คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3338/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้จำเลยที่ 1 อุทธรณ์โดยแยกเป็นฐานความผิด คือความผิดฐานฆ่าผู้อื่นอุทธรณ์ว่าไม่ได้กระทำความผิดขอให้ยกฟ้อง ความผิดฐานมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ เท่ากับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในกระทงความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจเกี่ยวกับการกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีการอนุญาตให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 122 จึงเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามตามมาตรา 121 แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับพิจารณาและมีคำพิพากษาในส่วนนี้ก็ไม่เป็นเหตุให้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 เป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิฎีกาต่อมา เนื่องจากเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6 แม้ผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะอนุญาตให้ฎีกา แต่ฎีกาของจำเลยเป็นฎีกาขอให้รอการลงโทษซึ่งเป็นฎีกาวิธีการสำหรับเด็กซึ่งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 อันเป็นกฎหมายเฉพาะไม่มีบทบัญญัติใดที่อนุญาตให้ฎีกาในเรื่องดังกล่าวได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ประเด็นนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยกับพวกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบอาวุธปืนและหัวกระสุนปืนของกลาง กับนำโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 18/2551 ของศาลชั้นต้นมาบวกเข้ากับโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ในคดีนี้
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพฐานมีอาวุธปืนและฐานพาอาวุธปืน ส่วนความผิดฐานฆ่าผู้อื่นให้การต่อสู้อ้างเหตุป้องกัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธแต่จำเลยที่ 3 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่ศาลรอการลงโทษไว้ตามฟ้องจริง
ระหว่างพิจารณานางละมุน มารดาผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะความผิดฐานฆ่าผู้อื่น
ก่อนเริ่มสืบพยานโจทก์ร่วมยื่นคำร้องในคดีส่วนแพ่งว่า ขณะเกิดเหตุผู้ตายอายุ 22 ปี และ รับราชการทหาร ก่อนผู้ตายรับราชการทหารมีอาชีพรับจ้างขับรถขนส่งของ มีรายได้เดือนละประมาณ 10,000 ถึง 20,000 บาท หากผู้ตายปลดประจำการแล้วจะกลับไปทำงานที่เดิม การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ร่วมและบุตรของผู้ตายขาดไร้ผู้อุปการะ จึงขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินค่าขาดไร้อุปการะรวมเป็นเงิน 500,000 บาท
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 อายุ 16 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ฐานฆ่าผู้อื่น จำคุก 8 ปี ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืน (ที่ถูกฐานพาอาวุธปืนเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90) จำคุก 6 เดือน รวมจำคุ 9 ปี 6 เดือน คำรับในชั้นจับกุมตลอดจนทางนำสืบในชั้นพิจารณาของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี 4 เดือน อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) จึงให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งตัวจำเลยที่ 1 ไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 4 จังหวัดขอนแก่น มีกำหนดขั้นต่ำ 4 ปี ขั้นสูง 5 ปี ริบอาวุธปืนและหัวกระสุนปืนของกลาง ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 แต่อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 100 จึงเห็นสมควรคุมความประพฤติจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไว้มีกำหนด 1 ปี โดยกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไว้ สำหรับคดีส่วนแพ่งให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 200,000 บาท คำขออื่นให้ยก และยกคำร้องของโจทก์ร่วมสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3
จำเลยที่ 1 และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 69 ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 แล้ว จำคุก 3 ปี เมื่อลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วจำคุก 2 ปี ส่วนความผิดฐานมีและฐานพาอาวุธปืนลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 จำคุก 6 เดือน และ 3 เดือน ตามลำดับ เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว เป็นจำคุกรวม 4 เดือน 15 วัน และเมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วเป็นจำคุก 2 ปี 4 เดือน 15 วัน ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยที่ 1 ไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 4 จังหวัดขอนแก่น ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเช่นเดิม มีกำหนดขั้นต่ำ 1 ปี ขั้นสูง 2 ปี สำหรับคดีส่วนแพ่งให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 50,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 และให้ใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวแทน ศาลฎีกาจึงต้องใช้บังคับตามพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่สำหรับหลักเกณฑ์การอุทธรณ์ฎีกาตามพระราชบัญญัติฉบับใหม่แม้เป็นไปตามมาตรา 180, 181 และ 183 ซึ่งมีผลใช้บังคับ แต่ขณะจำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ฎีกา พระราชบัญญัติดังกล่าวยังไม่มีผลใช้บังคับ จึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะยื่นอุทธรณ์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ในชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 1 อุทธรณ์โดยแยกเป็นฐานความผิด คือ ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ขอให้ยกฟ้อง ความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจำเลยอุทธรณ์ว่าขอให้รอการลงโทษ เท่ากับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในกระทงความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจเกี่ยวกับการกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีการอนุญาตให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 122 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะจำเลยยื่นอุทธรณ์ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์เกี่ยวกับวิธีการดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับพิจารณาและมีคำพิพากษาในส่วนนี้ก็ไม่เป็นเหตุให้อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 เป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมายจำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิฎีกาต่อมา และแม้ผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะอนุญาตให้ฎีกา แต่ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 อันเป็นกฎหมายเฉพาะไม่มีบทบัญญัติใดที่อนุญาตให้ฎีกาในเรื่องดังกล่าวได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้
พิพากษายืน แต่การเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยที่ 1 ไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1)

Share