คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 332/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ โดยได้ชำระค่าเช่าซื้องวดแรกแล้วแต่โจทก์ไม่ยอมมอบป้ายทะเบียนรถให้ ดังนี้ถือว่าป้ายทะเบียนรถเป็นส่วนสำคัญของรถยนต์คันที่เช่าซื้อเมื่อโจทก์ไม่ยอมมอบป้ายทะเบียนรถให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1ย่อมไม่สามารถที่จะใช้หรือรับประโยชน์จากรถยนต์คันที่เช่าซื้อได้เพราะหากจำเลยที่ 1 นำรถออกใช้ก็จะถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมโจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่าซื้อในงวดที่สองจะถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ได้ แต่การที่โจทก์ยึดรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนไป โดยจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 สมัครใจเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อกันนับแต่วันที่โจทก์ยึดรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนไปโจทก์กับจำเลยที่ 1 จะเรียกค่าเสียหายอย่างใดต่อกันอีกไม่ได้เว้นแต่ค่าเสียหายที่เป็นค่าขาดประโยชน์ของโจทก์ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ครอบครองรถยนต์คันที่เช่าซื้อไว้จนถึงวันเลิกสัญญาเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกสิบล้อของโจทก์ 1 คัน ราคา 604,800 บาท จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อในวันทำสัญญา 35,000 บาท ส่วนที่เหลือจะผ่อนชำระให้รวม 36 งวดโดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดที่สองถือว่าสัญญาเลิกกัน เจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ติดตามยึดรถคันที่เช่าซื้อคืน ปรากฏว่ารถดังกล่าวอยู่ในสภาพเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 238,431 บาทพร้อมกับดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ผิดนัด โจทก์เรียกค่าเสียหายมาเกินความจริง รถยนต์คันที่เช่าซื้ออยู่ในสภาพที่ใช้งานไม่ได้ จำเลยที่ 1 ได้ทำการซ่อมเสียค่าซ่อมไปเป็นเงิน 70,000 บาทเศษ จึงใช้งานได้ โจทก์จะต้องชดใช้เงินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายจำนวน70,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งจำเลยที่ 1 ว่า ขณะเช่าซื้อรถยนต์พิพาทไม่เสียหายค่าซ่อมที่จำเลยที่ 1 อ้างเป็นการซ่อมโดยปกติ เนื่องจากจำเลยที่ 1 นำรถไปลากจูงไม้ รถย่อมเกิดความเสียหายเนื่องจากใช้งานหนัก ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์และให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 70,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2529 จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่จำเลยที่ 1
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 จำนวน 64,820 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2527 จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกหมายเลขเครื่องพีอี 6-024147 จากโจทก์ ราคา 604,800 บาทชำระเงินในวันทำสัญญา 3,500 บาท ส่วนที่เหลือผ่อนชำระเป็นรายเดือนรวม 36 งวด งวดละ 15,500 บาท เริ่มชำระงวดแรกในวันที่ 5 พฤศจิกายน2527 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 5 ของเดือนถัดไป โดยมีจำเลยที่ 2ที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน ในวันทำสัญญาเช่าซื้อ รถยนต์คันที่เช่าซื้อไม่สามารถขับเคลื่อนได้ จำเลยที่ 1 จึงลากไปทำการซ่อม นับแต่วันทำสัญญาเช่าซื้อเป็นต้นมาโจทก์ยังไม่ได้มอบป้ายทะเบียนรถยนต์คันที่เช่าซื้อให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าซื้องวดแรกจำนวน 15,800 บาท ให้แก่โจทก์แล้วเมื่อถึงงวดที่สอง จำเลยที่ 1 ออกเช็คมอบให้โจทก์แล้วต่อมามีคำสั่งให้ธนาคารระงับการจ่ายเงินและไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้ออีก ต่อมาวันที่13 พฤษภาคม 2528 โจทก์ได้เข้าครอบครองรถยนต์คันที่เช่าซื้ออ้างว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา และได้ขายรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่นไปแล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกมีว่าโจทก์หรือจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา…แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1ได้ติดตามทวงถามป้ายทะเบียนรถจากโจทก์ตลอดมา แต่โจทก์ไม่ยอมมอบป้ายทะเบียนรถให้ ป้ายทะเบียนรถเป็นส่วนสำคัญของรถยนต์คันที่เช่าซื้อ เมื่อโจทก์ไม่ยอมมอบป้ายทะเบียนรถให้แก่จำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 ย่อมไม่สามารถที่จะใช้หรือรับประโยชน์จากรถยนต์คันที่เช่าซื้อได้ เพราะหากจำเลยที่ 1 นำรถออกใช้ก็จะถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1ไม่ชำระค่าเช่าซื้อในงวดที่สองจะถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ได้แต่การที่โจทก์ยึดรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนไป โดยจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้ง ทั้งยังนำสืบรับว่า ก่อนหน้านั้นจำเลยที่ 1 ก็มีเจตนาจะเลิกสัญญาเช่าซื้ออยู่แล้ว ดังนี้เป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 สมัครใจเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อกัน นับแต่วันที่โจทก์ยึดรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนไป โจทก์กับจำเลยที่ 1 จะเรียกค่าเสียหายอย่างใดต่อกันอีกไม่ได้ เว้นแต่ค่าเสียหายที่เป็นค่าขาดประโยชน์ของโจทก์ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ครอบครองรถยนต์คันที่เช่าซื้อไว้จนถึงวันเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า โจทก์ควรได้รับชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์จำนวนเท่าใด โจทก์มีนายถนัด เฝ้าทรัพย์เป็นพยานปากเดียวเบิกความว่ารถยนต์คันที่เช่าซื้อถ้าให้บุคคลภายนอกเช่าจะได้ค่าเช่าเดือนละ 25,000 บาท รวม 5 เดือน คิดเป็นเงิน125,000 บาท โดยโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดสนับสนุน ทั้งรถยนต์คันที่เช่าซื้อก็ไม่มีป้ายทะเบียน โอกาสที่จะนำรถไปใช้จึงมีอยู่น้อยประกอบกับโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องจึงสูงเกินไปที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายในการใช้รถเดือนละ5,000 บาท รวม 5 เดือน เป็นเงิน 25,000 บาท จึงเป็นจำนวนที่สมควรซึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันจะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์รับผิดชดใช้ค่าซ่อมรถให้แก่จำเลยที่ 1 กับคืนค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 2 ชำระไปแล้วนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษากลับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 25,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์

Share