คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3335/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เศษพลาสติกต้องเสียอากรขาเข้าในพิกัดประเภทที่ 39.02 ก.ส่วนพลาสติกสำเร็จรูปต้องเสียอากรขาเข้าในพิกัดประเภทที่ 39.02 ข.(ซึ่งเสียภาษีมากกว่า) การที่จะพิจารณาว่าสินค้าใด เป็นเศษพลาสติกหรือเป็นพลาสติกสำเร็จรูปนั้น จะต้องพิจารณาจากสภาพอันแท้จริงของสินค้านั้นเป็นหลักสำคัญ พลาสติกที่โจทก์นำเข้าเป็นพลาสติกที่เป็นแผ่นหรือแถบ ซึ่งม้วนหรือพัน อยู่รอบแกนกระดาษ เป็นพลาสติกใสทั้งสองด้าน เรียบเสมอกันไม่ยับ ยู่ยี่ ทุกม้วนกว้าง 8 นิ้ว ที่แกนกระดาษนั้นตัดเสมอเท่ากับความกว้างของแผ่นพลาสติก หนักม้วนละ16.5 ปอนด์ บางม้วนมีกระดาษปิดบอกน้ำหนักไว้ด้วย มีจำนวนทั้งสิ้น10,000 กิโลกรัม บรรจุในกล่องกระดาษมีขาไม้รองรับ หรือบางม้วนไม่ได้บรรจุในกล่องกระดาษแต่ก็ยังมีขาไม้รองรับอยู่ พลาสติกเหล่านี้มีสภาพดีใช้การได้ ถือได้ว่าเป็นพลาสติกสำเร็จรูป จึงต้องเสียอากรขาเข้าในพิกัดประเภทที่ 39.02 ข.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า พลาสติกที่โจทก์นำเข้าเป็นสินค้าที่ต้องเสียภาษีตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 39.02 ก. เนื่องจากเป็นเศษพลาสติก ให้เพิกถอนการอายัดและกักสินค้า และให้จำเลยคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารพร้อมใช้ค่าเสียหายต่าง ๆ แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า พลาสติกที่โจทก์นำเข้าเป็นพลาสติกสำเร็จรูปอันเป็นสินค้าตามพิกัดประเภทที่ 39.02 ข. จึงไม่มีเหตุที่จะบังคับตามคำขอของโจทก์ คดีโจทก์ขาดอายุความ และฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับละเมิดและเรียกค่าเสียหายไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง ขอให้ยกฟ้อง
ต่อมาในวันชี้สองสถาน โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องเฉพาะในข้อหาละเมิดและเรียกค่าเสียหาย ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งอนุญาต
ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า สินค้าพิพาทจัดอยู่ในพิกัดประเภทที่ 39.02 ก. พิพากษาให้เพิกถอนการอายัดและกักสินค้า ให้จำเลยคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดได้ส่งสินค้าจำพวกพลาสติกเข้ามาในราชอาณาจักรสินค้าดังกล่าวได้มาถึงท่าเรือกรุงเทพเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2528 โจทก์ที่ 1 ได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า โดยสำแดงชนิดของสินค้าว่าเป็นเศษพลาสติกชนิดฟิล์ม จำนวน 217 หีบห่อ รวมน้ำหนัก 94,492 กิโลกรัมเสียอากรขาเข้าตามพิกัดประเภทที่ 39.02 ก. อัตราร้อยละ 40 หรือกิโลกรัมละ 8 บาท ปรากฏตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า เอกสารหมาย จ.2 ในการนำเข้านี้โจทก์ที่ 1 ขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่เปิดตรวจสินค้านอกสถานที่ โดยโจทก์ที่ 1 ได้นำสินค้าไปไว้ที่โรงงานของบริษัทสิโนทัย พลาสติก เคมิเคิล จำกัดครั้นเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยไปทำการเกิดตรวจสินค้าดังกล่าวซึ่งบรรจุมาในตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 5 ตู้ ปรากฏว่าสินค้าที่โจทก์ที่ 