แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์ภาพเขียนลายเส้นรูปสุนัขกระโดด ภาพเขียนลายเส้นรูปสุนัขกระโดดกับอักษรโรมันคำว่า “DALMATINER” และภาพเขียนลายเส้นรูปสุนัขกระโดดและอักษรโรมันคำว่า “dalmatiner” จำนวน 3 ภาพ ขึ้นมาด้วยตนเอง ภาพเขียนรูปสุนัขกระโดดดังกล่าวจึงเป็นงานศิลปกรรมประเภทจิตรกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ และโจทก์มีขอบเขตแห่งลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 15 ที่จะทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งภาพเขียนรูปสุนัขกระโดดดังกล่าวให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์ในภาพเขียนนั้นแก่ผู้อื่น กับอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิทำซ้ำ ดัดแปลง และเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งภาพเขียนดังกล่าว เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ใช้ภาพเขียนนี้เป็นเครื่องหมายการค้ากับสินค้าเสื้อ กางเกง เสื้อกีฬา กางเกง กีฬา รองเท้ากีฬา และจดทะเบียนภาพเขียนนี้เป็นเครื่องหมายการค้า โจทก์จึงไม่มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้าภาพเขียนรูปสุนัขกระโดดนี้สำหรับสินค้าดังกล่าวได้ และไม่อาจหวงกันผู้อื่นมิให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าดังกล่าวได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 44 ภาพเขียนรูปสุนัขกระโดดนี้จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 การที่โจทก์อนุญาตให้บริษัท ส. นำภาพเขียนรูปสุนัขกระโดดอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าเสื้อและกางเกง แล้วบริษัท ส. โอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 นำไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้กับสินค้าในจำพวก 25 รายการสินค้า เสื้อ กางเกง ต่อมาจำเลยที่ 1 โอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 5 การที่จำเลยทั้งแปดได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าเสื้อและกางเกงจึงเป็นการใช้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 44 ในการใช้เครื่องหมายการค้านี้อย่างเครื่องหมายการค้าโดยชอบ การกระทำของจำเลยทั้งแปดหาใช่การกระทำต่อภาพเขียนรูปสุนัขกระโดดซึ่งเป็นรูปแบบของการแสดงออกซึ่งความคิดที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใดไม่ จึงไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในภาพเขียนรูปสุนัขกระโดดของโจทก์ และไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเพื่อการละเมิดลิขสิทธิ์แก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าภาพเขียนตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 1 เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งแปดเลียนแบบ ทำซ้ำ ภาพเขียนตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 1 อันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 6,900,000 บาท และร่วมกันชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จะชำระเสร็จสิ้น ให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 2,656,000 บาท และร่วมกันชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 จะชำระเสร็จสิ้น กับให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ 250,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะเลิกใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์
จำเลยทั้งแปดให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งแปด โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในภาพเขียนลายเส้นรูปสุนัขกระโดด ภาพเขียนลายเส้นรูปสุนัขกระโดดและอักษรโรมันคำว่า “DALMATINER” คือภาพ และภาพเขียนลายเส้นรูปสุนัขกระโดดและอักษรโรมันคำว่า “dalmatiner” คือภาพ จำนวน 3 ภาพ ตามภาพเขียนหรือไม่ ในปัญหานี้ได้ความจากบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของโจทก์ว่าโจทก์ได้คิดและเขียนภาพสุนัขกระโดดโดยได้ออกแบบและเขียนขึ้นจากแนวความคิดของโจทก์เอง โจทก์ได้เกิดจินตนาการในการคิดสร้างสรรค์ภาพตราสัญลักษณ์รูปสุนัขประดิษฐ์ที่มีรูปร่างปราดเปรียวว่องไว มีความทะเยอทะยานที่จะมุ่งไปสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จเพื่อจะนำไปใช้เป็นรูปตราสัญลักษณ์ทางธุรกิจของโจทก์ จนสุดท้ายมาลงตัวที่สุนัขพันธุ์หนึ่งที่มีรูปลักษณะตรงกับความต้องการของโจทก์ จึงได้เขียนรูปสุนัขดังกล่าวขึ้นมาจากจินตนาการ ต่อมาได้ขอให้นางสาวไฮดรุน สัญชาติเยอรมัน เพื่อนโจทก์ ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ให้ช่วยทำการปรับปรุงภาพร่างรูปสุนัขของโจทก์เพื่อให้ได้ภาพเขียนที่ถูกต้องได้สัดส่วนโดดเด่นสวยงาม ตามภาพเขียน เมื่อปรับปรุงเสร็จแล้วนางสาวไฮดรุนก็มอบภาพเขียนที่สมบูรณ์กลับคืนมาให้โจทก์ หลังจากได้สร้างสรรค์ภาพเขียนแล้วโจทก์ได้คิดกลุ่มคำว่า “DALMATINER” เพื่อจะนำไปประกอบกับรูปสุนัขกระโดดอันเป็นภาพศิลปะของโจทก์ โดยจะให้อยู่ในรูปเครื่องหมายการค้าอีกรูปแบบหนึ่งต่างหากจากงานลิขสิทธิ์ในงานภาพเขียนรูปสุนัข เมื่อปี 2536 โจทก์ได้อนุญาตให้บริษัทสยามรีเซ็ท จำกัด นำเอาภาพเขียนรูปสุนัขและอักษรโรมันคำว่า dalmatiner” ประกอบกันไปจดทะเบียนเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2536 ในรูปแบบของเครื่องหมายการค้า โดยบริษัทสยามรีเซ็ท จำกัด เป็นผู้ยื่นคำขอและจดทะเบียนเป็นเจ้าของไว้กับสินค้าในจำพวก 25 รายการสินค้า เสื้อแขนสั้น เสื้อแขนยาว เสื้อยืด กางเกงขาสั้น กางเกงขายาว เสื้อยกทรง กางเกงใน เสื้อซับใน ชุดนอน เป็นคำขอเลขที่ 256024 ทะเบียนเลขที่ ค55687 ตามสำเนาหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ส่วนพยานจำเลยทั้งแปดไม่มีพยานปากใดโต้แย้งคัดค้านว่าโจทก์ไม่ได้เป็นผู้สร้างสรรค์ภาพเขียนลายเส้นรูปสุนัขกระโดด ภาพเขียนลายเส้นรูปสุนัขกระโดดและอักษรโรมันคำว่า “DALMATINER” และภาพเขียนลายเส้นรูปสุนัขกระโดดและอักษรโรมันคำว่า “dalmatiner” จำนวน 3 ภาพ แต่อย่างใดโจทก์ได้ให้ถ้อยคำตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของโจทก์ว่า เมื่อปี 2536 โจทก์ได้วาดภาพลายเส้นรูปสุนัขกระโดดและอักษรโรมันคำว่า “dalmatiner” จำนวน 3 ภาพ แต่ตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ได้ความว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 เข้ามาเกี่ยวข้องกับเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขกระโดดและอักษรโรมันคำว่า “dalmatiner” ซึ่งบริษัทสยามรีเซ็ท จำกัด ได้จดทะเบียนไว้กับสินค้าในจำพวก 25 รายการสินค้า เสื้อ กางเกง ชุดนอน เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2536 เป็นคำขอจดทะเบียนเลขที่ 256024 ทะเบียนเลขที่ ค55687 ตามสำเนาหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โดยเมื่อต้นปี 2539 จากการที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 คุยกับโจทก์ในเรื่องธุรกิจอันนำไปสู่การดำเนินการจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 ขึ้นมารับดำเนินการจำหน่ายสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 3 เข้ามาเกี่ยวข้องกับเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขกระโดดและอักษรโรมันคำว่า “dalmatiner” ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 256024 ทะเบียนเลขที่ ค55687 ตามสำเนาหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอกสาร เมื่อมีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2539 ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวก็เป็นระยะเวลาภายหลังที่โจทก์ได้สร้างสรรค์ภาพเขียนลายเส้นรูปสุนัขกระโดด ภาพเขียนลายเส้นรูปสุนัขกระโดดและอักษรโรมันคำว่า “DALMATINER” และภาพเขียนลายเส้นรูปสุนัขกระโดดและอักษรโรมันคำว่า “dalmatiner” จำนวน 3 ภาพ ในปี 2536 และภายหลังจากวันที่ 24 พฤศจิกายน 2536 อันเป็นวันที่มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวแล้ว โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ต่างไม่มีพยานคนใดที่รู้เห็นที่มาของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวว่าได้นำมาจากภาพเขียนลายเส้นรูปสุนัขกระโดด ภาพเขียนลายเส้นรูปสุนัขกระโดดและอักษรโรมันคำว่า “DALMATINER” และภาพเขียนลายเส้นรูปสุนัขกระโดดและอักษรโรมันคำว่า “dalmatiner” จำนวน 3 ภาพแต่ประการใด ส่วนจำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 ก็เพิ่งเข้ามาเกี่ยวข้องกับเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขกระโดดและอักษรโรมันคำว่า “Dalmatiner” คือเครื่องหมายการค้า ซึ่งได้จดทะเบียนไว้เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2547 รายการสินค้า เสื้อ เสื้อชั้นใน (ยกเว้นเสื้อกีฬา) กางเกง