คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3322/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อไม้ของกลางที่ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นท่อนยังมิได้มีการกระทำใด ๆ ให้ไม้เปลี่ยนรูปหรือขนาดไป จึงถือว่าไม้ดังกล่าวยังมิได้แปรรูปอันจะเป็นการแปรรูปไม้ตามคำนิยามของคำว่า แปรรูปไม้ ในมาตรา 4 (3) แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “แปรรูป หมายความว่า การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่ไม้ดังนี้ คือ ก. เลื่อย ผ่า ถาก ขุด หรือกระทำด้วยประการอื่นใดแก่ไม้ให้เปลี่ยนรูปหรือขนาดไปจากเดิม…” ลำพังเพียงการตัดไม้แล้วทอนเป็นท่อนยังไม่ถือเป็นการแปรรูปไม้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันแปรรูปไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต และเมื่อไม้หวงห้ามของกลางเป็นไม้อันยังมิได้แปรรูป จำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีความผิดฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องด้วยเช่นกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายืนตามกันมาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดทั้งสองฐานนี้จึงไม่ชอบ ซึ่งศาลฎีกาเมื่อเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นความผิดในสองฐานนี้ย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215, 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 11, 48, 54, 72 ตรี, 73, 74, 74 ทวิ พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 3, 4, 17 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบของกลาง และให้จำเลยทั้งสอง คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน หรือบริวารออกจากเขตป่าที่เกิดเหตุ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 หลบหนี ศาลชั้นต้นออกหมายจับและจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ชั่วคราว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 48 วรรคหนึ่ง, 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคหนึ่ง, 73 วรรคสอง (ที่ถูก 73 วรรคสอง (2)), 74 ทวิ พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 17 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันก่นสร้าง แผ้วถางป่า ทำลายป่า จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 ปี ฐานร่วมกันแปรรูปไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 ปี ฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละหนึ่งในสี่ ฐานร่วมกันก่นสร้าง แผ้วถางป่า ทำลายป่า จำคุก 9 เดือน ฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี 6 เดือน ฐานร่วมกันแปรรูปไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี 6 เดือน ฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 9 เดือน ฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 9 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 5 ปี 3 เดือน ริบของกลาง ให้จำเลยที่ 2 คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน หรือบริวารออกไปจากป่าที่เกิดเหตุ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี 30 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามที่โจทก์และจำเลยที่ 2 นำสืบรับกันว่า เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2556 เวลาประมาณ 14 นาฬิกา นายสมเกียรติ ตำแหน่งเจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญการ สังกัดสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 13 จังหวัดสงขลา กรมป่าไม้ และนายอนิรุทธ ปลัดอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง ร่วมกับเจ้าพนักงานตำรวจและทหารเดินทางไปที่ป่าที่เกิดเหตุในท้องที่บ้านทุ่งหลุมนก หมู่ที่ 11 ตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ตามที่นายอนิรุทธได้รับแจ้งทางโทรศัพท์จากพลเมืองดีว่ามีผู้บุกรุกป่าที่เกิดเหตุดังกล่าว เมื่อไปถึงพบจำเลยทั้งสองอยู่ใกล้รถยนต์กระบะบนถนนติดกับป่าที่เกิดเหตุ จึงจับจำเลยทั้งสอง โดยตรวจพบและยึดได้ของกลางตามที่ระบุในคำฟ้อง แจ้งข้อหาจำเลยทั้งสองว่า ร่วมกันทำไม้หรือทำอันตรายด้วยประการใด ๆ แก่ไม้หวงห้ามประเภท ก. โดยไม่ได้รับอนุญาต ร่วมกันแปรรูปไม้ดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาต ร่วมกันมีไม้หวงห้ามดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาต