แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การวินิจฉัยว่าลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายหรือ ไม่ จะต้องพิจารณาถึงเงื่อนไขการจ้างหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างด้วยว่า ลูกจ้างและนายจ้างประสงค์จะ ให้การจ้างมีผลผูกพันเพียงใดและต้องเป็น ลูกจ้างของ นายจ้างคราวเดียวติดต่อกันตลอดระยะเวลาที่ทำงาน โจทก์ เป็น ลูกจ้างจำเลยมีหน้าที่ทำความสะอาดสถานีและขบวนรถของจำเลยโดยได้รับค่าจ้างเป็นรายรับเฉพาะวันที่มาทำงานโจทก์มีสิทธิมาทำงาน วันใดก็ได้ หรือไม่มาทำงานวันใดก็ได้โดย ไม่ต้องบอกกล่าวหรือลางาน และโจทก์ไม่อยู่ภายใต้ระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ดังนี้ การจ้าง ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์จำเลยมีความประสงค์จะทำ สัญญาจ้างกัน คราวละ1 วันโดยจะเกิดสัญญาจ้างขึ้นในแต่ละวัน ที่โจทก์มาทำงานและสัญญาจ้างเป็นอันระงับไปเมื่อหมดเวลาทำงานของวันนั้นๆวันทำงานแต่ละวันของโจทก์จึงไม่ติดต่อกันจะถือว่า โจทก์เป็นลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันตามที่กำหนด ไว้ใน ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ 46 หรือข้อ 75 ไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับ ค่าชดเชย
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสิบสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสิบสำนวนเป็นลูกจ้างชั่วคราวของจำเลยมีหน้าที่ทำความสะอาดสถานีและขบวนรถของจำเลยได้รับค่าจ้างวันละ 66 บาทโจทก์ทั้งสิบทำงานติดต่อกันจนมีสิทธิได้รับค่าชดเชยแล้ว ต่อมาวันที่ 15 ตุลาคม2527 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสำนวนโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์สำนวนที่แปด 5,940 บาท และสำนวนนอกนั้นสำนวนละ 11,880 บาท
จำเลยทั้งสิบสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งสิบสำนวนเป็นลูกจ้างจำเลยจริงแต่ลักษณะการจ้างเป็นรายวันโดยจำเลยจ่ายค่าจ้างเฉพาะวันที่โจทก์มาทำงานโจทก์จะมาทำงานหรือไม่ก็ได้ กรณีโจทก์ไม่มาทำงาน จำเลยก็จะจ้างคนอื่นทำแทนโจทก์จึงไม่ใช่ลูกจ้างประจำหรือลูกจ้างชั่วคราวซึ่งมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายโจทก์แต่ละคนยังมีเวลาทำงานไม่เกินสองร้อยสี่สิบวัน ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยมีงานให้โจทก์ทำทุกวันโจทก์จึงเป็นลูกจ้างประจำของจำเลย มีสิทธิได้รับค่าชดเชย พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์สำนวนแรกถึงที่สามและสำนวนที่ห้า สำนวนที่หกสำนวนละ11,880 บาท และจ่ายแก่โจทก์สำนวนนอกนั้นสำนวนละ 5,940 บาท
จำเลยทั้งสิบสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ทั้งหมดเป็นลูกจ้างของจำเลย มีหน้าที่ทำความสะอาดสถานีและขบวนรถของจำเลยโดยได้รับค่าจ้างเป็นรายวันเฉพาะวันที่มาทำงานวันละ 66 บาท โจทก์มีสิทธิมาทำงานวันใดก็ได้ หรือไม่มาทำงานวันใดก็ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวหรือลางานและโจทก์ไม่อยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย เห็นว่า การวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายหรือไม่นั้น หาใช่จะพิจารณาแต่เฉพาะปริมาณงานซึ่งจำเลยมีให้โจทก์ทำเท่านั้นไม่ จำต้องพิจารณาเงื่อนไขการจ้างหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างด้วยว่าโจทก์จำเลยประสงค์จะให้การจ้างมีผลผูกพันเพียงใด โดยเฉพาะตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ซึ่งกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างประจำซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวันโดยรวมวันหยุด วันลาและวันที่นายจ้างสั่งให้หยุดเพื่อประโยชน์ของนายจ้าง หรือข้อ 75 ซึ่งกำหนดให้ลูกจ้างชั่วคราวทำงานติดต่อกันเกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันโดยรวมวันหยุด ฯลฯมีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำ คือมีสิทธิได้รับค่าชดเชยนับแต่วันทำงานที่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันเป็นต้นไปนั้น ลูกจ้างต้องมีฐานะเป็นลูกจ้างของนายจ้างคราวเดียวกันติดต่อกันตลอดระยะเวลาที่ทำงานตามกำหนดนั้น หากฐานะการเป็นลูกจ้างไม่ติดต่อกันหรือขาดตอน วันทำงานของลูกจ้างแต่ละครั้งย่อมไม่ติดต่อหรือขาดตอนไปด้วย ลูกจ้างจะนับวันทำงานแต่ละครั้งรวมกันเพื่อประโยชน์ในการเรียกร้องค่าชดเชยหาได้ไม่ จากข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าวมาแล้ว แสดงให้เห็นว่าการจ้างกันนี้โจทก์จำเลยมีความประสงค์จ้างกันคราวละ 1 วัน โดยถือเอาวันที่โจทก์มาทำงานเป็นวันที่มีสัญญาจ้างเกิดขึ้นและเมื่อหมดเวลาทำงานปกติของวันหนึ่ง ๆ แล้ว สัญญาจ้างเป็นอันระงับไปแล้ว และจะเกิดเป็นสัญญาจ้างกันใหม่อีกครั้งเมื่อโจทก์มาทำงานในวันรุ่งขึ้นหรือวันต่อไป เป็นเช่นนี้เรื่อย ๆ ไป ดังนั้น โจทก์จำเลยจึงมีความสัมพันธ์เป็นลูกจ้างจำเลยเป็นรายวันเฉพาะวันที่มาทำงานมิได้เป็นลูกจ้างจำเลยติดต่อถึงวันอื่น วันทำงานของโจทก์ย่อมไม่ติดต่อกันจะถือว่าโจทก์เป็นลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46 หรือข้อ 75 ไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสิบสำนวน