คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3344/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

อัยการได้ฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีอาญา ซึ่งถือว่าฟ้องแทนโจทก์คดีนี้ จึงต้องฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาคดีส่วนอาญาผูกพันจำเลยที่ 3 ว่าจำเลยที่ 3 ขับขี่รถจักรยานยนต์เข้าทางโค้งโดยไม่ลดความเร็วลงเป็นเหตุให้ชนผู้ตาย ซึ่งเดินอยู่ริมถนนด้านซ้ายมือของจำเลยถึงแก่ความตาย
จำเลยที่ 3 ขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นมานานพอสมควรแล้วแต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับยืนยันว่าไม่เคยทราบว่าจำเลยที่ 3 ขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นมาก่อนเลย แสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 3 ตามสมควรแก่หน้าที่ของบิดามารดาพึงดูแลบุตรผู้เยาว์ จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 3 กระทำไปตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 429

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์เป็นเงิน 73,100 บาท พร้อมดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะจำนวนเงินเป็น 63,100 บาท จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยฎีกาอีกว่า ข้อเท็จจริงในส่วนแพ่งไม่จำต้องถือตามข้อเท็จจริงในส่วนอาญาเสมอไป หากข้อเท็จจริงในส่วนแพ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริงในส่วนอาญา จะฟังว่าจำเลยที่ 3 กระทำผิดในทางแพ่งด้วยไม่ได้ เห็นว่าคดีสำหรับตัวจำเลยที่ 3 นี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ได้บัญญัติไว้ว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ฉะนั้นสำหรับจำเลยที่ 3 ซึ่งถือว่าอัยการได้ฟ้องเป็นจำเลยคดีอาญาแทนโจทก์คดีนี้นั้น จึงต้องฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาคดีส่วนอาญานั้นว่า จำเลยที่ 3 ขับขี่รถจักรยานยนต์เข้าทางโค้งโดยไม่ลดความเร็วลง เป็นเหตุให้ชนผู้ตายซึ่งเดินอยู่ริมถนนด้านซ้ายมือของจำเลยถึงแก่ความตาย ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทเลินเล่อด้วยนั้น ข้อเท็จจริงในคดีฟังมิได้เช่นนั้น

จำเลยฎีกาต่อไปว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ตามสมควรแก่หน้าที่แล้ว ไม่ต้องรับผิด เห็นว่าประเด็นข้อนี้ภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลย จำเลยต้องนำสืบให้ฟังได้ตามข้อกล่าวอ้าง แต่จำเลยทั้งสามเบิกความลอย ๆ ทำนองเดียวกันว่า ก่อนเกิดเหตุประมาณ 1 เดือน จำเลยที่ 2 ได้อนุญาตให้จำเลยที่ 3 ไปเฝ้าบ้านให้นายวสันต์ผู้เป็นพี่ที่จังหวัดนครราชสีมา และช่วยนางสุพรรณีพี่สะใภ้ขายของชำ จำเลยที่ 3 ขับขี่รถจักรยานยนต์เป็น โดยนางสุพรรณีพี่สะใภ้สอนเพื่อให้จำเลยที่ 3 ขับรถไปส่งของ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยเห็นและไม่เคยทราบว่าจำเลยที่ 3 ขับรถจักรยานยนต์เป็นเท่านั้น ส่วนพยานโจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า โจทก์เคยรับราชการเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 โดยทำงานอยู่สถานที่เดียวกัน ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ โจทก์เคยเห็นจำเลยที่ 3 ขับขี่รถจักรยานยนต์ไปหาจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่เคยเห็นจำเลยที่ 1 ห้ามปรามจำเลยที่ 3 ตรงกันข้ามกลับชมว่า จำเลยที่ 3 ขับรถจักรยานยนต์ด้วยความชำนาญ ขับขี่รถจักรยานยนต์ไปที่โคราช (จังหวัดนครราชสีมา) ก็ได้ จ่าสิบตำรวจสุจิตรพยานโจทก์เบิกความว่า เคยเห็นจำเลยที่ 3 ขับขี่รถจักรยานยนต์บ่อย ๆ จำเลยที่ 3 ก็เบิกความยอมรับว่าขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นก่อนเกิดเหตุประมาณ 2 เดือน และได้ความจากคำเบิกความของนายชัยสิทธิ์ สมานชัย พยานโจทก์ ซึ่งมิได้เป็นญาติกับฝ่ายใดว่า ระหว่างจำเลยที่ 3 ไปอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา เคยเห็นจำเลยที่ 3ขับขี่รถจักรยานยนต์มาที่บ้านเดือนละครั้ง ตามพฤติการณ์ดังที่กล่าวมาตามรูปคดีน่าเชื่อว่า จำเลยที่ 3 ขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นมาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับเบิกความยืนยันว่า ไม่เคยทราบว่าจำเลยที่ 3 ขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นมาก่อนเลย อันแสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 3ตามสมควรแก่หน้าที่ของบิดามารดาพึงดูแลบุตรผู้เยาว์ ด้วยเหตุนี้จำเลยที่ 1และที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 3 กระทำไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428”

พิพากษายืน

Share