ร่วมกันบุกรุกแผ้วถางป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ สำหรับความผิดฐานมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่ได้ยื่นฎีกา ความผิดฐานนี้จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานร่วมกันแปรรูปไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานร่วมกันก่นสร้าง แผ้วถางป่า ทำลายป่า และฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ โจทก์มีนายสมเกียรติ และนายอนิรุทธ เป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า เมื่อเดินทางไปถึงที่เกิดเหตุซึ่งเป็นป่าสมบูรณ์ที่หมู่บ้านทุ่งหลุมนก ตามแผนที่เกิดเหตุพบชาย 2 คน นั่งรับประทานอาหารอยู่ข้างรถยนต์กระบะที่จอดอยู่ในป่า มีเลื่อยโซ่ยนต์ 1 เครื่อง และมีดพร้า 2 เล่ม วางอยู่ข้าง ๆ เมื่อเห็นเจ้าหน้าที่ ชายทั้งสองหลบหนี โดยคนหนึ่งวิ่งหนีเข้าป่า ส่วนอีกคนหนึ่งคือจำเลยที่ 2 วิ่งไปขึ้นรถยนต์กระบะสีแดง ยี่ห้อนิสสัน ขับหลบหนี พยานโจทก์ทั้งสองปากกับพวกกระจายกันออกติดตามจับ จับชายคนที่วิ่งหนีได้ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 100 เมตร ส่วนจำเลยที่ 2 ตามจับได้ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 50 เมตร ในที่เกิดเหตุตรวจพบไขควง คีมล็อก ตะไบ ตลับเมตรใช้ตีเส้นเพื่อแปรรูปไม้ น้ำมันเบนซินและท่อนซุง และพายเลื่อยโซ่ยนต์อยู่บริเวณที่จำเลยที่ 2 กับพวกนั่งรับประทานอาหาร นอกจากนี้ ได้ตรวจพื้นที่เกิดเหตุพบว่าป่าถูกบุกรุกแผ้วถางไปประมาณ 7 ไร่ มีต้นไม้ขนาดใหญ่ถูกโค่นล้มด้วยเลื่อยโซ่ยนต์ 6 ถึง 8 ต้น เป็นไม้กระบาก ไม้ขนุนป่า ไม้แดงควน ไม้สยาแดง และไม้ขานาง ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ไม้หวงห้ามธรรมดา ตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดอัตราค่าภาคหลวงไม้หวงห้าม ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ลงวันที่ 22 มกราคม 2531 ไม้บางส่วนถูกเผา บางส่วนถูกเลื่อยตัดเป็นท่อน ไม้ที่ถูกตัดเป็นท่อน 6 ท่อน มีปริมาตรรวม 39 ลูกบาศก์เมตร ตามบัญชีรายการไม้ของกลาง พยานโจทก์สอบถาม จำเลยที่ 2 บอกว่าเข้าไปเก็บเศษไม้ ปลายไม้ ในป่าที่เกิดเหตุนานประมาณ 20 วัน แล้ว และไม่มีเอกสารสิทธิใดเกี่ยวกับที่เกิดเหตุมาแสดง กับบอกว่าที่เกิดเหตุเป็นของนายสา ไม่ทราบชื่อสกุล ซึ่งเป็นคนอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามบันทึกการจับกุม พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นขณะจำเลยที่ 2 กับพวกแผ้วถาง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายป่า เข้ายึดถือครอบครองป่า และทำไม้โดยใช้เลื่อยโซ่ยนต์และมีดพร้าตัดโค่นต้นไม้ แต่จากพฤติการณ์แวดล้อมที่ขณะพยานโจทก์ทั้งสองปากพบเห็นจำเลยที่ 2 กับพวกตอนแรกในบริเวณที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 2 กับพวกนั่งรับประทานอาหารอยู่ข้างรถยนต์กระบะ 2 คัน คันหนึ่งยี่ห้อโตโยต้า อีกคันหนึ่งยี่ห้อนิสสัน พยานโจทก์ทั้งสองปากเบิกความว่ารถทั้งสองคันมีลักษณะเป็นรถที่ใช้ในการบรรทุกไม้ จอดอยู่บนถนนติดป่าที่เกิดเหตุ ทั้งมีเลื่อยโซ่ยนต์ 1 เครื่อง มีดพร้า 2 เล่ม คีมล็อก 1 อัน ไขควง 1 อัน ตะไบ 1 อัน ตลับเมตร 1 อัน แกลลอนน้ำมัน ขนาด 5 ลิตร 2 ใบ พายเลื่อยโซ่ยนต์ 1 อัน ตลับตีเส้น 1 อัน ซึ่งเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ ที่บุคคลสามารถใช้ในการกระทำความผิดหรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดดังกล่าวเหล่านั้นได้ วางอยู่ข้าง ๆ จำเลยที่ 2 กับพวกในที่เกิดเหตุ ประกอบกับจำเลยที่ 2 กับพวกวิ่งหลบหนีทันทีเมื่อเห็นพยานโจทก์ทั้งสองกับพวกซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน ทำให้เชื่อว่าจำเลยที่ 2 รู้เห็นเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดฐานดังกล่าวเหล่านั้น โดยทำมานานประมาณ 20 วัน ก่อนถูกจับ ตามที่พยานโจทก์ทั้งสองปากเบิกความว่าจำเลยที่ 2 บอกเช่นนั้น ซึ่งเชื่อว่าจำเลยที่ 2 พูดจริง เพราะพยานโจทก์ทั้งสองปากเป็นเจ้าพนักงาน ไม่มีเหตุที่จะปรักปรำ และเมื่อตอบถามค้าน จำเลยที่ 2 ก็เบิกความว่าพบเห็นมีการแผ้วถางตัดโค่นต้นไม้และเผาป่ามาแล้วเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน ก่อนถูกจับ ทั้งยังรับว่ารถยนต์กระบะของตนใช้บรรทุกไม้ยางพาราด้วย แสดงว่าใช้รถยนต์ดังกล่าวบรรทุกไม้อื่นได้เช่นกันดังเช่นที่พยานโจทก์เบิกความ ที่จำเลยที่ 2 นำสืบโดยเบิกความว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 