คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3323/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัดมีจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 เป็นกรรมการและจำเลยที่ 5 เป็นผู้จัดการ มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานได้และทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 5 จึงเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนกรรมการของจำเลยที่ 1 ต้องถือว่าจำเลยที่ 5เป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งยี่สิบสองตามคำนิยามคำว่า นายจ้างในข้อ 2 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

ย่อยาว

โจทก์ทั้งยี่สิบสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการขายข้าว จำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 5เป็นผู้จัดการของบริษัทจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งห้าได้จ้างโจทก์ทั้งยี่สิบสองคนเป็นลูกจ้าง เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2534 จำเลยทั้งห้าได้สั่งพักงานโจทก์ทั้งยี่สิบสองโดยไม่มีกำหนด อ้างว่าเพื่อปรับปรุงกิจการโดยไม่จ่ายค่าจ้างให้โดยโจทก์ทั้งยี่สิบสองไม่มีความผิด นอกจากนั้นจำเลยทั้งห้าไม่ต่ออายุสัญญาเช่าอาคารที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ พร้อมทั้งดำเนินการขนย้ายเครื่องจักรเครื่องมือออกจากสำนักงานและปิดสถานที่ทำงาน โจทก์ทั้งยี่สิบสองได้ติดต่อขอทำงานและขอรับค่าจ้างตามปกติต่อไปแต่จำเลยทั้งห้าเพิกเฉยจนถึงวันฟ้องเกินกว่า 7 วัน ตามพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยทั้งห้าได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบสองตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2534 โดยโจทก์ทั้งยี่สิบสองไม่มีความผิดขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าชำระค่าจ้างค้างจ่ายและค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งยี่สิบสองพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งห้าให้การว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นเพียงกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 5 เป็นเพียงพนักงานของจำเลยที่ 1 มิได้เข้าหุ้นหรือร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการว่าจ้างโจทก์ ดังนั้นจำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบสองเพราะโจทก์ทั้งยี่สิบสองมีความผิดร่วมกันทุจริตเบียดบังข้าวสารซึ่งอยู่ในความดูแลไป ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าชำระเงินให้โจทก์ทั้งยี่สิบสองพร้อมดอกเบี้ย ทั้งนี้จำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 5 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว คำขออื่นของโจทก์ให้ยกเสียจำเลยทั้งห้าทุกสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีคงมีปัญหามาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาแต่เพียงว่า จำเลยที่ 5 เป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งยี่สิบสองตามความหมายในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล มีจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นกรรมการ และมีจำเลยที่ 5 เป็นผู้จัดการจำเลยที่ 5 มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานได้และทำการแทนจำเลยที่ 1ได้ จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นได้ว่าจำเลยที่ 5 ได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนกรรมการของจำเลยที่ 1 จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 5เป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งยี่สิบสองตามคำนิยามของคำว่า “นายจ้าง”ในข้อ 2 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานซึ่งให้คำนิยามของคำว่า “นายจ้าง” ไว้ว่าให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลด้วย ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 5 เป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งยี่สิบสองจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้าทุกสำนวนฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share