คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1083/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อตกลงของคู่สัญญาขายฝากเกี่ยวกับค่าเช่าทรัพย์สินที่ขายฝากถ้ามิได้จดแจ้งลงไว้ในสัญญาขายฝากเป็นอย่างอื่น คู่สัญญาย่อมมีสิทธินำสืบพยานบุคคลถึงข้อตกลงในเรื่องนี้ได้ เพราะค่าเช่าซึ่งเป็นดอกผลของทรัพย์สินที่ขายฝากเป็นเงินต่างก้อนกับสินไถ่ซึ่งเป็นราคาไถ่ถอนที่ดินขายฝาก การนำสืบถึงข้อตกลงเกี่ยวกับค่าเช่าระหว่างกำหนดเวลาขายฝาก จึงไม่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาขายฝากอันจะเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2504 นายบานเย็นบิดาจำเลยได้ขายฝากที่ดินโฉนดที่ 2602 และ 2603 ตำบลบางคณฑี จังหวัดสมุทรสงคราม รวม 2 โฉนดไว้กับโจทก์ ในราคา 155,000 บาท กำหนดไถ่ถอนภายใน 10 ปี ก่อนขายฝากนายบานเย็นได้ให้ผู้อื่นเช่าที่ดิน 2 แปลงดังกล่าวนี้มาตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2501 และ 6 มิถุนายน 2500 มีกำหนดเวลา 5 ปี และ 8 ปี คิดค่าเช่าปีละ 4,000 บาท และ 5,000 บาทตามลำดับ โดยนายบานเย็นได้เก็บค่าเช่าล่วงหน้าไปทั้งหมดแล้ว เมื่อนายบานเย็นนำที่ดิน 2 แปลงนี้มาขายฝากแก่โจทก์ได้ตกลงกันให้ผู้เช่าครอบครองที่ดินที่ขายฝากกันไปจนครบอายุสัญญาเช่า ส่วนค่าเช่าที่นายบานเย็นได้เก็บล่วงหน้าไปแล้วนั้นจะชำระให้โจทก์เมื่อไถ่ถอนการขายฝากแต่ถ้าไม่ไถ่ถอนที่ดินตกเป็นของโจทก์แล้วโจทก์จะไม่คิดเอาค่าเช่าที่นายบานเย็นเก็บไปแล้วภายหลังที่นายบานเย็นถึงแก่กรรมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2505 จำเลยซึ่งเป็นทายาทได้ฟ้องโจทก์ขอไถ่ถอนการขายฝากที่ดิน 2 แปลงนี้ ศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์รับไถ่ และจำเลยได้ไถ่ที่ดินคืนไปแล้วตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2509 จำเลยจึงต้องชำระค่าเช่าระหว่างขายฝากแก่โจทก์ตั้งแต่วันขายฝากสำหรับที่ดินโฉนดที่ 2602 เป็นเวลา 2 ปี 2 เดือน ในอัตราค่าเช่าปีละ 4,000 บาท เป็นเงิน 8,666.66 บาท และโฉนดที่ 2603 เป็นเวลา 3 ปี 8 เดือน อัตราค่าเช่าปีละ 5,000 บาท เป็นเงิน 18,333.33 บาท รวมเป็นเงิน 27,000 บาท นอกจากนี้เมื่อบิดาจำเลยถึงแก่กรรม โจทก์ได้ทดรองค่าทำศพไปเป็นจำนวน 5,000 บาท ซึ่งจำเลยในฐานะทายาทผู้รับมรดกและผู้ไถ่การขายฝากต้องรับผิดชอบชำระแก่โจทก์ ขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระรวมทั้งดอกเบี้ยตั้งแต่วันผิดนัดซึ่งโจทก์ขอคิดเพียง 6 เดือน จำนวน 2,400 บาท รวมเป็นเงิน 34,400 บาท

จำเลยให้การรวมทั้งฟ้องแย้งว่า นายบานเย็นบิดาจำเลยไม่ได้เก็บค่าเช่าล่วงหน้าจากผู้เช่า และหลังจากขายฝากแล้วก็เก็บค่าเช่าไม่ได้บิดาจำเลยมิได้ตกลงให้ค่าเช่าระหว่างขายฝากเป็นของโจทก์ และจะชำระให้โจทก์เมื่อไถ่ถอนการขายฝาก และแม้หากบิดาจำเลยจะเก็บค่าเช่าล่วงหน้ามาทั้งหมดก็เป็นกรรมสิทธิ์ของบิดาจำเลย เพราะสัญญาขายฝากมิได้ระบุให้โจทก์เป็นผู้เก็บค่าเช่า โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ทั้งโจทก์จะนำสืบให้เป็นอย่างอื่นนอกจากที่ปรากฏในสัญญาขายฝากไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 โจทก์ไม่เคยออกเงินทดรองค่าทำศพบิดาจำเลย โจทก์ชอบจะฟ้องแย้งเสีย แต่ครั้งที่จำเลยฟ้องขอไถ่การขายฝากในคดีแดงที่ 89/2509 ของศาลจังหวัดสมุทรสงคราม แต่กลับมาฟ้องใหม่เป็นคดีนี้ จึงเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 และคดีโจทก์ขาดอายุความเพราะมิได้ฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่บิดาจำเลยถึงแก่กรรม การที่โจทก์เข้าครอบครองที่ดินพิพาทภายหลังครบกำหนดสัญญาเช่าจนกระทั่งไถ่คืนการขายฝากแล้ว โดยโจทก์ไม่มีสิทธิตามสัญญาขายฝาก ย่อมเป็นละเมิด จำเลยขอฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์เข้าครอบครองที่ดินโฉนดที่ 2602 เป็นเวลา 2 ปี 7 เดือน เป็นเงิน 10,333.33 บาท และที่ดินโฉนดที่ 2603 เป็นเวลา1 ปี 2 เดือน เป็นเงิน 5,833.33 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 16,166.65 บาท

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ระหว่างการขายฝากกรรมสิทธิ์ในที่ดินตกเป็นของโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิเก็บผลประโยชน์และค่าเช่าระหว่างการขายฝากได้ และฟ้องแย้งจำเลยเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแดงที่ 89/2509 ของศาลจังหวัดสมุทรสงคราม และคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

ในวันชี้สองสถาน คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่าเดิมนายบานเย็นได้จำนองที่ดินพิพาท 2 แปลงนี้ไว้กับโจทก์ ต่อมาวันที่ 2 ตุลาคม 2504 หลังจากไถ่ถอนจำนองแล้ว ได้ขายฝากกับโจทก์ไว้มีกำหนด 10 ปี ภายหลังนายบานเย็นถึงแก่กรรมแล้ว จำเลยซึ่งเป็นบุตรนายบานเย็นได้ฟ้องขอไถ่ถอนการขายฝาก ศาลฎีกาได้พิพากษาให้โจทก์รับไถ่และจำเลยได้ไถ่ถอนที่ดิน 2 แปลงนี้ไปแล้ว เมื่อวันที่ 19 กรกฏาคม 2509 ระหว่างที่ดินติดจำนองอยู่นั้น นายบานเย็นได้ให้นางลูกจันทร์และนายบุญส่งเช่าที่ดินโฉนด 2 แปลงในกำหนดเวลาและอัตราค่าเช่าตามรายละเอียดในฟ้องโจทก์ และได้บันทึกไว้หลังสัญญาเช่าว่า โจทก์ผู้รับจำนองยินยอมให้นายบานเย็นผู้จำนองให้เช่าที่ดินได้ และนายบานเย็นได้รับค่าเช่าล่วงหน้าไปแล้ว

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำและไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม แต่โจทก์จะนำสืบข้อตกลงเกี่ยวกับค่าเช่าที่ดินขายฝากไม่ได้เพราะเป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ส่วนเงินทดรองค่าทำศพฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ออกแทนจำเลยไป การที่โจทก์เก็บผลประโยชน์ในที่ดินก็โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาขายฝาก จึงไม่เป็นละเมิด พิพากษายกฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งจำเลย

โจทก์ฝ่ายเดียวอุทธรณ์โต้แย้งเฉพาะในข้อกฎหมายที่โจทก์ต้องห้ามนำสืบตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย นอกนั้นคงอุทธรณ์โต้แย้งในข้อเท็จจริง

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การนำสืบของโจทก์ในข้อตกลงเรื่องค่าเช่าในที่ดินขายฝากไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 แต่ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ตามที่โจทก์อ้าง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าโจทก์จะมีสิทธินำสืบข้อตกลงเกี่ยวกับเรื่องค่าเช่าที่ดินขายฝากได้หรือไม่ว่าค่าเช่าทรัพย์สินที่ขายฝากเป็นเงินคนละอย่างกับเงินค่าไถ่หรือสินไถ่การขายฝาก โดยค่าเช่าเป็นดอกผลของที่ดินขายฝากตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 110 ส่วนค่าไถ่หรือสินไถ่คือราคาไถ่ถอนหรือราคาซื้อคืน จึงเป็นเงินต่างจำนวนกัน การนำสืบเรื่องค่าเช่าจึงมิใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาขายฝากอันเกี่ยวกับค่าไถ่หรือสินไถ่แต่อย่างใด อีกประการหนึ่งกฎหมายมิได้บังคับให้ต้องจดแจ้งเรื่องค่าเช่าทรัพย์สินที่ขายฝากลงไว้ในสัญญา หรือมีข้อความตกลงเกี่ยวกับค่าเช่าไว้ในสัญญาขายฝากอันจะถือว่าเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารสัญญาขายฝากข้อตกลงเกี่ยวกับเรื่องค่าเช่าที่โจทก์ฟ้องนี้เห็นได้ว่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากจากสัญญาขายฝาก โจทก์ย่อมนำสืบพยานบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ส่วนในปัญหาข้อเท็จจริงที่โจทก์ฎีกาเกี่ยวกับข้อตกลงเรื่องค่าเช่าว่าจะต้องชำระให้โจทก์เมื่อไถ่ถอนการขายฝาก ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่ารับฟังไม่ได้ว่ามีข้อตกลงจริงดังที่โจทก์อ้าง เมื่อกรณีรับฟังไม่ได้ว่าได้มีสัญญาต่อกันไว้ระหว่างโจทก์กับบิดาจำเลยเกี่ยวกับค่าเช่าที่พิพาทระหว่างระยะเวลาขายฝาก อันเป็นมูลฐานแห่งสิทธิที่โจทก์อ้างมาในฟ้องเช่นนี้ โจทก์ย่อมเป็นฝ่ายแพ้คดี ส่วนเงินทดรองค่าทำศพนายบานเย็นบิดาจำเลยที่โจทก์อ้างว่าให้นายใช่ไล้ยืมไปเพื่อการดังกล่าวนั้น เห็นว่าโจทก์ต้องไปว่ากล่าวเอากันเอง ไม่เกี่ยวกับจำเลย

พิพากษายืน

Share