1 สั่งเข้ามานั้น นอกจากจะเป็นเศษพลาสติกซึ่งบรรจุในลักษณะหีบห่อแบบเบล (BALE) คือ อันแน่นเป็นก้อนใช้ลวดมัด ยังมีพลาสติกชนิดที่เป็นม้วนซึ่งบรรจุหีบห่อในลักษณะแบบพัลเลท (PALLETป คือบรรจุในกล่องกระดาษมีขาไม้รองรับรวมอยู่ด้วย โดยพลาสติกชนิดที่เป็นม้วนนี้ หน้ากว้างต่าง ๆ กัน และในจำนวนนี้มีพลาสติกที่เป็นม้วนหน้ากว้าง 8 นิ้ว จำนวน 1,337 ม้วน หนักม้วนละ 16.5 ปอนด์รวมทั้งสิ้น 10,000 กิโลกรัมอยู่ด้วย พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นพลาสติกสำเร็จรูป ไม่ใช่เศษพลาสติกดังที่โจทก์ที่ 1 สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า และพลาสติกจำนวนดังกล่าวนั้นจะต้องเสียอากรขาเข้าตามพิกัดประเภทที่ 39.02 ข. อัตราร้อยละ60 หรือกิโลกรัมละ 14 บาทจึงแจ้งข้อหาต่อโจทก์ที่ 1 ว่าสำแดงชนิดสินค้าเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงอากร ได้สั่งอายัดและกักสินค้าไว้ทั้งหมดต่อมาโจทก์ที่ 1 ได้สั่งสินค้าจำพวกพลาสติกเข้ามาในราชอาณาจักรอีกโดยสินค้ามาถึงท่าเรือกรุงเทพเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2528 โจทก์ที่ 1 ได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าโดยแยกเป็น 2รายการ คือ เศษพลาสติกชนิดฟิล์มจำนวน 87,546 กิโลกรัมกับเศษพลาสติกชนิดฟิล์มเป็นม้วนจำนวน 9,299 กิโลกรัม สำหรับพลาสติกที่เป็นม้วนซึ่งมีหน้ากว้าง 8 นิ้วนี้ เคยเป็นปัญหาโต้เถียงในเรื่องประเภทพิกัดในการนำเข้าครั้งแรกมาแล้ว ในการนำเข้าครั้งที่สองนี้โจทก์ที่ 1 จึงเสียอากรขาเข้าสำหรับพลาสติกที่เป็นม้วนจำนวน9,299 กิโลกรัม ในพิกัดประเภทที่ 39.02 ข อัตราร้อยละ 60 หรือกิโลกรัมละ 14 บาท แต่ได้โต้แย้งสงวนสิทธิเกี่ยวกับประเภทพิกัดนี้ไว้ ปรากฏตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเอกสารหมาย จ.3 ปัญหาวินิจฉัยจึงมีว่า พลาสติกชนิดที่เป็นม้วนหน้ากว้าง 8 นิ้ว ที่โจทก์สั่งเข้ามาทั้ง 2 ครั้งนั้น จะต้องเสียอากรขาเข้าในพิกัดประเภทที่ 39.02 ก. หรือว่าจะต้องเสียในพิกัดประเภทที่ 39.02 ข. ของหรือวัตถุจำพวกพลาสติกที่จะต้องเสียอากรขาเข้าในพิกัดประเภทที่ 39.02 ก.นั้น เป็นของชนิดที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับเอามาหล่อ หลอม อัดหรือผสมเป็นของสำเร็จรูป รวมทั้งกาวเศษที่ใช้ไม่ได้และเศษที่ไม่ใช้ของของประเภทนี้ ส่วนของหรือวัตถุจำพวกพลาสติกที่จัดเข้าพิกัดประเภทที่ 39.02 ข.นั้น เป็นพลาสติกอื่น ๆที่เป็นผืน เป็นแผ่น เป็นแถบ และอื่น ๆ พลาสติกที่เกิดปัญหาโต้แย้งเป็นกรณีพิพาทกันนี้ปรากฏว่า เป็นพลาสติกที่เป็นแผ่นหรือแถบ ซึ่งม้วนหรือพันอยู่รอบแกนกระดาษเป็นพลาสติกใสทั้งสองด้านเรียบเสมอกันไม่ยับยู่ยี่ ทุกม้วยหน้ากว้าง 8 นิ้ว ที่แกนกระดาษนั้นตัดเสมอเท่ากับความกว้างของแผ่นพลาสติก หนักม้วนละ 16.5 ปอนด์บางม้วนมีกระดาษปิดบอกน้ำหนักไว้ด้วยมีจำนวนทั้งสิ้น 10,000กิโลกรัม บรรจุในกล่องกระดาษมีขาไม้รองรับ หรือบางม้วนไม่ได้บรรจุในกล่องกระดาษ แต่ก็ยังมีขาไม้รองรับอยู่ พลาสติกเหล่านี้มีสภาพดีใช้การได้ ดังปรากฏตามภาพถ่ายหมาย ล.2 รูปที่ 1 โดยเฉพาะตามภาพถ่ายหมาย ล.2 รูปที่ 1 นี้ ยังมีพลาสติกพันหรือห่อหุ้มไว้ด้านนอกอีกชั้นหนึ่งด้วยพลาสติกที่เป็นม้วนนี้มีสภาพแตกต่างกับเศษพลาสติกที่สั่งเข้ามาในคราวเดียวกัน