญาฉบับนี้ของจำเลยที่ ๒ แล้วต่อมาจำเลยที่ ๒ ทำสัญญากับโจทก์อีก ตามเอกสารหมาย จ.๗ และ จ.๑๓ จำเลยที่ ๒ เพิ่งออกจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๒๒ ตามเอกสารหมาย ล.๔ บริษัทจำเลยที่ ๑ ก็น่าจะทราบเรื่องสัญญาเอกสารหมาย จ.๗ และ จ.๑๓ ด้วยเช่นกัน แต่ก็ไม่ปรากฏว่าได้มีการท้วงติงการทำสัญญาเหล่านั้นอีก ทั้งที่นายพรและนางสาวมาลินีเบิกความว่าการทำสัญญากับต่างประเทศในช่วงเวลาที่จำเลยที่ ๒ เข้าดำเนินงานจำเลยที่ ๒ ลงชื่อในสัญญาร่วมกับกรรมการอื่น ๆ อีก ๑ คนนั้น หากสัญญาในลักษณะดังกล่าวมีอยู่ ย่อมจะมีอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ ๑ ด้วย ซึ่งจำเลยที่ ๑ อาจอ้างมาเป็นพยาน เพื่อแสดงให้เห็นว่าสัญญาอื่น ๆ นอกจากที่กล่าวมา จำเลยที่ ๒ ก็ได้ลงชื่อร่วมกับกรรมการอีก ๑ คน เสมอมา คงมีแต่เฉพาะสัญญาเอกสารหมาย จ.๖ จ.๗ และ จ.๑๓ เท่านั้น ที่จำเลยที่ ๒ ทำไปโดยลำพัง แต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ อ้างเอกสารเหล่านั้นมาเป็นหลักฐาน คำเบิกความของนายพรและนางสาวมาลินีกรณีนี้จึงเลื่อนลอยไม่มีน้ำหนัก น่าเชื่อว่าที่จำเลยที่ ๒ ลงชื่อในสัญญาเอกสารหมาย จ.๖ จ.๗ และ จ.๑๓ จำเลยที่ ๑ รู้เห็นและไม่ทักท้วงจำเลยที่ ๒ จึงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๑ ในการทำสัญญาดังกล่าวกับโจทก์ ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยที่ ๑ ไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์นั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ ๒ เป็นตัวแทนจำเลยที่ ๑ ในการทำสัญญาเอกสารหมาย จ.๖ จ.๗ และ จ. ๑๓ กับโจทก์ สัญญาเหล่านั้นเกี่ยวด้วยการรับประกันภัยอันอยู่ภายในขอบวัตถุที่ประสงค์ของจำเลยที่ ๑ และปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๑๓ ว่า การดำเนินงานของโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ต้องผ่านบริษัทอาวน์เดส แอมเบิร์ต กรุ้ฟ จำกัด คนกลาง กับโจทก์อ้างรายงานประจำปีแสดงฐานะการเงินและกิจการของบริษัทจำเลยที่ ๑ เอกสารหมาย จ.๓๙ เป็นพยาน จำเลยที่ ๑ มิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงย่อมฟังได้ตามข้อความในเอกสารดังกล่าวว่า เฉพาะในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ จำเลยที่ ๑ มีกิจการประกันภัยต่อกับบริษัทต่าง ๆ ทั้งที่มีชื่อเป็นภาษาไทยและภาษาต่างประเทศหลายสิบแห่ง เฉพาะที่เป็นภาษาตางประเทศก็มีแห่งหนึ่งมีชื่ออย่างเดียวกับบริษัทคนกลางตามที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.๑๓ รวมอยู่ด้วย คือชื่อในลำดับที่ ๒ ของชื่อที่เป็นภาษาต่างประเทศทั้งหมด นอกจากนั้นโดยปกติแล้วถ้าโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ไม่เคยมีความเกี่ยวพันกันมาก่อน ย่อมไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่โจทก์จะลงทุนฟ้องร้องจำเลยที่ ๑ ให้ยุ่งยากแก่ตน จึงฟังได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ ๑ มีนิติสัมพันธ์ต่อกันตามฟ้อง
สำหรับข้อที่จำเลยที่ ๑ แก้ฎีกาโต้เถียงเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์นั้น เห็นว่า ตามเอกสารท้ายฟ้องหมาย ๓, ๔ และ ๖ มีข้อความตรงกับเอกสารหมาย จ.๖ จ.๗ และ จ.๑๓ ซึ่งมีข้อความว่า โจทก์เป็นผู้ถือบันทึกประกันภัย จำเลยที่ ๑ เป็นผู้รับประกันภัย โดยจำเลยที่ ๑ ยอมรับส่วนการประกันภัย ๑๘.๖๗ เปอร์เซ็นต์ และ ๑๘.