คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3340/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีมีกำหนดเวลา 12 เดือน นับแต่วันทำสัญญากับระบุว่า เมื่อถึงกำหนด 12 เดือน และไม่มีการต่ออายุการเบิกเงินเกินบัญชีเป็นหลักฐานหนังสือกำหนดเวลากันใหม่ คู่สัญญาตกลงกันให้มีการเบิกเงินเกินบัญชีต่ออีกคราวละ 6 เดือนตลอดไป หลังจากครบกำหนดสัญญา 12 เดือนแล้วเมื่อไม่ปรากฏว่า หลังจากครบกำหนดสัญญาแล้วได้มีรายการเดินสะพัดทางบัญชีอีกเลย แม้จะปรากฏว่าโจทก์ได้ถอนเงินฝากประจำจากบัญชีของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาหักทอนบัญชี เพื่อชำระหนี้ แต่ก็ไม่ใช่เพื่อให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีอีกต่อไป เพราะไม่มีลักษณะเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีหักกลบลบกันในระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามพฤติการณ์ดังกล่าวต้องถือว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่างตกลงกันให้สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเป็นอันสิ้นสุดลงในวันครบกำหนด ตามสัญญา แม้สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจะมีข้อความในสัญญาระบุว่าเมื่อถึงกำหนด 12 เดือนและไม่มีการต่ออายุการเบิก เงินเกินบัญชีเป็นหลักฐานหนังสือกำหนดเวลากันใหม่คู่สัญญาตกลงกันให้มีการเบิกเงินเกินบัญชีอีกคราวละ 6 เดือนตลอดไปก็ตาม แต่ข้อสัญญาดังกล่าวนั้น ย่อมมีความหมายถึงกรณี ที่ยังมีการเดินสะพัดทางบัญชีเท่านั้น หาใช่สัญญาเบิก เงินเกินบัญชีได้มีการต่ออายุสัญญาต่อไปจนกระทั่งโจทก์ บอกเลิกสัญญาแต่อย่างใด โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นเพียงวันสิ้นสุดของสัญญาเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้หนี้โจทก์จำนวน 604,301.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีในต้นเงิน 502,540.38 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การและจำเลยที่ 2 ที่ 3 ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องโจทก์และบังคับให้โจทก์ชำระเงิน 70,698.37 บาท พร้อมดอกเบี้ยจากยอดเงิน 51,417 บาท แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ และยกฟ้องแย้งจำเลย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ มีจำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม โดยใช้สมุดเงินฝากประจำของตนวางเป็นประกัน
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงเมื่อใด ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีมีกำหนดเวลา 12 เดือน นับแต่วันทำสัญญาคือวันที่ 15 ธันวาคม 2526 ตามสัญญาข้อ 4 ระบุว่าเมื่อถึงกำหนด 12 เดือน และไม่มีการต่ออายุการเบิกเงินเกินบัญชีเป็นหลักฐานหนังสือกำหนดเวลากันใหม่ คู่สัญญาตกลงกันให้มีการเบิกเงินเกินบัญชีต่ออีกคราวละ 6 เดือนตลอดไป หลังจากครบกำหนดสัญญา 12 เดือนแล้ว เห็นว่าหลังจากวันที่ 15 ธันวาคม 2527อันเป็นวันครบกำหนดตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไม่ปรากฏว่ามีรายการเดินสะพัดทางบัญชีอีกเลย แม้จะปรากฏว่าโจทก์ได้ถอนเงินฝากประจำจากบัญชีของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาหักทอนบัญชีเพื่อชำระหนี้แต่ก็ไม่ใช่เพื่อให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีอีกต่อไปเพราะไม่มีลักษณะเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีหักกลบลบกันในระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามพฤติการณ์ดังกล่าวต้องถือว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่างตกลงกันให้สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเป็นอันสิ้นสุดลงในวันที่ 15 ธันวาคม 2527 อันเป็นวันครบกำหนดตามสัญญาซึ่งแม้จะมีข้อความในสัญญาข้อ 4 ระบุว่า เมื่อถึงกำหนด 12 เดือนและไม่มีการต่ออายุการเบิกเงินเกินบัญชีเป็นหลักฐานหนังสือกำหนดเวลากันใหม่ คู่สัญญาตกลงกันให้มีการเบิกเงินเกินบัญชีอีกคราวละ 6 เดือนตลอดไป ความในสัญญาดังกล่าวนั้นย่อมมีความหมายถึงกรณีที่ยังมีการเดินสะพัดทางบัญชีเท่านั้น