แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บรรยายฟ้องว่า ชั้นแรกจำเลยออกตั๋วแลกเงิน โดยจำเลยลงชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายนำมาขายให้โจทก์ ต่อมาโจทก์ทวงถามเงินที่จำเลยรับไปจากผู้จ่ายไม่ได้ จึงทวงถามจากจำเลย จำเลยกลับนำเช็คทั้ง 3 ฉบับซึ่งเป็นเช็คลงวันที่ล่วงหน้าโดยบุคคลภายนอกเป็นผู้สั่งจ่ายมาโอนขายให้โจทก์อีก เพื่อเป็นการชำระหนี้ตามตั๋วแลกเงินในการนี้จำเลยลงนามสลักหลังเป็นผู้รับอาวัลเช็คทั้ง 3 ฉบับด้วย เช็คถึงกำหนด ปรากฏว่าบุคคลภายนอกนั้นไม่มีเงินในบัญชีธนาคาร โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินตามเช็คจากจำเลยเป็นผู้รับอาวัลดังนี้ เป็นเรื่องที่โจทก์บรรยายฟ้องให้ทราบถึงมูลหนี้เดิมว่าเป็นมาอย่างไรบัดนี้จำเลยต้องรับผิดชอบต่อโจทก์อย่างไร หาใช่เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องเรียกร้องทั้งหนี้ตามตั๋วแลกเงินและหนี้ตามเช็คไม่ ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 แล้ว
ข้อกำหนดให้คิดดอกเบี้ยตามที่โจทก์นำสืบมิได้ระบุไว้ในตั๋วแลกเงินฉะนั้น แม้โจทก์จะมีพยานบุคคลมาสืบได้ความว่าจำเลยตกลงยอมเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ร้อยละ 15 ต่อปี หามีผลบังคับให้จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราตามที่โจทก์นำสืบมาไม่ กรณีต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 968(2) ที่บัญญัติให้ผู้ทรงตั๋วแลกเงินมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราเพียงร้อยละห้าต่อปีนับแต่วันที่ตั๋วแลกเงินถึงกำหนดเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2504 จำเลยได้ขายตั๋วแลกเงินชนิดจ่ายเงินทันทีตามคำสั่งโจทก์ สั่งให้ร้านปอกี่พืชผลจ่ายเงิน 50,000 บาทถ้าร้านปอกี่พืชผลไม่จ่ายเงินให้โจทก์จำเลยรับจะใช้เงิน 50,000 บาท พร้อมทั้งค่าเสียหายตามประเพณีธนาคารคิดเป็นดอกเบี้ยร้อยละ 1.25 บาทต่อเดือนให้โจทก์จนกว่าจะชำระเงินครบ โจทก์ได้จ่ายเงิน 50,000 บาท ให้จำเลยรับไปในวันขายตั๋วแลกเงินนั้น ธนาคารโจทก์สาขาปากน้ำโพได้ส่งตั๋วแลกเงินไปยังสำนักงานใหญ่ที่จังหวัดพระนครนำไปยื่นต่อร้านปอกี่ผู้จ่ายในวันที่ 17 และ 18 ตุลาคม 2504 ร้านปอกี่พืชผลไม่จ่ายเงินโจทก์จึงเรียกร้องให้จำเลยชำระ ต่อมาวันที่ 21 ธันวาคม 2504 จำเลยนำเช็คธนาคารนครหลวงไทย จำกัด ซึ่งนายกุยฮีเป็นผู้สั่งจ่ายรวม 3 ฉบับ เป็นเงิน 50,000 บาท มาชำระหนี้ตามตั๋วแลกเงินดังกล่าวเช็คทั้ง 3 ฉบับยังไม่ถึงกำหนดชำระเงิน จำเลยจึงโอนขายให้โจทก์เป็นเงิน 50,000 บาท โดยจำเลยสลักหลังโอนเช็คและเป็นผู้รับอาวัลและค้ำประกันว่าจะใช้เงินตามเช็คทั้ง 3 ฉบับให้แก่โจทก์ ถ้าเรียกเก็บไม่ได้ จำเลยได้เอาเงินค่าขายเช็คดังกล่าวชำระหนี้ตามตั๋วแลกเงินให้โจทก์ โจทก์คืนตั๋วแลกเงินให้จำเลยไป ถึงกำหนดใช้เงินตามเช็คปรากฏว่าเงินในบัญชีของนายกุยฮีไม่พอจ่ายตามเช็ค โจทก์จึงออกหนังสือคืนเช็คทั้ง 3 ฉบับทวงให้จำเลยชำระ ขอให้ชำระหนี้ตามตั๋วแลกเงินและเช็คเป็นเงิน 50,000 บาท กับดอกเบี้ยอีก 4,687.50 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 1.25 บาทต่อเดือนในต้นเงิน 50,000 บาท นับแต่วันฟ้อง