๘๗ เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ และยอมให้โจทก์มีอำนาจผูกพันบัญชีของจำเลยที่ ๑ และมีอำนาจออกกรมธรรม์ประกันภัยในนามของจำเลยที่ ๑ อันเกี่ยวกับการประกันภัยโดยตรงและการประกันภัยโดยอ้อม ดังนั้น เมื่อได้ความตามฟ้องว่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ได้มีการทำสัญญาเกี่ยวกับการรับประกันภัยเกิดขึ้นและมีหนี้ผูกพันเกี่ยวด้วยการปฏิบัติตามสัญญานั้นที่จำเลยที่ ๑ ค้างชำระแก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง ส่วนที่เกี่ยวกับกรณีตามสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ให้มีการเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด แต่โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ นั้น เห็นว่า ตามข้อสัญญากำหนดให้ทั้งสองฝ่ายเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ แต่ปรากฏตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ ๑ ว่า จำเลยที่ ๑ ไม่มีสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ ดังนั้นจึงไม่มีกรณีที่จำเลยที่ ๑ จะยอมเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ แม้โจทก์มีความประสงค์เช่นนั้นและปรากฏตามฟ้องว่า ก่อนฟ้องโจทก์ทวงถามจำเลยที่ ๑ ให้ชำระหนี้แล้ว จำเลยที่ ๑ ไม่ชำระ การกระทำของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ โดยไม่ต้องเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดได้ นอกจากนี้ที่จำเลยที่ ๑ แก้ฎีกาโต้แย้งว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม และขาดอายุความนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกเงินในส่วนที่จำเลยที่ ๑ จะต้องรับผิดต่อโจทก์ อ้างความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์จำเลยที่ ๑ และบริษัทคนกลาง มีเอกสารท้ายฟ้องประกอบแสดงรายละเอียดจำนวนเงินที่จำเลยที่ ๑ ค้างชำระในแต่ละงวด แต่ละปีรวมเป็นยอดหนี้ทั้งสิ้น และขอให้ศาลบังคับให้จำเลยที่ ๑ ชำระตามยอดเงินตรงกับเอกสารท้ายฟ้องดังกล่าว จึงเป็นฟ้องที่แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่เคลือบคลุมแต่ประการใด ส่วนข้อโต้แย้งในเรื่องอายุความนั้นปรากฏว่า จำเลยที่ ๑ ให้การแต่เพียงว่าฟ้องขาดอายุความ มิได้อ้างเหตุว่าขาดอายุความกรณีใดบ้าง เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง ทั้งนี้ เพราะอายุความแห่งสิทธิเรียกร้องในแต่ละประเภทมีกำหนดเวลาต่างกัน คำให้การจำเลยที่ ๑ กรณีนี้ จึงไม่เป็นประเด็นที่ศาลฎีกาจะรับวินิจฉัยให้ ไม่จำต้องวินิจฉัยข้อโต้แย้งอื่นในคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ต่อไป
คดีนี้ ตามคำฟ้องแสดงจำนวนเงินที่จำเลยที่ ๑ ค้างชำระต่อโจทก์ไว้โดยละเอียดตรงตามเอกสารท้ายฟ้องหมาย ๕ และหมาย ๗ และโจทก์อ้างส่งเอกสารแสดงจำนวนหนี้สินที่จำเลยที่ ๑ ค้างชำระ เอกสารหมาย จ.๑๑ เป็นพยาน ซึ่งเอกสารหมาย จ.๑๑ เฉพาะที่เกี่ยวกับจำนวนหนี้ในหน้า ๔๔, ๕๖, ๔๕, ๕๗, ๔๖, ๕๘, ๔๗, ๕๙, ๓๗, ๔๘, ๖๐, ๔๙, ๖๑, ๖๒, ๙๗, ๑๐๖, ๑๐๗, ๙๘ และ ๑๐๘ ตรงกับเอกสารท้ายฟ้องหมาย ๕ และในหน้า ๖๗ ถึง ๗๔ ตรงกับเอกสารท้ายฟ้องหมาย ๗ ตามลำดับ กับนำพยานบุคคลเข้าเบิกความประกอบได้ความสอดคล้องต้องกัน จำเลยที่ ๑ มิได้ให้การต่อสู้เรื่องจำนวนหนี้ที่โจทก์ฟ้อง และมิได้นำสืบหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงย่อมฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ เป็นหนี้โจทก์ตามรายละเอียดในเอกสารหมาย จ.๑๑ ดังกล่าวแล้ว รวมเป็นเงิน ๑๕๔,๙๖๒.๑๔ เหรียญดัชฟลอรินท์ และ ๑๐๗,๘๓๓.๓๗ เหรียญเบลเยี่ยมฟรังซ์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๑๕๔,๙๖๒.๑๔ เหรียญดัชฟลอรินท์ และ ๑๐๗,๘๓๓.๓๗ เหรียญเบลเยี่ยมฟรังซ์ โดยคิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครในวันที่ศาลนี้พิพากษา ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวไม่มี ก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันพิพากษา แต่เมื่อรวมกันแล้วเป็นต้นเงินไม่เกินกว่า ๑,๖๒๐,๙๒๗ บาท ๑๙ สตางค์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์

Share