คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3328/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับค่าจ้างจากจำเลยที่ 3 ให้แก่โจทก์และบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยที่ 3 แล้วแต่เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไปรับเงินค่าจ้างงวดแรกจากจำเลยที่ 3 แล้วนำไปชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ได้รับชำระหนี้ไว้และไม่ดำเนินการใด ๆ เช่น แจ้งให้จำเลยที่ 3 ระงับการจ่ายเงินสำหรับงวดต่อ ๆ ไป ย่อมทำให้จำเลยที่ 3 เข้าใจว่าสามารถจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ได้โดยตรง การกระทำของโจทก์นับว่าเป็นการให้สัตยาบันแก่การชำระหนี้งวดแรก ทั้งยังเป็นการยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนโจทก์ในการขอรับชำระหนี้ในงวดต่อ ๆ ไปด้วย เมื่อจำเลยที่ 3 ชำระหนี้ตามสัญญาจ้างให้แก่จำเลยที่ 1 ไปจนครบถ้วนแล้ว หนี้ของจำเลยที่ 3 จึงระงับสิ้นไป โจทก์ไม่อาจเรียกให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้อีกได้ เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปว่ากล่าวเอาแก่จำเลยที่ 1 เอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 6,170,000.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปีของต้นเงิน 5,067,680 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 6,170,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ของต้นเงิน 5,067,680 บาทนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 ตุลาคม 2542) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในต้นเงิน 5,067,680 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จกับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง และจำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 3 ได้รับหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องได้กล่าว เช่นนี้จำเลยที่ 3 ไม่ใช่คู่สัญญากับโจทก์ตามคำร้องเพื่อเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตในประเทศ แต่อย่างใด เพราะคู่สัญญาคือจำเลยที่ 1 แต่ฝ่ายเดียว จำเลยที่ 1 เท่านั้นเป็นฝ่ายมีหน้าที่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาดังกล่าว โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตได้ จำเลยที่ 3 คงรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาจ้าง และ จ. 18 ที่จำเลยที่ 1 โอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์เท่านั้น แต่ก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ชำระหนี้ตามสัญญาจ้างดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 แทนที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามที่มีการโอนสิทธิเรียกร้องโดยชอบแล้ว จึงมีปัญหาให้ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์ยังคงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ได้อีกหรือไม่ เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 315 บัญญัติว่า “อันการชำระหนี้นั้นต้องทำให้แก่ตัวเจ้าหนี้หรือแก่บุคคลผู้มีอำนาจรับชำระหนี้แทนเจ้าหนี้ การชำระหนี้ทำให้แก่บุคคลผู้ไม่มีอำนาจรับชำระหนี้นั้นถ้าเจ้าหนี้ให้สัตยาบันก็นับว่าสมบูรณ์” จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จำเลยที่ 3 จะต้องชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์ไม่ใช่ชำระให้แก่จำเลยที่ 1 แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ไปขอรับเงินค่าจ้างงวดแรก จำนวน 1,260,000 บาท ซึ่งมีการจ่ายเป็นเช็ค (จำนวนเงินตามเช็คคือ 1,248,224.30 บาท) แล้วจำเลยที่ 1 นำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีที่ธนาคารโจทก์และชำระหนี้ให้แก่โจทก์การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว เป็นการไม่ปฏิบัติตามหนังสือโอนสิทธิเรียกร้อง ข้อ 2 ที่ระบุว่า เมื่อจำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะได้รับเงินงวดหนึ่งงวดใดหรือทั้งหมด จำเลยที่ 1 จะต้องแจ้งให้โจทก์ทราบทันที เพื่อโจทก์จะได้เรียกเก็บเงินจากจำเลยที่ 3 ตามสิทธิเรียกร้องซึ่งได้ตกลงโอน แต่กรณีจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาดังกล่าวโดยไปขอรับเงินค่างวดเอง แทนที่จะแจ้งให้โจทก์ไปรับเงินด้วยตนเองตามสัญญาดังกล่าว โจทก์กลับไม่ดำเนินการใด ๆ เช่นแจ้งจำเลยที่ 3 ขอให้ระงับการจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 โดยตรงสำหรับเงินค่างวดต่อ ๆ ไป ย่อมทำให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 เข้าใจได้ว่าสามารถที่จะจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ได้โดยตรง การกระทำของโจทก์ดังกล่าวนับว่าเป็นการให้สัตยาบันแก่การชำระหนี้งวดแรก ทั้งยังเป็นการยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของโจทก์ในการขอรับชำระหนี้ในงวดต่อ ๆ ไปด้วย เมื่อจำเลยที่ 3 ชำระหนี้ตามสัญญาจ้างให้แก่จำเลยที่ 1 ไปครบถ้วนทั้งสองสัญญาแล้ว หนี้ของจำเลยที่ 3 จึงระงับสิ้นไป โจทก์ไม่อาจเรียกเอาจากจำเลยที่ 3 ได้อีกต่อไป เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องว่ากล่าวเอาแก่จำเลยที่ 1 เอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ชำระต้นเงิน 5,067,680 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังขึ้น เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์แล้ว ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 3 ในข้ออื่นอีกต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 3 ทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share