คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 334/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้ามรดกทำพินัยกรรมตั้งผู้จัดการมรดกในรูปคณะกรรมการจัดการมรดกโดยระบุชื่อบุคคลพวกหนึ่งและระบุตำแหน่งอีกพวกหนึ่งรวมทั้งหมด 11 ท่าน โดยมีตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลจังหวัดสมุทรสงครามรวมอยู่ด้วย และมีข้อกำหนดไว้ว่าให้คณะกรรมการตั้งแต่ 5 ท่านขึ้นไปเป็นองค์ประชุมจัดการทรัพย์มรดกได้ พินัยกรรมมิได้ระบุชื่อโจทก์หรือตั้งโจทก์ให้เป็นคณะกรรมการจัดการมรดก โจทก์ในฐานะส่วนตัวจึงไม่ใช่เป็นผู้จัดการมรดก ตามคำฟ้องของโจทก์อ่านเข้าใจได้ว่าโจทก์ในฐานะส่วนตัวได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม มิได้อ้างว่าโจทก์เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลจังหวัดสมุทรสงคราม หรือฟ้องในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลจังหวัดสมุทรสงคราม โจทก์ในฐานะส่วนตัวไม่ได้รับความเสียหาย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้ร้องและพยานในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 111/2518 ของศาลจังหวัดสมุทรสงคราม เรื่องร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกนางนิกรนรารักษ์ (ไม่มีพินัยกรรม) ได้เบิกความตอบทนายผู้ร้องว่า ทรัพย์มรดกของนางนิกรนรารักษ์ท้ายคำร้องไม่มีพินัยกรรม ซึ่งความจริงขุนและนางนิกรนรารักษ์ได้ทำพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าวไว้ และแต่งตั้งให้โจทก์ จำเลยและบุคคลผู้มีชื่ออื่น ๆ อีกรวม 11 คน เป็นผู้จัดการมรดกให้เป็นไปตามพินัยกรรม ความจริงจำเลยก็ทราบดีว่าขุนและนางนิกรนรารักษ์ได้ทำพินัยกรรมดังกล่าวไว้ แต่จำเลยกลับปกปิดความจริงและเบิกความเป็นเท็จ เพื่อให้ศาลตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกแต่เพียงผู้เดียว ข้อความดังกล่าวเป็นข้อสำคัญในคดี ทำให้ศาลสั่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางนิกรนรารักษ์ เป็นเหตุให้โจทก์และบุคคลผู้มีชื่ออื่น ๆ ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมได้รับความเสียหาย ไม่สามารถจัดการมรดกของนางนิกรนรารักษ์ให้เป็นไปตามข้อกำหนดพินัยกรรมได้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177

โจทก์ จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้รอการลงโทษจำเลยไว้ภายใน 3 ปี

จำเลยฎีกาข้อกฎหมายว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ขณะที่มีชีวิตอยู่ ขุนและนางนิกรนรารักษ์ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้แก่มูลนิธิ “ขุนและนางนิกรนรารักษ์” ต่อมาขุนและนางนิกรนรารักษ์ถึงแก่กรรม จำเลยซึ่งเป็นหลานได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตามบัญชีทรัพย์ท้ายคำร้อง อ้างว่าเจ้ามรดกมิได้ทำพินัยกรรมไว้ ปรากฏตามคดีหมายเลขแดงที่ 111/2518 ของศาลจังหวัดสมุทรสงคราม ต่อมาจำเลยได้เบิกความต่อศาลจังหวัด วินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่าโจทก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมได้รับความเสียหาย ไม่สามารถจัดการมรดกของนางนิกรนรารักษ์ให้เป็นไปตามข้อกำหนดพินัยกรรมได้ ปรากฏว่าในพินัยกรรมข้อ (3) ระบุว่า “ข้าพเจ้าขอตั้งให้ผู้มีชื่อและตำแหน่งดังต่อไปนี้เป็นกรรมการจัดการมรดกของข้าพเจ้าคือ 1. ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงครามฯลฯ4. ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสงคราม ฯลฯ 11. นางลักขณา เจียมปรีชาและขอให้คณะกรรมการตั้งแต่ 5 ท่านขึ้นไปเป็นองค์ประชุม” เห็นได้ว่าเจ้ามรดกได้ตั้งผู้จัดการมรดกในรูปคณะกรรมการจัดการมรดกโดยระบุชื่อบุคคลพวกหนึ่งและระบุตำแหน่งอีกพวกหนึ่งรวมทั้งหมด 11 ท่าน และมีข้อกำหนดไว้ว่าให้คณะกรรมการตั้งแต่ 5 ท่านขึ้นไปเป็นองค์ประชุมจัดการทรัพย์มรดกได้ พินัยกรรมมิได้ระบุชื่อโจทก์ให้เป็นคณะกรรมการจัดการมรดกของเจ้ามรดกโจทก์ในฐานะส่วนตัวจึงไม่ใช่เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม ตามคำฟ้องของโจทก์อ่านเข้าใจได้ว่าโจทก์ในฐานะส่วนตัวได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมและโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นส่วนตัว โดยไม่สามารถจัดการมรดกของนางนิกรนรารักษ์ให้เป็นไปตามข้อกำหนดพินัยกรรมได้ ฟ้องโจทก์มิได้อ้างว่าโจทก์เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสงครามหรือฟ้องในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลจังหวัดสมุทรสงคราม จึงเป็นฟ้องในฐานะส่วนตัวโดยแท้ แม้จะฟังว่าจำเลยเบิกความเท็จ โจทก์ในฐานะส่วนตัวไม่ได้รับความเสียหาย จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share