คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3351/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าหนี้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ซึ่งมีกำหนด อายุความ 10 ปี ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2526 ลูกหนี้ไม่ ชำระหนี้ เจ้าหนี้จึงฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2536 อายุความตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ ย่อมสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(2) และต้องเริ่มนับใหม่เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/15 คือตั้งแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีล้มละลาย เนื่องจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พิมพ์ชื่อลูกหนี้ผิดพลาดไปและให้เจ้าหนี้มายื่น คำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ ดังนั้น การที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2538 ถือได้ว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิยื่นคำขอชำระหนี้ในคดีนี้ภายใน กำหนดเวลาตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 91 แล้ว ในคดีล้มละลายอีกคดีหนึ่งนั้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของ ลูกหนี้เด็ดขาด เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2537 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โฆษณาคำสั่ง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2537 พร้อมประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหมายถึงเจ้าหนี้ให้วาง เงินประกันค่าใช้จ่ายจำนวน 5,000 บาท ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ต่อมา เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดไว้ ในคดีนี้ก่อนแล้ว แต่คดีนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายหลังคดีดังกล่าวเพราะ พิมพ์ชื่อลูกหนี้ผิดพลาดไป และให้เจ้าหนี้มายื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้เช่นนี้ เป็น ข้อเท็จจริงที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบดีอยู่แล้ว และมิได้โต้แย้งคัดค้านว่าไม่เป็น ความจริงดังนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่อาจจะกล่าวอ้างว่าเจ้าหนี้มีหน้าที่ต้องแสดงให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ยังไม่ขาดอายุความ แต่เจ้าหนี้มิได้ให้การในชั้นสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ถึงข้อเท็จจริงในคดี ในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ตลอดจนสิทธิเรียกร้องต่าง ๆของเจ้าหนี้ที่มีต่อลูกหนี้และเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องนั้นแล้วแต่ถูกศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดี เพื่อให้เจ้าหนี้ มายื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้และข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้ว ในชั้นสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายได้ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายในชั้นยื่นคำขอ รับชำระหนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่ได้ยกขึ้น ว่ากล่าวตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ไว้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2537 ต่อมาวันที่ 16 มกราคม 2538 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาเป็นเงิน 6,022,564.35 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ ตามบัญชีท้ายขอรับชำระหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเห็นว่าหนี้ตามคำพิพากษาที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นสิทธิเรียกร้องตั้งหลักฐานขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32ที่ได้ตรวจชำระใหม่ เมื่อเจ้าหนี้ไม่ดำเนินการบังคับคดีแก่ลูกหนี้ภายในกำหนดอายุความ10 ปี นับแต่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด หนี้ตามคำพิพากษาจึงขาดอายุความ เป็นหนี้ที่ไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94(1)เห็นควรยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เสียทั้งสิ้นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 107(1)
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เป็นเงิน6,022,564.35 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 107(2), 130(8)
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยและคู่กรณีฎีกาคัดค้านว่าลูกหนี้เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ ตามสัญญาขายลดเช็คของห้างหุ้นส่วนจำกัดชัยกิจภิญโญอิมปอร์ตเอ็กซ์ปอร์ตต่อเจ้าหนี้รวม 3 ฉบับ เป็นเงินรวม 1,670,521.07 บาท ห้างหุ้นส่วนจำกัดชัยกิจภิญโญอิมปอร์ตเอ็กซ์ปอร์ต ไม่ชำระหนี้ตามสัญญา เจ้าหนี้จึงฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้นตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2835/2525 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2526 เป็นคดีหมาย เลขแดงที่ 3359/2526 ให้ลูกหนี้ร่วมรับผิดกับห้างหุ้นส่วนจำกัดชัยกิจภิญโญอิมปอร์ตเอ็กซ์ปอร์ตชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ ห้างหุ้นส่วนจำกัดชัยกิจภิญโญอิมปอร์ตเอ็กซ์ปอร์ตและลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ ต่อมาเจ้าหนี้จึงนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวไปยื่นฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2536 ตามคดีหมายเลขดำที่ ล.239/2536 และศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2537 เป็นคดีหมายเลขแดงที่ ล.182/2537 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โฆษณาคำสั่งศาลเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2537 เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2537 แต่ต่อมาปรากฏว่าลูกหนี้ถูกศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีนี้เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2537 ซึ่งเป็นวันก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีหมายเลขแดงที่ ล.182/2537 แต่คดีนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายหลังคดีหมายเลขแดงที่ ล.182/2537 เนื่องจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พิมพ์ชื่อลูกหนี้ผิดพลาดไปและให้เจ้าหนี้มายื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ โดยศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีหมายเลขแดงที่ ล.182/2537 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 15 ซึ่งจะครบกำหนดยื่นคำขอรับชำระหนี้ วันที่ 22 มกราคม 2538 เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้เมื่อวันที่16 มกราคม 2538
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าเจ้าหนี้มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ตามที่ยื่นคำขอไว้หรือไม่ เห็นว่า เจ้าหนี้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ซึ่งมีกำหนดอายุความ 10 ปี ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2526 ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้จึงฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2536 อายุความตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ย่อมสะดุดหยุดลงตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(2) ที่ได้ตรวจชำระใหม่ และต้องเริ่มนับใหม่เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/15 คือตั้งแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีล้มละลายตามสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ ล.182/2537 ฉะนั้น การที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2538 ถือได้ว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ภายในกำหนดเวลาตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 91 แล้ว ส่วนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกาว่า เจ้าหนี้มีหน้าที่ต้องแสดงให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ยังไม่ขาดอายุความแต่เจ้าหนี้มิได้ให้การสอบสวนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ถึงข้อเท็จจริงในคดีในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ตลอดจนสิทธิเรียกร้องต่าง ๆ ของเจ้าหนี้ที่มีต่อลูกหนี้และเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องนั้นแล้วแต่ถูกศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดี เพื่อให้เจ้าหนี้มายื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้และข้อเท็จจริงดังกล่าวมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในชั้นสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายนั้น เห็นว่า ในคดีหมายเลขแดงที่ ล.182/2537 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2537 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2537 พร้อมประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหมายถึงเจ้าหนี้ให้วางเงินประกันค่าใช้จ่ายจำนวน 5,000 บาท ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งว่าศาชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดไว้ในคดีนี้ก่อนแล้ว แต่คดีนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายหลังคดีดังกล่าวเพราะพิมพ์ชื่อลูกหนี้ผิดพลาดไป และให้เจ้าหนี้มายื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้เช่นนี้ เป็นข้อเท็จจริงที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบดีอยู่แล้ว และมิได้โต้แย้งคัดค้านว่าไม่เป็นความจริง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่อาจยกขึ้นกล่าวอ้างได้ว่าเจ้าหนี้มิได้ให้การสอบสวนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายในชั้นยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวตั้งแต่ศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้
พิพากษายืน

Share