หาใช่สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีได้มีการต่ออายุสัญญาต่อไปจนกระทั่งโจทก์บอกเลิกสัญญาตามที่โจทก์ฎีกาแต่อย่างใด โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นเพียงวันที่15 ธันวาคม 2527 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดของสัญญาเท่านั้น ยอดหนี้ที่โจทก์คิดบัญชีมาจึงไม่ถูกต้อง แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ศาลอุทธรณ์ไม่มีหน้าที่ที่จะคิดคำนวณหนี้สินให้โจทก์แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความนั้นศาลฎีกาเห็นว่า สำหรับคดีนี้พยานหลักฐานในสำนวนเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดี ศาลฎีกาจึงเห็นควรพิจารณาพิพากษาคดีไปโดยไม่ต้องให้โจทก์ไปฟ้องเป็นคดีใหม่และไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิจารณาพิพากษาใหม่ และเห็นว่า ตามการ์ดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2527 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์จำนวน 1,130,102.12 บาท โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปี ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2527 ระยะเวลา19 วัน จำนวนดอกเบี้ย 9,118.22 บาท รวมเป็นเงินต้นและดอกเบี้ยจำนวน 1,139,220.34 บาท โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยไม่ทบต้นจากยอดหนี้ดังกล่าวตามรายการปรับอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ ระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม 2527 ถึงวันที่ 5 กันยายน 2529 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ระยะเวลา 1 ปี 8 เดือน 19 วัน จำนวนดอกเบี้ย293,700.36 บาท และตามรายการปรับอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ดังกล่าวอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 13.50 ต่อปี ระหว่างวันที่ 6 กันยายน 2529ถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2529 ระยะเวลา 2 เดือน 12 วัน จำนวนดอกเบี้ย30,688.71 บาท รวมดอกเบี้ยจำนวน 324,389.07 บาท เป็นยอดหนี้จากเงินต้น 1,139,220.34 บาท และดอกเบี้ย 324,389.07 บาทรวม 1,463,609.41 บาท โจทก์นำเงินฝากในบัญชีของจำเลยที่ 2จำนวน 1,118,517.12 บาท มาหักทอนหนี้ดังกล่าวเมื่อวันที่17 ธันวาคม 2529 เหลือยอดหนี้ของจำเลยที่ 1 อยู่ 345,092.29 บาทโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยไม่ทบต้นตามรายการปรับอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ ดอกเบี้ยร้อยละ 13.50 ต่อปี ระหว่างวันที่ 18 ธันวาคม2529 ถึงวันที่ 29 มิถุนายน 2530 ระยะเวลา 6 เดือน 12 วันจำนวนดอกเบี้ย 24,825.36 บาท รวมดอกเบี้ยและเงินต้นแล้วจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ ณ วันที่ 29 มิถุนายน 2530 จำนวน369,917.65 บาท ในวันที่ 29 มิถุนายน 2530 โจทก์นำเงินฝากในบัญชีของจำเลยที่ 3 จำนวน 257,281.60 บาท มาหักทอนหนี้จำนวนดังกล่าวครั้งสุดท้ายปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้โจทก์อยู่จำนวน 112,636.05 บาท จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แบบไม่ทบต้น นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ตามข้อตกลงในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.10 หลังเลิกสัญญาโจทก์จะคิดดอกเบี้ยสูงสุดที่พึงเรียกเก็บตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้ และในวันที่ 30 มิถุนายน 2530 โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.50 ต่อปี ตามรายการปรับอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ จึงต้องเป็นไปตามคำขอ ซึ่งไม่เกินร้อยละ15 ต่อปี จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมด้วย
พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน112,636.05 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยไม่ทบต้นอัตราร้อยละ 13.50 ต่อปี ในวันที่ 30 มิถุนายน 2530 และดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

Share