คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3344/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อพระราชบัญญัติกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้พ.ศ. 2499 มาตรา 6(2) กำหนดให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้โจทก์มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมป่าไม้ และเพื่อให้โจทก์สามารถดำเนินการตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้ มาตรา 7(2) กำหนดให้โจทก์มีอำนาจรวมถึงการค้า ผลิตผลและผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมป่าไม้ด้วย ดังนั้น การที่ โจทก์ทำสัญญาขายไม้ซุงให้แก่จำเลยจึงเป็นการประกอบธุรกิจ หรือดำเนินกิจการในวัตถุประสงค์ของโจทก์และการที่จำเลยที่ 1 ซื้อไม้ซุงจากโจทก์ก็เพื่อนำไปใช้ผลิตเป็นไม้แปรรูปออกจำหน่ายอันเป็นกิจการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1) การที่โจทก์ ฟ้องเรียกราคาไม้ซุงที่ค้างชำระจากจำเลยจึงต้องใช้อายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(5) อายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34(1) ซึ่งบัญญัติให้ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม ฯลฯ เรียกเอาของที่ได้ส่งมอบ ฯลฯ” นั้นกฎหมายมุ่งหมายถึง เจ้าหนี้ซึ่งได้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ใช้สิทธิเรียกร้องในฐานะ ที่เป็นผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรมใช้สิทธิเรียกร้อง ของตน หาใช่หมายถึงจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 นำเงินค่าไม้ส่วนที่ค้างชำระไปชำระแก่โจทก์ แม้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้โดยไม่มีตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ประทับก็ตามแต่จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดในฐานะส่วนตัวกับจำเลยที่ 1 ด้วย ซึ่งตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนก็ไม่มีข้อจำกัดอำนาจหุ้นส่วนผู้จัดการและไม่มีข้อกำหนดว่าการลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ต้องประทับตราของจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 2 จึงมีอำนาจทำการแทน จำเลยที่ 1 และมีผลทำให้อายุความสะดุดลงในวันที่ทำบันทึก ตาม มาตรา 193/14(1) และให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่ เวลานั้น ตามมาตรา 193/15

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2528 จำเลยที่ 1ทำสัญญาซื้อไม้ซุงกระยาเลยจากโจทก์ เมื่อครบกำหนดชำระหนี้แล้วจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์ทวงถาม จำเลยที่ 1มีหนังสือลงวันที่ 13 สิงหาคม 2529 ขอผัดชำระหนี้แก่โจทก์ต่อมาวันที่ 25 กันยายน 2529 โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้อีก แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์จึงมีหนังสือถึงธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สาขาหลังสวน และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาราชบุรี ให้ชำระหนี้ให้โจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกัน ซึ่งเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2530 ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สำนักงานใหญ่ ชำระหนี้ให้โจทก์2,000,875.80 บาท โจทก์นำหักชำระดอกเบี้ยและเงินต้นแล้วจำเลยที่ 1 ยังค้างชำระค่าไม้ซุงกระยาเลยตามสัญญาซื้อขายฉบับแรก 514,745.86 บาท วันที่ 21 มกราคม 2530ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาราชบุรี ชำระหนี้ให้โจทก์658,337.70 บาท โจทก์นำหักชำระดอกเบี้ยและเงินต้นแล้วจำเลยที่ 1 ยังค้างชำระค่าไม้ซุงกระยาเลยตามสัญญาซื้อขายฉบับที่สองอีก 59,250.39 บาท จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระเงิน 514,745.86 บาท และเงิน 59,250.39 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในเงินต้นแต่ละจำนวน นับตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2530 และวันที่ 22 มกราคม 2530 ตามลำดับเป็นต้นไป วันที่ 7 สิงหาคม 2530 โจทก์มีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 1 ชำระเงินดังกล่าวแล้วแต่เพิกเฉย ต่อมาวันที่ 29 มิถุนายน 2533 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาให้โจทก์ว่าจะชำระค่าไม้ทั้งสองรายการนี้แก่โจทก์รวม 573,996.