คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12978/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์มีหนังสือสอบถามจำเลยถึงการโอนเงินบำเหน็จเพิ่มเติมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพว่าจะถือเป็นรายจ่ายเพื่อคำนวณเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคลปี 2549 ได้หรือไม่ จำเลยในฐานะที่ปรึกษาภาษีอากร มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะแก่โจทก์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนหรือมีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวด้วยแล้ว จำเลยยิ่งมีหน้าที่ต้องเสนอแนะแนวทางป้องกันความเสียหาย หรือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยอาจเสนอแนะโจทก์ให้ส่งข้อหารือไปยังกรมสรรพากรทันทีที่ได้รับหนังสือตอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือให้โจทก์ยื่นคำขอคืนภาษีไว้ก่อน เพื่อมิให้การขอคืนภาษีขาดอายุความ แต่จำเลยก็มิได้กระทำ กลับมีหนังสือตอบข้อหารือโดยระบุเพียงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามกฎกระทรวงที่ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อธิบายหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยมิได้ตอบหรือให้ความเห็นอย่างชัดแจ้ง กลับปล่อยให้เป็นภาระของโจทก์ที่จะต้องไปตีความหรือหาคำตอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่โจทก์ว่าจ้างจำเลยเป็นที่ปรึกษาภาษีอากรด้วยค่าจ้างที่สูงมาก ดังนี้ การที่จำเลยมิได้ตอบข้อหารืออย่างชัดแจ้งจึงไม่เป็นไปตามสัญญาจ้าง ข้อที่ 4 และ 5 ถือได้ว่า จำเลยมิได้ปฏิบัติตามสัญญาให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ จึงเป็นการผิดสัญญาจ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 9,354,957.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2554 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 9,354,957.16 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ ดอกเบี้ยคิดจนถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 29 ตุลาคม 2555) ต้องไม่เกิน 690,088.27 บาท กับให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 30,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยเป็นที่ปรึกษาภาษีอากรเพื่อดำเนินการให้คำปรึกษา เสนอแนะ วางแผนวิธีการปฏิบัติงานด้านภาษีอากรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโจทก์และสอบทานระบบงานภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์มีกำหนดเวลา 20 เดือน โดยแบ่งเป็นงานสอบทานระบบภาษีถึงวันที่ 8 ตุลาคม 2549 และงานให้คำปรึกษาภาษีอากรมีกำหนดปฏิบัติงานเป็นรายเดือน เดิมจำเลยต้องปฏิบัติงานให้แล้วเสร็จวันที่ 8 ตุลาคม 2550 แต่ขยายเวลาเป็นวันที่ 2 มกราคม 2551 ตามสัญญาจ้างที่ปรึกษาภาษีอากรและเอกสารแนบท้ายสัญญา เดิมก่อนที่การสื่อสารแห่งประเทศไทยจะแปลงสภาพเป็นโจทก์นั้น การสื่อสารแห่งประเทศไทยจัดตั้งกองทุนบำเหน็จสำหรับผู้ปฏิบัติงานโดยการสื่อสารแห่งประเทศไทยจ่ายเงินเข้ากองทุน เป็นรายเดือนทุกเดือนในอัตราร้อยละ 10 ของเงินเดือนผู้ปฏิบัติงานทั้งหมด ต่อมาการสื่อสารแห่งประเทศไทยจดทะเบียนจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งพนักงานการสื่อสารแห่งประเทศไทยมีสิทธิสมัครกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรืออยู่ในระบบกองทุนบำเหน็จตามเดิมก็ได้ ต่อมาคณะรัฐมนตรีอนุมัติและเห็นชอบการแปลงสภาพการสื่อสารแห่งประเทศไทยและโจทก์ ตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 โดยโอนกิจการ สิทธิ หนี้ ความรับผิด และสินทรัพย์ให้แก่โจทก์ รวมทั้งให้พนักงานโอนไปเป็นลูกจ้างโจทก์และได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง และสิทธิประโยชน์ไม่น้อยกว่าที่เคยรับอยู่เดิม ทั้งให้ถือระยะเวลาทำงานของพนักงานของการสื่อสารแห่งประเทศไทยเป็นเวลาทำงานกับโจทก์ ตลอดจนให้โจทก์มีฐานะเป็นนายจ้างในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนบำเหน็จ ในปี 2548 โจทก์ออกระเบียบฉบับที่ 18 ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จสำหรับผู้ปฏิบัติงานในบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2548 แก้ไขข้อบังคับกองทุนบำเหน็จเกี่ยวกับวิธีการคำนวณเงินแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่พนักงานปฏิบัติงานอยู่กับการสื่อสารแห่งประเทศไทยและช่วงที่ปฏิบัติงานอยู่กับโจทก์ และได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ให้นำเงินบำเหน็จที่นายจ้างสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในครั้งเดียวภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2548 จำนวน 700,000,000 บาท โดยโจทก์โอนเงินจากกองทุนบำเหน็จไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเงิน 392,178,954.31 บาท ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลเฉพาะจำนวนที่โอนจากกองทุนบำเหน็จตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2546 รวมเป็นเงิน 49,348,300.83 บาท โดยนำมาเฉลี่ย 5 รอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่ปี 2548 ถึงปี 2552 ปีละ 9,879,660.17 บาท ตามระเบียบฉบับที่ 18 และหนังสือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ จากการออกข้อบังคับทำให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจร้องเรียนโจทก์ด้วยเหตุการณ์แบ่งคำนวณเงินเป็น 2 ช่วง โจทก์นำเงินบำเหน็จสะสมโอนเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีจำนวนน้อยลงเนื่องจากฐานเงินเดือนพนักงานขณะที่ปฏิบัติงานกับการสื่อสารแห่งประเทศไทยมีจำนวนน้อยกว่าฐานเงินเดือนของพนักงานขณะแปลงสภาพเป็นโจทก์แล้ว เป็นเหตุให้พนักงานเสียประโยชน์จากการออกระเบียบ ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีหนังสือตอบข้อหารือโจทก์ว่า การแก้ไขข้อบังคับเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงสภาพการจ้างที่ขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ข้อบังคับจึงไม่อาจใช้บังคับได้ตั้งแต่ต้น โจทก์จึงใช้ข้อบังคับเดิมของกองทุนบำเหน็จในการคำนวณเงินบำเหน็จในช่วงเดียวกันทำให้ต้องจ่ายเงินบำเหน็จเป็นเงินสมทบเพิ่มเติมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 155,915,952.69 บาท โจทก์สอบถามจำเลยว่า การโอนเงินบำเหน็จเพิ่มเติมถือเป็นรายจ่ายเพื่อคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลปี 2549 ได้หรือไม่ และบัญชีคำนวณอย่างไร จำเลยตอบข้อหารือโจทก์โดยสรุปว่า ในการจ่ายสมทบเข้ากองทุนทั้งหมดในครั้งเดียวให้ถือเป็นรายจ่าย 5 รอบระยะเวลาบัญชี รอบละเท่า ๆ กัน และในกรณีที่เป็นการจ่ายกองทุนไม่หมดในครั้งเดียว ต้องจ่ายสมทบเข้ากองทุนให้หมดภายใน 10 ครั้ง ตามรอบระยะเวลาบัญชี นอกจากนี้โจทก์มีหนังสือขอให้จำเลยสอบทานความถูกต้องของรายการที่นำมาปรับปรุงเพื่อใช้ในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลปี 2549 โดยโจทก์ส่งกระดาษทำการปรับปรุงกำไรสุทธิทางบัญชีให้เป็นกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม 2549 และงบทดลองปี 2549 ซึ่งจำเลยตอบหนังสือของโจทก์โดยให้ความเห็นว่า โจทก์ได้จัดทำรายการปรับปรุงกำไรสุทธิทางบัญชี เป็นกำไรสุทธิทางบัญชีสำหรับรอบระยะเวลาสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2549 ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรแล้ว
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยผิดสัญญาต่อโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาสรุปใจความว่า การที่โจทก์สอบถามจำเลยถึงการโอนเงินบำเหน็จเพิ่มเติมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 155,915,952.69 บาท นั้น ว่าจะถือเป็นรายจ่ายเพื่อคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลปี 2549 ได้หรือไม่ ตามเอกสารซึ่งจำเลยทำหนังสือตอบโจทก์โดยระบุหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 183 (พ.