คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3346/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์เพื่อให้มีการวินิจฉัยชี้ขาดคดีร้องทุกข์แล้วนำคำวินิจฉัยชี้ขาดเสนอนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลให้มีคำสั่งชี้ขาดการร้องทุกข์ โจทก์ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.น้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2521โจทก์ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตคือ 1.ต้องค้าน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว2.ต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2528) โจทก์มีหน้าที่ต้องสำรองน้ำมันตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.น้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2521 และประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2528) ต่อมากรมทะเบียนการค้าได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าใบอนุญาตค้าน้ำมันของโจทก์สิ้นผลแล้ว เพราะโจทก์สำรองน้ำมันไม่ครบปริมาณ 3,600,000 ลิตร ตามที่กฎหมายกำหนด โจทก์ได้มีหนังสือทักท้วงต่อจำเลยที่ 4 ขอให้ทบทวนและเพิกถอนหนังสือดังกล่าว กับโจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อ้างว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ไม่มีอำนาจกำหนดเงื่อนไขในประกาศกระทรวงพาณิชย์ให้ใบอนุญาตเป็นผู้ค้าน้ำมันสิ้นผลและตีความเรื่องการสำรองน้ำมันไม่ถูกต้องและผิดเจตนารมณ์ของกฎหมาย พร้อมกับขอให้ใช้มาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวแก่โจทก์คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ (คณะที่ 2) มีมติให้ใช้มาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวแก่โจทก์โดยให้โจทก์ดำเนินการค้าน้ำมันระหว่างรอคำวินิจฉัยไปพลางก่อน และสำรองน้ำมันไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของปริมาณที่นำเข้าหรือทำการค้าจริง จำเลยที่ 2 ได้ร่วมเป็นกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ (คณะที่ 2) ด้วย และเห็นพ้องด้วยกับการให้ใช้มาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวแก่โจทก์พร้อมทั้งทำบันทึกข้อสังเกตสนับสนุนต่อมาวันที่ 20 กันยายน 2531 คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ (คณะที่ 5)ได้วินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ของโจทก์ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ไม่มีอำนาจตามความในมาตรา 6 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.น้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2521 ที่จะกำหนดเงื่อนไขเรื่องการสิ้นผลของใบอนุญาตเป็นผู้ค้าน้ำมันไว้ในประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2528)ได้ และเสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มีคำสั่งถอนคืนหนังสือกรมทะเบียนการค้า ที่แจ้งให้โจทก์ทราบว่าใบอนุญาตค้าน้ำมันของโจทก์สิ้นผล แต่จำเลยที่ 2 ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาในขณะนั้นไม่ได้เสนอคำวินิจฉัยดังกล่าวไปให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ ครั้นต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จำเลยที่ 6ได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมในการออกใบอนุญาตเป็นผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 6 ตามสำเนาประกาศ ต่อมา ส. ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขา-ธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อจากจำเลยที่ 2 ได้เสนอคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ (คณะที่ 5) ไปยังนายกรัฐมนตรีโดยมีบันทึกข้อสังเกตของจำเลยที่ 2 ประกอบการพิจารณาสั่งการแนบไปด้วย จำเลยที่ 1 ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่ควบคุม กำกับ สั่งการ ดูแลคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแทนนายกรัฐมนตรีซึ่งปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้ที่ประชุมใหญ่กรรมการร่างกฎหมายวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายที่ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มีอำนาจตามมาตรา 6 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.น้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2521 กำหนดเงื่อนไขเรื่องการสิ้นผลของใบอนุญาตให้เป็นผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 6 ในกรณีที่ผู้ค้าน้ำมันไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่น ๆ ที่กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันต้องปฏิบัติหรือไม่ ที่ประชุมใหญ่กรรมการร่างกฎหมายได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวแล้วเห็นว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มีอำนาจกำหนดให้การสิ้นผลของใบอนุญาตการเป็นผู้ค้าน้ำมันเป็นเงื่อนไขประการหนึ่งเพื่อให้มีผลเป็นการถอนคืนการอนุญาตเมื่อผู้ได้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่น ๆ ที่กำหนดไว้ได้ จากนั้นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เสนอคำวินิจฉัยดังกล่าวไปยังจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงมีคำสั่งตามคำวินิจฉัยของที่ประชุมใหญ่กรรมการร่างกฎหมายให้ยกคำร้องทุกข์ของโจทก์ วันที่ 27 ธันวาคม 2534 กรมทะเบียนการค้าได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบถึงคำสั่งยกคำร้องทุกข์ ยังผลให้ใบอนุญาตเป็นผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.