คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1047/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502มาตรา 4 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงถึงตลอดชีวิตและปรับไม่เกิน 40,000 บาท ให้จำคุกจำเลย 7 ปีและให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ด้วย จำเลยฎีกาและร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างฎีกา ศาลอนุญาตให้ประกันตีราคา 100,000 บาท การปล่อยชั่วคราวโดยให้ประกันตัวจำเลยระหว่างฎีกาเป็นราคา 100,000 บาทในกรณีเช่นนี้ ไม่เป็นการเรียกประกันเกินควร และไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 28 แต่อย่างไร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นพนักงานองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ได้เบียดบังยักยอกเงินขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ขอให้ลงโทษจำเลยให้การปฏิเสธข้อหา ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 ให้จำคุกจำเลย 7 ปี และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 237,776.24 บาทแก่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จำเลยฎีกาและร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างฎีกาศาลอนุญาตให้นายสรศาสตร์ ชาติชำนิ ทำสัญญาประกันตัวจำเลยไปได้ เป็นราคา 100,000 บาท ต่อมาศาลชั้นต้นนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา และนัดให้นายประกันส่งตัวจำเลยมาฟัง นายประกันส่งตัวจำเลยไม่ได้ เพราะยังตามหาตัวไม่พบ ศาลเลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้อีกนัดหนึ่ง แต่นายประกันก็ยังตามหาตัวจำเลยมาส่งไม่ได้ศาลชั้นต้นจึงสั่งปรับนายประกัน 100,000 บาทตามสัญญาประกันแล้วให้ออกหมายจับจำเลยและเลื่อนการอ่านคำพิพากษาไป ครบกำหนดนัดจำเลยไม่ได้มาฟัง ศาลจึงอ่านคำพิพากษาฎีกานั้นไป ปรากฏว่าศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

นายประกันอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นว่าสั่งปรับนายประกันสูงเกินไป

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งปรับของศาลชั้นต้น

นายประกันฎีกาคัดค้านว่า ความผิดของจำเลยในคดีนี้ถ้าหากจะต้องรับโทษปรับก็เพียงไม่เกิน 40,000 บาท ผู้ประกันก็ควรจะต้องรับผิดชอบเท่าค่าปรับเพียง 40,000 บาท ที่ศาลปรับถึง 100,000 บาทนั้น แพ่งเกินควรแก่กรณี ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 28

ศาลฎีกาเห็นว่า ความผิดที่ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยมาในคดีนี้นั้นคือความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงถึงตลอดชีวิต และให้ปรับด้วยไม่เกิน 40,000 บาท หาใช่มีโทษแต่เพียงปรับสถานเดียวเท่านั้นไม่ และศาลอุทธรณ์ก็ได้พิพากษาลงโทษจริงจำคุกถึง 7 ปี การปล่อยชั่วคราวโดยให้ประกันตัวจำเลยระหว่างฎีกาเป็นราคา 100,000 บาทนั้น ไม่เป็นการเรียกประกันเกินควร ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 28 แต่อย่างไร พิพากษายืน

Share