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 2 เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 748,789.91 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 573,996.25 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นหนี้โจทก์เพราะธนาคารผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้ที่ค้ำประกันให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว แม้ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระหนี้ล่าช้าก็ไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 เนื่องจากโจทก์ไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเอาจากธนาคารผู้ค้ำประกันชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว และแม้ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระหนี้ล่าช้าก็ไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 เนื่องจากโจทก์ไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเอาจากธนาคารผู้ค้ำประกันโดยพลันโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าไม้และดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1ได้อีก การที่จำเลยที่ 1 ทำหนังสือผัดชำระหนี้กับโจทก์เป็นการสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมย่อมตกเป็นโมฆะ และที่นางสาวปริศนา นพเกตุ มีหนังสือขอผัดชำระหนี้ไปถึงโจทก์ก็ไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 เพราะนางสาวปริศนาไม่ใช่หุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 ส่วนที่จำเลยที่ 2 ทำหนังสือจะชำระหนี้ให้โจทก์ไม่ใช่หนังสือรับสภาพหนี้ แต่เป็นหนังสือค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1ที่มีต่อโจทก์เท่านั้น คดีโจทก์ขาดอายุความ เพราะมูลหนี้เกิดจากการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่ได้ส่งมอบสิ่งของกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34 โจทก์มาฟ้องคดีเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2537จึงขาดอายุความเช่นกัน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน573,996.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในเงินต้น 514,745.86 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในเงินต้น 59,250.39 บาท ตามลำดับ นับตั้งแต่วันที่ 29มิถุนายน 2532 เป็นต้นไปแก่โจทก์จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ พ.ศ. 2499 มาตรา 6(2) กำหนดให้โจทก์มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมป่าไม้และเพื่อให้โจทก์สามารถดำเนินการตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้มาตรา 7(2) กำหนดให้โจทก์มีอำนาจรวมถึงการค้าผลิตผลและผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมป่าได้ด้วย ดังนั้น การที่โจทก์ทำสัญญาขายไม้ซุงกระยาเลยให้แก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นการประกอบธุรกิจหรือดำเนินกิจการในวัตถุประสงค์ของโจทก์ ประกอบกับเมื่อพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ที่ว่าประกอบกิจการโรงงานแปรรูปไม้ ประกอบกิจการค้าไม้ ผลิตภัณฑ์จากไม้แล้วเห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ซื้อไม้ซุงจากโจทก์ก็เพื่อนำไปใช้ผลิตเป็นไม้แปรรูปออกจำหน่าย อันเป็นกิจการของจำเลยที่ 1นั้นเอง ซึ่งเข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34(1) ฉะนั้นการที่โจทก์ฟ้องเรียกราคาไม้ซุงที่ค้างชำระจากจำเลยที่ 1 จึงต้องใช้อายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(5) ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า กรณีเช่นนี้ต้องถืออายุความ 2 ปี เพราะการซื้อขายไม้กระยาเลยครั้งนี้ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ประกอบการค้าอันเป็นอุตสาหกรรมป่าไม้ซึ่งผลิตออกมาเป็นไม้แปรรูปนั้นเห็นว่า ข้อความตอนแรก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34 ที่ว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความสองปี (1) ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม ฯลฯเรียกเอาของที่ได้ส่งมอบ ฯลฯ” นั้น ในเบื้องต้นกฎหมายมุ่งหมายถึงเจ้าหนี้ซึ่งได้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ใช้สิทธิเรียกร้องในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรมใช้สิทธิเรียกร้องของตน หาใช่หมายถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ ต่อเมื่อพิจารณาถึงข้อความตอนท้ายต่อไปว่ากรณีจะเข้าข้อยกเว้นหรือไม่ ซึ่งได้แก่ “เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง” จึงจะพิจารณาถึงฝ่ายลูกหนี้คือ จำเลยที่ 1
ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า หนังสือรับสารภาพหนี้กระทำไปโดยการหลอกลวงให้หลงเชื่อสำคัญผิดในข้อเท็จจริงจึงถือว่าเอกสารดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมิอาจทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้น ได้ความจากนายณรงค์ แสงแก้วหัวหน้าส่วนทำไม้ของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ได้มาทำบันทึกยอมผูกพันชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ให้ไว้กับโจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.23 เอกสารดังกล่าวมีสาระสำคัญว่า ตามที่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 นำเงินค่าไม้ส่วนที่ค้างชำระ 2 รายการเป็นจำนวนเงิน 573,996.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปีไปชำระแก่โจทก์นั้น จำเลยที่ 2 ขอรับผูกพันในหนี้สินดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 ทุกประการ โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้ให้บันทึกดังนี้ แม้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อโดยไม่มีตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ประทับก็ตามแต่จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 และต้องร่วมรับผิดในฐานะส่วนตัวกับจำเลยที่ 1 ด้วยซึ่งตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนของจำเลยที่ 1 ไม่มีข้อจำกัดอำนาจหุ้นส่วนผู้จัดการและไม่มีข้อกำหนดว่าการลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ต้องประทับตราของจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 2 หมาย จ.23 จึงถือได้ว่าเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยทั้งสองทำให้แก่โจทก์ ที่จำเลยที่ 2 เบิกความว่า จำเลยที่ 2ทำหนังสือเอกสารหมาย จ.23 ไว้กับโจทก์โดยมีข้อตกลงต่อรองกับนายณรงค์ว่าหากจำเลยที่ 2 ประมูลการทำไม้ในพื้นที่จัดตั้งนิคมสหกรณ์พนมได้แล้วขอให้จำเลยที่ 2 ทำบันทึกตามเอกสารหมาย จ.23 เพื่อเป็นการตอบแทนเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน แต่ความจริงไม่มีการค้างชำระหนี้ค่าซื้อไม้กับโจทก์ตามบันทึกดังกล่าว และภายหลังจำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำไม้ที่นิคมสหกรณ์พนมดังกล่าวนั้นเห็นว่า ตามบันทึกเอกสารหมาย จ.23 ไม่มีข้อความใด ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับผิดผูกพันชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อเมื่อจำเลยที่ 2 ประมูลการทำไม้ในพื้นที่นิคมสหกรณ์พนมได้แล้วแต่อย่างใด คงระบุแต่เพียงว่าจำเลยที่ 2ยินยอมให้หัก(หนี้ดังกล่าว)จากเงินค่าจ้างทำไม้ในพื้นที่จัดตั้งนิคมสหกรณ์พนมฯที่จำเลยที่ 2 พึงได้รับจากโจทก์โดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้นเท่านั้น แม้ต่อมาจำเลยที่ 2ไม่ได้ทำไม้ที่สหกรณ์พนมก็ตาม จำเลยทั้งสองก็ต้องผูกพันในหนี้สินที่ทำบันทึกไว้ดังกล่าว บันทึกตามเอกสารหมาย จ.23จึงมิใช่กระทำโดยมีเงื่อนไข ทั้งไม่ปรากฏจากทางนำสืบของจำเลยทั้งสองว่า โจทก์โดยนายณรงค์ได้หลอกลวงจำเลยที่ 2ให้สำคัญผิดในข้อเท็จจริงด้วยประการใด หนังสือตามเอกสารหมาย จ.23 จึงเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยทั้งสองทำให้แก่โจทก์มีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงในวันที่ 29 มิถุนายน2532 อันเป็นวันที่ทำบันทึก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/14(1) และให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/15 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2537 ซึ่งยังไม่พ้นกำหนด 5 ปี นับแต่วันทำหนังสือรับสภาพหนี้ คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน

Share