น้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2521 สิ้นผลนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากกรมทะเบียนการค้า ตาม พ.ร.บ.คณะกรรมการกฤษฎีกาพ.ศ.2522 มาตรา 49 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า เมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ได้วินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์เรื่องใดแล้ว ให้เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอคำวินิจฉัยไปยังนายกรัฐมนตรีโดยเร็วที่สุด แต่ต้องไม่เกินเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้มีคำวินิจฉัยเช่นนั้น การที่คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์(คณะที่ 5) มีคำวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์เป็นคุณแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2531 แต่จำเลยที่ 2 ไปราชการของรัฐสภาที่ประเทศบัลแกเรียตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2531 ถึงวันที่ 28 กันยายน2531 ในระหว่างนั้นมีผู้รักษาราชการแทนจำเลยที่ 2 ดังนั้น ในขณะที่ครบเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้มีคำวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ของโจทก์ตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.คณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ.2522 คือ วันที่ 27 กันยายน 2531 จำเลยที่ 2ยังปฏิบัติราชการอยู่ในต่างประเทศ จึงไม่สามารถเสนอคำวินิจฉัยไปยังนายกรัฐมนตรีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดได้ และเมื่อล่วงพ้นกำหนดเจ็ดวันไปแล้ว จำเลยที่ 2กลับจากต่างประเทศเดือนตุลาคม 2531 แม้จะไม่ได้เสนอคำวินิจฉัยไปยังนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา และเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาคนใหม่เพิ่งเสนอไปยังนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2534 ภายหลังจำเลยที่ 2 เกษียณอายุราชการไปแล้ว การฝ่าฝืนมาตรา 49 ของจำเลยที่ 2 จึงไม่อาจเกิดขึ้นได้อีกข้อเท็จจริงย่อมฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.คณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ.2522 แต่เมื่อจำเลยที่ 2 กลับจากไปราชการต่างประเทศแล้ว จำเลยที่ 2 ก็ยังมีหน้าที่ต้องเสนอคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ (คณะที่ 5) ไปยังนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 49 อยู่ การที่จำเลยที่ 2 มิได้เสนอและปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานานกว่า 2 ปี จนจำเลยที่ 2เกษียณอายุราชการ ทั้งกรณีไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรีว่าในระหว่างนั้นมีเหตุขัดข้องอย่างไรจึงยังไม่สามารถเสนอได้ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก็ตาม แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาทำให้โจทก์เสียหาย เพราะจำเลยที่ 2 ได้ทำบันทึกข้อสังเกตสนับสนุนเห็นพ้องด้วยกับการให้ใช้มาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวแก่โจทก์มาตั้งแต่เริ่มแรก การให้ใช้มาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวแก่โจทก์ในระหว่างที่รอจำเลยที่ 2 เสนอคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ (คณะที่ 5) ไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อสั่งการมีผลให้โจทก์สามารถค้าน้ำมันต่อไปได้ตามปกติ และได้สิทธิพิเศษสำรองน้ำมันน้อยกว่าผู้ค้าน้ำมันรายอื่น ๆ จนกว่านายกรัฐมนตรีจะสั่งการเรื่องร้องทุกข์ของโจทก์เสร็จสิ้น ดังนี้ความล่าช้าในการเสนอเรื่องร้องทุกข์ของโจทก์ไปให้นายกรัฐมนตรีสั่งการไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ แต่โจทก์กลับได้ประโยชน์ ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ย่อมไม่เป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 157
การที่จำเลยที่ 2 ไม่ได้เสนอคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ (คณะที่ 5) ไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อสั่งการตามมาตรา 49 แห่งพ.ร.บ.คณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ.2522 นั้น เป็นเรื่องการปฏิบัติราชการระหว่างจำเลยที่ 2 ผู้ใต้บังคับบัญชากับนายกรัฐมนตรีผู้บังคับบัญชาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ มิใช่กรณีที่จำเลยที่ 2 ปฏิบัติหรือละเว้นไม่ปฏิบัติต่อผู้ร้องทุกข์โดยมิชอบด้วยกฎหมายเพราะเหตุที่มีการร้องทุกข์นั้น การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ.2522 มาตรา 70
การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาทำบันทึกข้อสังเกตประกอบการเสนอคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์(คณะที่ 5) ต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาประกอบการสั่งการนั้น เป็นการเสนอเรื่องและข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุแห่งการร้องทุกข์และหลักกฎหมายที่จะนำมาใช้กับการร้องทุกข์ต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 ตาม พ.ร.บ.คณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ.2522มาตรา 6 วรรคหนึ่ง มาตรา 63 และมาตรา 62 (7) โดยเฉพาะกรณีของโจทก์เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่มีความสำคัญในทางกฎหมายปกครอง เพราะก่อนดำเนินการออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เกี่ยวกับการกำหนดเงื่อนไขในการออกและการสิ้นผลของใบอนุญาตเป็นผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 6 ไว้ในประกาศกระทรวงพาณิชย์ดังกล่าวกรมทะเบียนการค้าเคยหารือโดยขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นในปัญหาข้อกฎหมายว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะมีอำนาจตามมาตรา 6วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.น้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2521 กำหนดเงื่อนไขให้ใบอนุญาตเป็นผู้ค้าน้ำมันสิ้นผลหรือไม่ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยคณะกรรมการร่างกฎหมาย (คณะที่ 6) ได้ให้ความเห็นว่า มาตรา 6 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.น้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2521 ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กำหนดเงื่อนไขได้ทุกชนิด รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการสิ้นผลของใบอนุญาตเป็นผู้ค้าน้ำมันด้วยซึ่งกรมทะเบียนการค้าและกระทรวงพาณิชย์ยึดถือเป็นหลักปฏิบัติราชการอยู่ แต่คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ (คณะที่ 5) ได้วินิจฉัยในปัญหาเดียวกันนี้ว่า การใช้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตามมาตรา 6 วรรคสอง ที่กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการสิ้นผลของใบอนุญาตเป็นผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 6 เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการเกินอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่กฎหมายให้ไว้ซึ่งขัดแย้งกับความเห็นของคณะกรรมการร่างกฎหมาย (คณะที่ 6) และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ (คณะที่ 5) มีผลกระทบกระเทือนต่อวิถีทางปฏิบัติราชการของกระทรวงพาณิชย์ อันอาจก่อให้เกิดผลเสียหายแก่ประโยชน์สาธารณะหรือแก่ระบบบริหารราชการเป็นส่วนรวม จำเลยที่ 2 จึงจำเป็นต้องหาข้อยุติ และทำบันทึกข้อสังเกตในเรื่องนี้ และในบันทึกข้อสังเกตของจำเลยที่ 2 ก็ได้เสนอทางเลือกให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา 2 ประการ คือ ประการแรก นายกรัฐมนตรีอาจสั่งการให้ที่ประชุมใหญ่กรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์พิจารณาทบทวน ประการที่สองนายกรัฐมนตรีอาจขอความเห็นจากที่ประชุมใหญ่กรรมการร่างกฎหมายในปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะมีอำนาจตามมาตรา 6 วรรคสองกำหนดเงื่อนไขเรื่องการสิ้นผลของใบอนุญาตให้เป็นผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 6 ได้หรือไม่ ส่วนนายกรัฐมนตรีจะพิจารณาสั่งการให้ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ (คณะที่ 5)ไปเลย หรือจะสั่งการให้นำปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับการร้องทุกข์ดังกล่าวเข้าพิจารณาในที่ประชุมใหญ่กรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์หรือเข้าพิจารณาในที่ประชุมใหญ่กรรมการร่างกฎหมาย ก็เป็นดุลพินิจอยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 2 ไม่อาจเข้าไปก้าวก่ายชี้นำได้ และมติของที่ประชุมใหญ่กรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์หรือกรรมการร่างกฎหมายจะออกมาอย่างไร ก็ไม่อาจทราบล่วงหน้าได้ การที่ ส.ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อจากจำเลยที่ 2 ได้เสนอคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ (คณะที่ 5)ไปยังนายกรัฐมนตรีพร้อมแนบบันทึกข้อสังเกตของจำเลยที่ 2 ไปด้วยภายหลังที่จำเลยที่ 2 เกษียณอายุราชการแล้ว และนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้นำปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวเข้าพิจารณาในที่ประชุมใหญ่กรรมการร่างกฎหมาย ซึ่งต่อมาที่ประชุมใหญ่กรรมการร่างกฎหมายมีมติกลับคำวินิจฉัยเดิมของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์(คณะที่ 5) นายกรัฐมนตรีจึงได้มีคำสั่งให้ยกคำร้องทุกข์ของโจทก์ในเวลาต่อมานั้นการกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการชี้นำกลั่นแกล้งโจทก์เพื่อให้มีการพลิกผลคำวินิจฉัยเดิม จำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ในส่วนนี้โดยชอบด้วยกฎหมายและเหตุผลแล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 157