ซึ่งบรรจุในลักษณะหีบห่อแบบเบล ดังปรากฏตามภาพถ่ายหมาย ล.1 รูปที่ 3 โดยเศษพลาสติกตามภาพถ่ายหมาย ล.1 รูปที่ 3 นั้น มีลักษณะเป็นชั้น ๆ อัดแน่นเป็นก้อนใช้ลวดมัด เห็นได้ชัดว่าเป็นเศษพลาสติก เป็นของที่ใช้ไม่ได้หรอืไม่ได้ใช้จะต้องนำมาหล่อ หลอม อัด หรือผสมเป็นของสำเร็จรูปต่อไป แต่พลาสติกชนิดที่เป็นม้วนหน้ากว้าง 8 นิ้ว ซึ่งเป็นปัญหาโต้แย้งเกี่ยวกับประเภทพิกัดนี้ มีลักษณะตรงข้ามกับเศษพลาสติกดังกล่าวข้างต้น โดยเป็นพลาสติกที่ยังดีอยู่ สามารถนำไปใช้งานได้ จึงถือได้ว่าเป็นพลาสติกสำเร็จรูป ต้องเสียอากรขาเข้าในพิกัดประเภทที่ 39.02 ข.การที่จะพิจารณาว่าสินค้าใดเป็นเศษพลาสติกหรือเป็นพลาสติกสำเร็จรูปนั้น จะต้องพิจารณาจากสภาพอันแท้จริงของสินค้านั้นเป็นหลักสำคัญส่วนที่โจทก์อ้างว่าสินค้าที่เกิดเป็นกรณีพิพาทกันนี้มีหน้ากว้างต่าง ๆ กัน มิได้มีหน้ากว้าง 8 นิ้วทั้งหมดนั้น เป็นการโต้แย้งที่ฝ่าฝืนต่อบันทึกการตรวจสอบและอายัดสินค้าเอกสารหมาย จ.12 ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้จัดทำไว้ โดยให้โจทก์ที่ 2 และนายสุรินทร์จิรัญญกุล ผู้จัดการบริษัทสิโนทัย พลาสติก เคมิเคิล จำกัด ลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน โดยบันทึกดังกล่าวนั้นระบุไว้ชัดแจ้งว่า ผลของการตรวจสอบพบว่ามีพลาสติกสำเร็จรูป ขนาดหน้ากว้าง 8 นิ้วน้ำหนักม้วนละ 16.5 ปอนด์ ลักษณะของสินค้าเป็นม้วน จำนวนทั้งสิ้น1,337 ม้วน รวมน้ำหนัก 10,000 กิโลกรัม จริงอยู่ในการนำเข้านี้มีพลาสติกหน้ากว้างต่าง ๆ กันอยู่หลายขนาด แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ให้เสียอากรขาเข้าในพิกัดประเภทที่ 39.02 ข. อัตราร้อยละ 60หรือกิโลกรัมละ 14 บาท เฉพาะพลาสติกที่เป็นม้วนมีขนาดหน้ากว้าง8 นิ้ว เท่านั้น สวนพลาสติกที่เป็นม้วนขนาดกว้างอื่น ๆ อีกนั้นพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เสียอากรขาเข้าในพิกัดประเภทที่ 39.02 ก.โดยถือว่าเป็นเศษพลาสติกเพราะมีสภาพไม่เรียบร้อย บางม้วนมีแกนกระดาษโผล่หรือยื่นออกมา ดังปรากฏตามภาพถ่ายหมาย ล.2 รูปที่ 2การที่โจทก์ที่ 1 โต้แย้งว่าสินค้าพลาสติกจำนวน 1,337 ม้วน มิได้มีหน้ากว้าง 8 นิ้วเท่ากันทั้งหมดนั้น ก็เพิ่งจะมายกขึ้นกล่าวอ้างในภายหลัง ซึ่งขณะนั้นพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่อาจทำการตรวจสอบเพื่อยืนยันจำนวนที่แน่นอนอีกได้ เพราะสินค้าที่อายัดไว้นั้นลวดที่มัดไว้ขาด ดวงตราที่ประทับไว้แตก ทั้งทางฝ่ายโจทก์ได้ทำการเคลื่อนย้ายสินค้าไปจากที่เก็บเดิมอีกด้วย ที่โจทก์อ้างว่าสินค้าที่พิพาทกันนี้มีจำนวนไม่ถึง 1,337 ม้วน และมีขนาดหน้ากว้างต่าง ๆ กันนั้น ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยสั่งให้โจทก์ที่ 1 เสียอากรขาเข้าสำหรับสินค้าพลาสติกที่เป็นม้วนขนาดหน้ากว้าง 8 นิ้ว โดยให้เสียอากรขาเข้าในพิกัดประเภทที่ 39.02 ข. นั้น เป็นการถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าสินค้าที่เกิดกรณีพิพาทกันนี้เป็นเศษพลาสติกต้องเสียอากรขาเข้าในพิกัดประเภทที่ 39.02 ก. พิพากษาให้เพิกถอนการอายัดและกักสินค้า กับให้คืนหนังสือค้ำประกันแก่โจทก์นั้นศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 5,000 บาท.

Share