จำเลยให้การว่า จำเลยได้นำเงินสด 50,000 บาทไปชำระหนี้ตามตั๋วแลกเงินให้โจทก์แล้ว ไม่เคยนำเช็คทั้ง 3 ฉบับตามฟ้องไปชำระหนี้ตามตั๋วแลกเงิน ไม่เคยเป็นผู้รับอาวัล หรือค้ำประกันเช็คฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 50,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1.25 บาทต่อเดือน นับจากวันที่ 29 ธันวาคม 2504 เป็นต้นไป
จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและจำเลยได้ชำระหนี้ตามตั๋วแลกเงินเสร็จสิ้นไปแล้ว และโจทก์มีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละเจ็ดครึ่งเท่านั้น
ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องความว่า ชั้นแรกจำเลยออกตั๋วแลกเงินโดยจำเลยลงชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายนำมาขายให้โจทก์ ต่อมาโจทก์ทวงถามเงินที่จำเลยรับไปจากผู้จ่ายไม่ได้ จึงได้ทวงถามจากจำเลยจำเลยกลับนำเช็คพิพาททั้ง 3 ฉบับซึ่งเป็นเช็คลงวันที่ล่วงหน้านายกุยฮีเป็นผู้สั่งจ่ายมาโอนขายให้โจทก์อีกเพื่อเป็นการชำระหนี้ตามตั๋วแลกเงิน ในการนี้จำเลยได้ลงนามสลักหลังเป็นผู้รับอาวัลเช็คทั้ง 3 ฉบับนั้นด้วย ครั้นเช็คถึงกำหนด ปรากฏว่านายกุยฮีผู้สั่งจ่ายไม่มีเงินในบัญชีธนาคาร โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินตามเช็คทั้ง 3 ฉบับจากจำเลยในฐานะที่จำเลยเป็นผู้รับอาวัลตามเช็คนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการที่โจทก์บรรยายฟ้องถึงตั๋วแลกเงินและเช็ค เป็นเรื่องที่โจทก์บรรยายให้ทราบถึงมูลหนี้เดิมว่าเป็นมาอย่างไร และบัดนี้จำเลยต้องรับผิดชอบต่อโจทก์อย่างไร หาใช่เป็นเรื่องฟ้องโจทก์ฟ้องเรียกร้องทั้งหนี้ตามตั๋วแลกเงินและหนี้ตามเช็คดังที่จำเลยกล่าวอ้างว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมนั้นไม่ ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 แล้ว
จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิคิดค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยจากจำเลยถึงร้อยละ 1.25 บาทต่อเดือน ข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900 บัญญัติว่า “บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น” และตามความในมาตรา 911 บัญญัติว่า “ผู้สั่งจ่ายจะเขียนข้อความกำหนดลงไว้ว่าจำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้นให้คิดดอกเบี้ยด้วยก็ได้ “ข้อเท็จจริงปรากฏว่าข้อกำหนดให้คิดดอกเบี้ยตามที่โจทก์นำสืบดังกล่าวข้างต้น มิได้ระบุไว้ในตั๋วแลกเงิน ฉะนั้น แม้โจทก์จะมีพยานบุคคลมาสืบได้ความว่าจำเลยตกลงยอมเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ร้อยละ15 ต่อปี หรือร้อยละ 1.25 บาทต่อเดือนก็ตาม หามีผลบังคับให้จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราตามที่โจทก์นำสืบดังกล่าวแล้วไม่ กรณีต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 968(2) ที่บัญญัติให้ผู้ทรงตั๋วแลกเงินมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราเพียงร้อยละห้าต่อปีนับแต่วันที่ตั๋วแลกเงินถึงกำหนดเท่านั้น
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้จำเลยเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ในต้นเงิน 50,000 บาท นับจากวันที่ 29 ธันวาคม 2504 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเงินเสร็จให้โจทก์นอกจากที่แก้นี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์