แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยซื้อสินค้าไปจากโจทก์หลายครั้งและมีหนี้ที่จำเลยสั่งซื้อสินค้าแล้วยังไม่ชำระราคารวม 34 ครั้ง โดยระบุรายละเอียดวันสั่งซื้อ จำนวนรายการที่ซื้อ ตลอดจนค่าสินค้าและค่าขนส่งแต่ละครั้ง โจทก์มีสำเนาใบส่งของและใบกำกับสินค้าแนบมาท้ายฟ้องด้วยซึ่งถือว่าเป็นส่วนของคำฟ้อง เพียงแต่โจทก์ระบุเงินบางรายการผิดไปจากหลักฐานที่ปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องทำให้ยอดเงินไม่ตรงกันเท่านั้น ดังนั้นหากคำนวณจากเอกสารท้ายฟ้องก็จะได้ยอดเงินที่ถูกต้อง ส่วนยอดหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ก็มีจำนวนตรงตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้องว่าได้มีการทำข้อตกลงกันเช่นใด แต่สุดท้ายแล้วโจทก์ก็เรียกร้องให้จำเลยรับผิดตามใบส่งของและใบกำกับสินค้าทั้ง 34 ครั้งนั่นเอง ซึ่งจำเลยสามารถตรวจสอบและต่อสู้คดีได้ถูกต้องว่าสินค้ารายการใดบ้างที่จำเลยไม่ได้สั่งซื้อหรือไม่ได้รับสินค้า ฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสองแล้ว จึงเป็นฟ้องที่ไม่เคลือบคลุม
จำเลยซื้ออาหารโคมาเพื่อใช้ในฟาร์มของจำเลย ไม่ได้ซื้อเป็นอาหารโคที่เลี้ยงไว้เพื่อบริโภคเอง แต่จำเลยมีกิจการเลี้ยงโคเพื่อจำหน่ายนมโคหรือจำหน่ายเนื้อโค จึงตกอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ตอนท้ายที่ว่าเว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง จึงมีอายุความ 5 ปี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนพฤษภาคม 2540 จำเลยสั่งซื้อสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์จากโจทก์รวมทั้ง 34 ครั้ง เป็นเงิน 760,368.15 บาท วันที่ 10 เมษายน 2540 จำเลยทำบันทึกรับสภาพหนี้ว่ายอดสินค้าจำนวน 230,000 บาท จะชำระไม่เกินวันที่ 5 พฤษภาคม 2540 และ ยอดสินค้าจำนวน 390,124.50 บาท จะไม่ชำระเกินวันที่ 20 พฤษภาคม 2540 ต่อมาจำเลยชำระค่าสินค้าให้โจทก์บางส่วน คงค้างชำระ 685,368.15 บาท คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถึงกำหนดลชำระหนี้ครั้งสุดท้าย (วันที่ 20 พฤศจิกายน 2540) จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 86,885.94 บาท รวมเป็นเงิน 772,254.09 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 772,254.09 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 685,368.15 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยไม่เข้าใจว่าหนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ค่าสินค้าครั้งใด ถึงกำหนดชำระเมื่อใด โจทก์ไม่ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คดีโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ส่งสินค่าครั้งสุดท้าย วันที่ 2 พฤษภาคม 2540 โจทก์ฟ้องคดีเกิน 2 ปีแล้ว จำเลยไม่เคยได้รับสินค้าตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 685,368.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 86,885.94 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 545,124.