คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3319/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การแก้ว พ.ศ.2498 มาตรา18 กำหนดให้พนักงานได้รับบำเหน็จและรางวัลตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนดนั้นหมายถึงระเบียบที่คณะรัฐมนตรีจะได้กำหนดให้ใช้กับองค์การแก้ว จำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะ จำเลยจึงไม่อาจนำระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้าง พ.ศ.2502 ซึ่งแก้ไขโดย(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2511 ของกระทรวงการคลังมาใช้บังคับกับพนักงานของจำเลยได้เพราะระเบียบดังกล่าวใช้บังคับกับลูกจ้างของส่วนราชการและข้อบังคับว่าด้วยการจ่ายเงินบำเหน็จของพนักงานจำเลยก็มิได้กำหนดให้ใช้ระเบียบดังกล่าวแก่พนักงานของจำเลย ดังนั้น จะนำระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญ พ.ศ.2502 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2511 ของกระทรวงการคลังมาบังคับใช้ในกรณีที่โจทก์พ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๑,๗๕๐ บาท ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์เป็นเงิน ๑๐,๕๐๐ บาท
จำเลยให้การว่า จำเลยได้จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำจริง โจทก์ออกจากงานเพราะเกษียณอายุเป็นการออกตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ จึงเป็นการออกโดยผลของกฎหมายมิใช่เพราะจำเลยเลิกจ้าง การออกจากการเป็นลูกจ้างเพราะเกษียณอายุเป็นการจ้างที่มีกำหนดเวลาแน่นอน จำเลยได้จ่ายค่าชดเชยและเงินบำเหน็จให้โจทก์แล้วตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การแก้ว พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๘ ประกอบกับระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้าง พ.ศ. ๒๕๐๒ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๑ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยจากจำเลยอีก ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕ ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดพิจารณาโจทก์แถลงรับว่า ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๑,๖๔๕ บาท เมื่อออกจากงานจำเลยได้จ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์รับไปแล้วเป็นเงิน ๓๑,๕๐๐ บาท คู่ความไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การแก้ว พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๘ วรรคท้าย ไม่ปรากฏว่าให้นำระเบียบการเบิกจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้าง พ.ศ. ๒๕๐๒ มาใช้บังคับ โจทก์ออกจากงานเพราะเกษียณอายุถือว่าเป็นการเลิกจ้าง โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ เงินจำนวน ๒๑,๖๓๐ บาท ที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เป็นเงินบำเหน็จ มิใช่เป็นการจ่ายค่าชดเชยรวมอยู่ด้วยคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์เป็นเงิน ๙,๘๗๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่าที่จำเลยอุทธรณ์ว่าพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การแก้ว พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๘ บัญญัติให้พนักงานได้รับบำเหน็จและรางวัลตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนดและต่อมาคณะรัฐมนตรีได้กำหนดระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้าง พ.ศ. ๒๕๐๒ ขึ้นจำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจย่อมนำระเบียบดังกล่าวมาปฏิบัติได้นั้น พิเคราะห์แล้วพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การแก้ว พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๘ บัญญัติว่า”ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการที่ปรึกษาคณะกรรมการผู้อำนวยการและพนักงานอาจได้รับเงินบำเหน็จและรางวัลตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด” เห็นว่า คำว่า “ระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด”ในบทบัญญัติดังกล่าวหมายถึงระเบียบที่คณะรัฐมนตรีจะได้กำหนดให้ใช้กับองค์การแก้วจำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะ ส่วนระเบียบการเบิกจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้าง พ.ศ. ๒๕๐๒ แก้ไขโดย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๑ นั้น เป็นระเบียบของกระทรวงการคลังที่ให้ใช้กับลูกจ้างของส่วนราชการ ไม่เกี่ยวกับพนักงานรัฐวิสาหกิจและเมื่อข้อบังคับว่าด้วยการจ่ายเงินบำเหน็จพนักงานจำเลยมิได้กำหนดให้ใช้ระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้าง พ.ศ. ๒๕๐๒ ซึ่งแก้ไขโดย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๑ ของกระทรวงการคลังแก่พนักงานจำเลยโดยอนุโลม ดังนั้น จะนำระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้างดังกล่าวมาใช้บังคับในกรณีที่โจทก์พ้นจากตำแหน่งหน้าที่เพราะเกษียณอายุหาได้ไม่
พิพากษายืน

Share