13 นาฬิกา จำเลยที่ 2 ขับรถไปสวนยางพาราของตนซึ่งอยู่ห่างป่าที่เกิดเหตุประมาณ 1 กิโลเมตร ต้องผ่านบริเวณป่าที่เกิดเหตุ พบจำเลยที่ 1 จึงจอดรถลงเดินไปหาเพื่อบอกให้ช่วยขยับรถยนต์กระบะ (ยี่ห้อโตโยต้า) หลีกทาง หลังจากจำเลยที่ 1 ขยับรถแล้ว มีเจ้าพนักงานตำรวจ และทหารหลายคนเข้าไปที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 2 กลัวจะถูกจับ จึงขึ้นขับรถหลบหนี เห็นได้ว่าถ้าจำเลยที่ 2 มีความต้องการให้จำเลยที่ 1 ขยับรถหลบให้ทาง ก็ไม่จำต้องลงจากรถของตน และเมื่อจำเลยที่ 1 ขยับรถให้แล้ว จำเลยที่ 2 ก็ควรรีบขับรถออกไป ทั้งก็ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยที่ 1 จะจอดรถขวางทางที่ชาวสวนยางพาราเหล่านั้นใช้เป็นทางสัญจรไปมา ถ้าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกปุ๋ยมาใส่สวนยางพาราให้นายสมศักดิ์หรือเอียดผู้ว่าจ้างในวันเกิดเหตุจริง ก็น่าจะนำรถไปจอดในสวนยางพาราเพื่อสะดวกแก่การลงปุ๋ย ทางนำสืบของจำเลยที่ 2 จึงไม่สมเหตุสมผล ไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับความผิดฐานร่วมกันแปรรูปไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 มานั้น จากการพิจารณาภาพถ่ายทั้งสองภาพ เห็นได้ว่าไม้ของกลางมีลักษณะถูกตัดแล้วทอนเป็นท่อน โดยเฉพาะตามภาพบนที่ไม้ของกลางมีลักษณะไหม้ไฟบางส่วน สอดคล้องกับบัญชีไม้ของกลาง ที่ระบุในช่องหมายเหตุว่า “ยังไม่ตัดปลาย ไฟกำลังโชน…” และสอดคล้องกับพยานโจทก์ปากนายสมเกียรติซึ่งเบิกความว่า ตรวจสอบที่เกิดเหตุพบไม้ต้นใหญ่ถูกโค่นโดยเลื่อยโซ่ยนต์ ถูกทอนเป็นท่อน บางส่วนถูกเผา เมื่อไม้ของกลางที่ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นท่อนยังมิได้มีการกระทำใด ๆ ให้ไม้เปลี่ยนรูปหรือขนาดไป จึงถือว่าไม้ดังกล่าวยังมิได้แปรรูปอันจะเป็นการแปรรูปไม้ตามคำนิยามของคำว่า แปรรูปไม้ ในมาตรา 4 (3) แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “แปรรูป หมายความว่า การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่ไม้ดังนี้ คือ ก. เลื่อย ผ่า ถาก ขุด หรือกระทำด้วยประการอื่นใดแก่ไม้ให้เปลี่ยนรูปหรือขนาดไปจากเดิม…” ลำพังเพียงการตัดไม้แล้วทอนเป็นท่อนยังไม่ถือเป็นการแปรรูปไม้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันแปรรูปไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต และเมื่อไม้หวงห้ามของกลางเป็นไม้อันยังมิได้แปรรูป จำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีความผิดฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องด้วยเช่นกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายืนตามกันมาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดทั้งสองฐานนี้จึงไม่ชอบ ซึ่งศาลฎีกาเมื่อเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นความผิดในสองฐานนี้ย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215, 225 ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้คืนรถยนต์กระบะ ยี่ห้อนิสสัน ของกลาง นั้น เห็นว่า ตามพยานหลักฐานโจทก์ได้ความว่า ขณะเข้าจับกุมและยึดรถยนต์ รถยนต์กระบะดังกล่าวจอดอยู่บนถนนใกล้ที่เกิดเหตุ โดยจำเลยทั้งสองมิได้โต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงต้องฟังว่า จำเลยที่ 2 ได้ใช้รถยนต์กระบะดังกล่าวเป็นยานพาหนะในการกระทำความผิดหรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 11 รถยนต์กระบะดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์ที่ต้องริบตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 74 ทวิ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาตามกันมาให้ริบรถยนต์กระบะดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เนื่องจากได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 106/2557 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ แต่กฎหมายที่แก้ใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยที่ 2
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันแปรรูปไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต คงจำคุกฐานร่วมกันก่นสร้าง แผ้วถางป่า ทำลายป่า มีกำหนด 1 ปีและฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต มีกำหนด 2 ปี ลดโทษให้จำเลยที่ 2 กระทงละหนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 รวม 1 ปี 15 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share