คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3320/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยฎีกาว่า คดีนี้มีทุนทรัพย์สูงและเป็นคดีมีข้อยุ่งยาก ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ใช้ค่าทนายความ 1,000,000 บาท การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้น 50,000 บาท จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และในชั้นอุทธรณ์จำเลยทำคำแก้อุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์มิได้กำหนดให้โจทก์ใช้ค่าทนายความแทนจำเลยเป็นฎีกาในปัญหาเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแต่อย่างเดียว และข้ออ้างในฎีกาของจำเลยล้วนเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ในการกำหนดค่าทนายความที่โจทก์ผู้แพ้คดีต้องใช้แทนจำเลย นอกจากนี้ค่าทนายความในศาลชั้นต้นตามที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์ใช้แทนจำเลย ก็เป็นจำนวนที่ศาลอุทธรณ์เห็นสมควรระหว่างอัตราขั้นต่ำและอัตราขั้นสูงดังที่ระบุไว้ในตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แล้ว เมื่อจำเลยมิได้ฎีกายกเหตุว่าค่าฤชาธรรมเนียมนั้นกำหนดหรือคำนวณไม่ถูกต้องตามกฎหมายดังที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 168 ฎีกาของจำเลยเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1905 และ 415 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับให้จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวคืนแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ปฏิบัติตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 หากจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่สามารถโอนที่ดินดังกล่าวคืนโจทก์ก็ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 130,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 4 ให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 415 ให้แก่จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลฎีกา แต่ระหว่างการดำเนินคดีดังกล่าว จำเลยที่ 4 ได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 415 จากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน การที่โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวให้ จำเลยที่ 4 เป็นการโอนตามคำพิพากษาศาลฎีกา มิได้เกิดจากการฉ้อฉล คดีโจทก์ขาดอายุความ และฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์อายัดที่ดินโฉนดเลขที่ 415 ของจำเลยที่ 4 โดยไม่มีอำนาจตามกฎหมายทำให้จำเลยที่ 4 ไม่สามารถเข้าครอบครองและทำผลประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวได้ ซึ่งคิดเป็นค่าเสียหายไม่น้อยกว่าเดือนละ 1,000,000 บาท จึงขอคิดค่าเสียหายนับแต่วันที่โจทก์อายัดที่ดินถึงวันฟ้องรวม 2 เดือน เป็นเงิน 2,000,000 บาท และต่อไปอีกเดือนละ 1,000,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง และขอให้เพิกถอนคำขออายัดที่ดินโฉนดเลขที่ 415 ของโจทก์ ห้ามโจทก์รบกวนการครอบครองและใช้สิทธิในที่ดินดังกล่าวของจำเลยที่ 4 หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ต่อไป กับให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายจำนวน 2,000,000 บาท และต่อไปอีกเดือนละ 1,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะถอนคำอายัด

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ ให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสี่ และพิพากษายกฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยที่ 4 ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสี่โดยกำหนดค่าทนายความคนละ 1,000,000 บาท

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้นแทนจำเลยทั้งสี่คนละ 50,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 และที่ 4 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ฎีกาว่า คดีนี้มีทุนทรัพย์สูงและเป็นคดีมีข้อยุ่งยาก ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความให้โจทก์ใช้แทนจำเลยที่ 1 และที่ 4 คนละ1,000,000 บาท เหมาะสมแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้นแทนจำเลยที่ 1 และที่ 4 คนละ 50,000 บาท จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และในชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 1 และที่ 4 ทำคำแก้อุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์มิได้กำหนดให้โจทก์ใช้ค่าทนายความแทนจำเลยที่ 1 และที่ 4 นั้น เห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ดังกล่าวเป็นฎีกาในปัญหาเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแต่อย่างเดียว ข้ออ้างในฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ล้วนเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ในการกำหนดค่าทนายความ ที่โจทก์ผู้แพ้คดีต้องใช้แทนจำเลยที่ 1 และที่ 4 โดยพิจารณาตามความยากง่ายแห่งคดีกับเทียบดูเวลาและงานที่ทนายจำเลยที่ 1 และที่ 4 ต้องปฏิบัติในการว่าคดีนี้นอกจากนี้ค่าทนายความในศาลชั้นต้นตามที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์ใช้แทนจำเลยที่ 1 และที่ 4 คนละ 50,000 บาท ก็เป็นจำนวนที่ศาลอุทธรณ์เห็นสมควรระหว่างอัตราขั้นต่ำและอัตราขั้นสูงดังที่ระบุไว้ในตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งข้ออ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ดังกล่าวจึงมิได้ยกเหตุว่าค่าฤชาธรรมเนียมนั้นกำหนดหรือคำนวณไม่ถูกต้องตามกฎหมายดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 168 แต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 4 เป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 4 คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดแก่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share