กางเกงชั้นใน (ยกเว้นกางเกงกีฬา) ชุดใส่นอน รองเท้า (ยกเว้น รองเท้ากีฬา) เนกไท ถุงเท้า ถุงมือ ผ้าพันคอ ผ้าเช็ดหน้า เข็มขัด เป็นคำขอจดทะเบียนเลขที่ 574687 ทะเบียนเลขที่ ค 222989 สำหรับสินค้าในจำพวก 25 ตามสำเนาคำขอจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 และรายละเอียดการพิจารณาเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 574688 ทะเบียนเลขที่ ค224854 ซึ่งได้จดทะเบียนไว้เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2547 สำหรับสินค้าในจำพวก 18 รายการสินค้า กระเป๋าทำจากหนังสัตว์ ตามสำเนาคำขอจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 และรายละเอียดการพิจารณาเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 610068 ทะเบียนเลขที่ ค243695 ซึ่งได้จดทะเบียนไว้เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2548 สำหรับสินค้าในจำพวก 25 รายการสินค้า เสื้อกีฬา กางเกงกีฬา รองเท้ากีฬา ตามสำเนาคำขอจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 และรายละเอียดการพิจารณาเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 610069 ทะเบียนเลขที่ ค240676 ซึ่งได้จดทะเบียนไว้เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2548 สำหรับสินค้าในจำพวก 24 รายการสินค้า ปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว ตามสำเนาคำขอจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 และรายละเอียดการพิจารณาเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 610070 ทะเบียนเลขที่ ค246926 ซึ่งได้จดทะเบียนไว้เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2548 สำหรับสินค้าในจำพวกที่ 28 รายการสินค้า ลูกกอล์ฟ ถุงกอล์ฟ ตามสำเนาคำขอจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 และรายละเอียดการพิจารณาและเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 610262 ทะเบียนเลขที่ ค247841 ซึ่งได้จดทะเบียนไว้เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2548 สำหรับสินค้าในจำพวก 18 รายการสินค้า ร่ม ตามสำเนาคำขอจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 และ เมื่อมีการทำบันทึกข้อตกลงโอนขายกิจการของจำเลยที่ 1 พร้อมกับเครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นเจ้าของให้แก่จำเลยที่ 5 ในวันที่ 15 ธันวาคม 2549 ตามสำเนาบันทึกข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 5 ซึ่งก็เกิดขึ้นในภายหลังจากปี 2536 ที่โจทก์อ้างว่าได้ทำการสร้างสรรค์ภาพเขียนลายเส้นรูปสุนัขกระโดด ภาพเขียนลายเส้นรูปสุนัขกระโดดและอักษรโรมันคำว่า “DALMATINER” และภาพเขียนลายเส้นรูปสุนัขกระโดดและอักษรโรมันคำว่า “dalmatiner” จำนวน 3 ภาพ เป็นเวลานาน จึงมีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยที่ 5 ไม่ทราบด้วยเช่นกันว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์ภาพเขียนลายเส้นรูปสุนัขกระโดด ภาพเขียนลายเส้นรูปสุนัขกระโดดและอักษรโรมันคำว่า “DALMATINER” และภาพเขียนลายเส้นรูปสุนัขกระโดดและอักษรโรมันคำว่า “dalmatiner” จำนวน 3 ภาพ ที่ได้นำมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้า ดังกล่าว ดังนั้นข้อเท็จจริงจึงย่อมรับฟังได้ตามทางนำสืบของโจทก์ว่า เมื่อปี 2536 โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์ภาพเขียนลายเส้นรูปสุนัขกระโดด ภาพเขียนลายเส้นรูปสุนัขกระโดดและอักษรโรมันคำว่า “DALMATINER” และภาพเขียนลายเส้นรูปสุนัขกระโดดและอักษรโรมันคำว่า “dalmatiner” จำนวน 3 ภาพ ขึ้นมาด้วยตนเอง ภาพเขียนรูปสุนัขกระโดดดังกล่าวจึงเป็นงานศิลปกรรม ประเภทจิตรกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อต่อไปว่า จำเลยทั้งแปดกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในภาพเขียนรูปสุนัขกระโดดอันเป็นงานศิลปกรรมประเภทจิตรกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์และต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามคำฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในภาพเขียนรูปสุนัขกระโดดอันเป็นงานศิลปกรรมประเภทงานจิตรกรรมตามภาพเขียน มีขอบเขตแห่งลิขสิทธิ์ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 15 กล่าวคือ โจทก์มีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งภาพเขียนรูปสุนัขกระโดดดังกล่าวให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์ในภาพเขียนนั้นแก่ผู้อื่น และอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิทำซ้ำ ดัดแปลง และเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งภาพเขียนรูปสุนัขกระโดดดังกล่าว เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ใช้ภาพเขียน เป็นเครื่องหมายการค้ากับสินค้าเสื้อ กางเกง เสื้อกีฬา กางเกงกีฬา รองเท้ากีฬา และจดทะเบียนภาพเขียน เป็นเครื่องหมายการค้าดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้า สำหรับสินค้าดังกล่าวและไม่อาจหวงกันผู้อื่นมิให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าดังกล่าวตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 44 ภาพเขียน อันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 การที่จำเลยทั้งแปดใช้ภาพเขียนรูปสุนัขกระโดดและอักษรโรมันคำว่า “Dalmatiner” กับสินค้าเสื้อและกางเกงเป็นการใช้ภาพและคำดังกล่าวอย่างเครื่องหมายการค้า เมื่อโจทก์มิได้ใช้ภาพเขียน เป็นเครื่องหมายการค้า โจทก์จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 นอกจากนี้ยังปรากฏว่าโจทก์ได้อนุญาตให้บริษัทสยามรีเซ็ท จำกัด นำเอาภาพเขียนรูปสุนัขกระโดดดังกล่าวไปจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้า เพื่อใช้กับสินค้าเสื้อและกางเกง ตามสำเนาหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 256024 ทะเบียนเลขที่ ค55687 และบริษัทสยามรีเซ็ท จำกัด ได้จดทะเบียนโอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ตามคำขอโอนพร้อมสัญญาดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ไว้กับสินค้าในจำพวก 25 รายการสินค้า เสื้อ เสื้อซับใน (ยกเว้นเสื้อกีฬา) กางเกง กางเกงชั้นใน (ยกเว้นกางเกงกีฬา) ชุดใส่นอน รองเท้า (ยกเว้นรองเท้ากีฬา) เนกไท ถุงเท้า ถุงมือ ผ้าพันคอ ผ้าเช็ดหน้า เข็มขัด เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2547 ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 574687 ทะเบียนเลขที่ ค222989 กับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ไว้กับสินค้าในจำพวก 25 รายการสินค้า เสื้อกีฬา กางเกงกีฬา รองเท้ากีฬาเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2548 ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 610068 ทะเบียนเลขที่ ค243695 แล้วจำเลยที่ 1 โอนเครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 5 ตามคำขอโอนและหนังสือโอน จึงเป็นการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ทั้งสองคำขอดังกล่าวและจดทะเบียนโอนเครื่องหมายการค้าทั้งสองคำขอนี้แก่จำเลยที่ 5 โดยสุจริต เมื่อโจทก์ได้อนุญาตให้บริษัทสยามรีเซ็ท จำกัด นำภาพเขียนรูปสุนัขอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ไปจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้า เพื่อใช้กับสินค้าเสื้อและกางเกงตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค55687 และบริษัทสยามรีเซ็ท จำกัด ได้โอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ตามคำขอโอนพร้อมสัญญา และจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ไว้กับสินค้าในจำพวก 25 รายการสินค้า เสื้อ กางเกง ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค222989 และเลขที่ ค243695 แล้ว จำเลยที่ 1 โอนเครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 5 ตามคำขอโอนและหนังสือโอน ดังนี้ การที่จำเลยทั้งแปดได้ใช้เครื่องหมายการค้า กับสินค้าเสื้อและกางเกงตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค55687 เลขที่ ค222989 และเลขที่ ค243695 จึงเป็นการใช้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 44 ในการใช้เครื่องหมาย อย่างเครื่องหมายการค้าโดยชอบ การกระทำของจำเลยทั้งแปดดังกล่าวหาใช่การกระทำต่อภาพเขียน ซึ่งเป็นรูปแบบของการแสดงออกซึ่งความคิดที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 วรรคหนึ่งแต่อย่างใดไม่ การกระทำของจำเลยทั้งแปดดังกล่าวจึงไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในภาพเขียน อันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยทั้งแปดย่อมไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเพื่อการละเมิดลิขสิทธิ์แก่โจทก์ตามคำฟ้อง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