การที่เจ้าหน้าที่ของกองน้ำมันเชื้อเพลิงไปตรวจสอบการสำรองน้ำมันของโจทก์ก็ดี การตีความการสำรองน้ำมันของโจทก์ว่าโจทก์ต้องสำรองน้ำมันไว้ล่วงหน้าในอัตราร้อยละ 3 ของปริมาณที่ได้รับอนุญาตให้ค้าทั้งปี ตามที่ยึดถือเป็นหลักใช้ปฏิบัติแก่ผู้ค้าน้ำมันทั่วไปทุกรายก็ดี เมื่อโจทก์สำรองน้ำมันไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวจึงเป็นการผิดเงื่อนไขในใบอนุญาตเป็นผู้ค้าน้ำมันตาม พ.ร.บ.น้ำมันเชิ้อเพลิง พ.ศ.2521 มาตรา 6 จนเป็นเหตุให้รองอธิบดีกรมทะเบียนการค้าซึ่งปฏิบัติราชการแทนจำเลยที่ 4 มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าใบอนุญาตเป็นผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 6 ของโจทก์สิ้นผลก็ดี เมื่อล้วนเป็นการปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายและประกาศกระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้ และมิใช่เป็นการปฏิบัติตามแผนการของบริษัทค้าน้ำมันต่างชาติหรือเพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางที่ไม่ชอบของจำเลยที่ 3และที่ 4 การกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เมื่อไม่เป็นการร่วมกันกระทำการดังกล่าวเพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ให้หยุดประกอบการค้าน้ำมัน จึงไม่เป็นความผิดตามป.อ.มาตรา 83, 157
อำนาจหน้าที่ในการควบคุมดูแลการจำหน่ายน้ำมันเป็นของจำเลยที่ 3 ซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงพาณิชย์ และของกรมทะเบียนการค้าซึ่งมีจำเลยที่ 4 ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทะเบียนการค้า แต่ในการปฏิบัติราชการดังกล่าว จำเลยที่ 3 ได้มอบอำนาจหน้าที่ในการสั่งการอนุญาต การอนุมัติ หรือปฏิบัติราชการเกี่ยวกับราชการของกรมทะเบียนการค้าให้แก่ ฉ.รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปฏิบัติราชการแทนจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 มิได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติราชการของ ฉ. การเสนอเรื่องของกรมทะเบียนการค้าเกี่ยวกับเรื่องน้ำมันจึงต้องเสนอต่อรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ผู้รับมอบอำนาจหน้าที่จากปลัดกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ก็สามารถเสนอเรื่องไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์โดยตรง ไม่ต้องเสนอผ่านปลัดกระทรวงพาณิชย์ก่อน กรณีของโจทก์จำเลยที่ 4 ได้เสนอเรื่องพร้อมกับร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2531) ซึ่งได้ดำเนินการตามขั้นตอนถูกต้องตามกฎหมายไปยัง ฉ.รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ผู้มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลกรมทะเบียนการค้า หลังจากนั้น ฉ.ก็ได้เสนอเรื่องไปยังจำเลยที่ 6 ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เพื่อพิจารณาลงนามในร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2531) เพื่อใช้บังคับต่อไปโดยไม่ได้เสนอผ่านจำเลยที่ 3 ก่อน จำเลยที่ 3 จึงมิได้เกี่ยวข้องกับการจัดทำและเสนอร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2531) ต่อจำเลยที่ 6 ส่วนการที่จำเลยที่ 4 ดำเนินการยกร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2531) แล้วนำเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้นตอนของกฎหมายจนถึงจำเลยที่ 6 เพื่อลงนามใช้บังคับ ก็ดำเนินการตามนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและมติของคณะรัฐมนตรี โดยมีเจตนารมณ์เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านการพลังงานของประเทศ และผ่านขั้นตอนในการดำเนินการออกประกาศดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2531) ก็ออกมาเพื่อใช้บังคับแก่ผู้ค้าน้ำมันโดยทั่วไป มิได้เฉพาะเจาะจงบังคับใช้แก่โจทก์ และการที่จำเลยที่ 6 ลงนามในประกาศกระทรวงพาณิชย์ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2531) ก็กระทำโดยสุจริต เพราะเห็นว่าได้เสนอผ่านลำดับขั้นตอนถูกต้องตามกฎหมายและเป็นไปตามนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและมติของคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านการพลังงานของประเทศ ทั้งผู้ค้าน้ำมันโดยทั่วไปก็สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขและสำรองน้ำมันได้ถูกต้องครบถ้วน ยกเว้นโจทก์และบริษัทบอสตันออยล์ จำกัด เท่านั้นที่ไม่สำรองน้ำมันให้ถูกต้องครบถ้วน การกระทำของจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 จึงมิได้ร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ออกกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวมาเพื่อกีดกันมิให้โจทก์สามารถขอใบอนุญาตประกอบการค้าน้ำมันได้ ย่อมไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157, 83

Share