ศ.2533) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอธิบายหลักเกณฑ์ของกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวนั้น ปรากฏว่าในขณะจำเลยออกเอกสารตอบข้อหารือยังไม่มีคำพิพากษาศาลฎีกา หรือหนังสือตอบข้อหารือกรมสรรพากรเป็นแนวทางว่าเงินที่จ่ายสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในภายหลังตามข้อเท็จจริงของโจทก์สามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายได้หรือไม่ อย่างไร ด้วยเหตุนี้จำเลยได้ศึกษาค้นคว้าข้อเท็จจริง ตำรากฎหมาย ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งข้อหารือต่างๆ ของกรมสรรพากรแล้ว จึงตอบข้อหารือโจทก์ว่า เงินจำนวน 155,915,952.69 บาท ที่โอนเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในภายหลังไม่สามารถหักเป็นค่าใช้จ่าย 5 รอบระยะเวลาบัญชีได้ เนื่องจากไม่ได้โอนเงินทั้งหมดในคราวเดียว จึงเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพและในฐานะที่ปรึกษาภาษีอากรแล้ว อย่างไรก็ตาม โจทก์เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายการเงิน การภาษีอากร มีบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิที่รอบรู้เป็นอย่างดี โจทก์สามารถติดต่อสอบถามหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสรรพากร เพื่อสอบถามหากมีปัญหาข้อสงสัยอย่างรวดเร็ว เมื่อโจทก์ได้รับหนังสือตอบจากจำเลยแล้ว โจทก์เห็นว่าไม่ชัดเจน โจทก์มีหน้าที่สอบถามจำเลยเพิ่มเติม หรือดำเนินการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นโดยขอคืนภาษีไว้ก่อนที่จะพ้นกำหนดระยะเวลาตามประมวลรัษฎากร มาตรา 27 ตรี แต่โจทก์กลับประมาทเลินเล่อปล่อยปละละเลยจนถึง พ.ศ.2553 จึงค่อยทำหนังสือหารือไปยังกรมสรรพากรเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2553 และกรมสรรพากรเพิ่งมีหนังสือตอบข้อหารือเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2554 จำเลยจึงมิได้ปฏิบัติผิดสัญญาต่อโจทก์นั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์มีหนังสือสอบถามจำเลยถึงการโอนเงินบำเหน็จเพิ่มเติมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 155,915,952.69 บาท ว่าจะถือเป็นรายจ่ายเพื่อคำนวณเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคลปี 2549 ได้หรือไม่ จำเลยในฐานะที่ปรึกษาภาษีอากรมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและเสนอแนะแก่โจทก์ในปัญหาภาษีอากรต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนหรือมีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวด้วยแล้ว จำเลยยิ่งต้องมีหน้าที่เสนอแนะแนวทางป้องกันความเสียหาย หรือความเสี่ยงที่อาจจะเกิดปัญหาดังกล่าว โดยอาจเสนอแนะให้โจทก์ส่งข้อหารือไปยังกรมสรรพากรทันทีที่ได้รับหนังสือตอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือให้โจทก์ยื่นคำขอคืนภาษีไว้ก่อน เพื่อมิให้อายุความขอคืนภาษีขาดอายุความ แต่จำเลยกลับมิได้กระทำการ กลับมีหนังสือตอบข้อหารือโดยระบุเพียงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 183 (พ.ศ.2533) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อธิบายหลักเกณฑ์ของกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว โดยมิได้ตอบหรือให้ความเห็นอย่างชัดแจ้ง แต่กลับปล่อยให้เป็นภาระของโจทก์จะต้องไปตีความหรือหาคำตอบให้ชัดแจ้งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอง โดยมิได้เสนอแนะแนวทางเพื่อแก้ปัญหาดังวินิจฉัยข้างต้น และอ้างว่าโจทก์มีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญอยู่แล้ว ชอบที่จะดำเนินการได้เอง ทั้งๆ ที่โจทก์ว่าจ้างจำเลยเป็นที่ปรึกษาภาษีอากร แบ่งเป็นประเภทงานทานภาษีอากรมีค่าจ้าง 7,637,553 บาท และงานให้คำปรึกษาภาษีอากรมีค่าจ้าง 2,357,424 บาท รวมเป็นเงินถึง 9,994,977 บาท ซึ่งเป็นเงินค่าจ้างที่สูงมาก ดังนี้ การที่จำเลยมิได้ตอบข้อหารืออย่างชัดแจ้งไม่เป็นไปตามสัญญาจ้างข้อที่ 4 และข้อที่ 5 จึงถือได้ว่าจำเลยมิได้ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาไปตามมาตรฐานวิชาชีพ จึงเป็นการผิดสัญญาจ้างต่อโจทก์ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยข้ออื่นๆ ในปัญหาดังกล่าวเป็นรายละเอียดปลีกย่อย และไม่มีผลเปลี่ยนแปลงผลแห่งคดี จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share