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในประการแรกตามฎีกาของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยฎีกาทำนองว่ายอดเงินค่าสินค้าตามที่โจทก์บรรยายในคำฟ้องไม่ตรงกับจำนวนที่จำเลยคำนวณได้ ทำให้ไม่อาจทราบได้ถึงข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่ามาจากการกระทำหรือนิติกรรมใด จำเลยจึงไม่สามารถต่อสู้คดีและหาพยานหลักฐานหักล้างคำฟ้องของโจทก์ได้ถูกต้อง จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุม เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยซื้อสินค้าเชื่อไปจากโจทก์หลายครั้งและมีหนี้ที่จำเลยสั่งซื้อสินค้าแล้วยังไม่ชำระราคารวม 34 ครั้ง โดยระบุรายละเอียดวันสั่งซื้อ จำนวนรายการที่ซื้อ ตลอดจนค่าสินค้าและค่าขนส่งแต่ละครั้งโดยโจทก์มีสำเนาใบส่งของและใบกำกับสินค้าทั้ง 34 ครั้ง แนบมาท้ายฟ้องด้วย ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง เพียงแต่โจทก์ระบุจำนวนเงินบางรายการผิดไปจากหลักฐานที่ปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องทำให้ยอดเงินไม่ตรงกันเท่านั้น เช่น การสั่งซื้อครั้งที่ 31 ซึ่งระบุค่าสินค้ารวมค่าขนส่งเป็นเงิน 20,560 บาท แต่ตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้องปรากฏยอดเงินจำนวน 25,560 บาท เป็นต้น ดังนั้น หากคำนวณจากเอกสารท้ายฟ้องก็จะได้ยอดเงินที่ถูกต้อง ส่วนยอดหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ก็มีจำนวนตรงตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้องว่าได้มีการทำข้อตกลงกันเช่นใด แต่สุดท้ายแล้วโจทก์ก็เรียกร้องให้จำเลยรับผิดตามใบส่งของและใบกำกับสินค้าทั้ง 34 ครั้งนั่นเอง ซึ่งจำเลยสามารถตรวจสอบและต่อสู้คดีได้ถูกต้องว่าสินค้ารายการใดบ้างที่จำเลยไม่ได้สั่งซื้อหรือไม่ได้รับสินค้า ฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ รวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาโดยครบถ้วนแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง จึงเป็นฟ้องที่ไม่เคลือบคลุม ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อต่อมาตามฎีกาของจำเลยมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยซื้ออาหารโคมาเพื่อใช้ในฟาร์มและจำเลยจำหน่ายนมโคหรือเนื้อโค อันเป็นการที่ได้ทำเพื่อใช้ในฟาร์มและจำเลยจำหน่ายนมโคหรือเนื้อโค อันเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้เอง จึงต้องพิจารณาในทางให้เป็นคุณแก่จำเลยและต้องฟังว่า คดีโจทก์มีอายุความ 2 ปี ไม่ใช่อายุความ 5 ปี ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า ตามหลักฐานใบส่งของและใบกำกับสินค้าปรากฏว่า จำเลยสั่งซื้อสินค้าอาหารสัตว์จากโจทก์ในช่วงปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนพฤษภาคม 2540 รวม 34 ครั้ง แต่ละครั้งมีปริมาณมากเกินกว่า 10,000 บาท กิโลกรัม บางวันสั่งซื้อถึง 4 เที่ยวรถ และสั่งซื้อติด ๆ กันเกือบทุกวัน แสดงให้เห็นว่าจำเลยต้องมีกิจการเลี้ยงสัตว์จำนวนมาก และตามหนังสือรับสภาพหนี้หรือสัญญาข้อตกลงเอกสารหมาย จ.39 ก็ระบุชัดว่าเป็นหนี้ค่าสินค้าสำหรับอาหารโคที่ใช้ในฟาร์มของจำเลย ส่วนโจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการโรงงานผลิตอาหารสัตว์ออกจำหน่าย ดังนั้น ที่อุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า จำเลยซื้ออาหารโคมาเพื่อใช้ในฟาร์มของจำเลยไม่ได้ซื้อไปเป็นอาหารโคที่เลี้ยงเพื่อบริโภคเอง แต่จำเลยมีกิจการเลี้ยงโคเพื่อจำหน่ายนมโคหรือจำหน่ายเนื้อโค จึงตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ตอนท้ายที่ว่า เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 5 ปี ไม่ใช่ 2 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 3,000 บาท แทนโจทก์