แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยว่ากระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ ต่อมาโจทก์ถอนฟ้องและจำเลยขอคืนค่าปรับ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องแต่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้คืนค่าปรับแก่จำเลย กรณีจึงเป็นเรื่องผู้เสียหายใช้อำนาจฟ้องคดีต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 โดยพนักงานอัยการมิได้เป็นคู่ความในคดีด้วย ทั้งกรณีไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติพนักงานอัยการพ.ศ. 2498 มาตรา 11 ที่จะให้พนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่ดำเนินคดีนี้ได้พนักงานอัยการจึงไม่สามารถเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้ และไม่มีสิทธิฎีกาปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดตามเช็คฉบับแรก จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี ปรับจำเลยที่ 2 จำนวน60,000 บาท ความผิดตามเช็คฉบับหลัง จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด8 เดือน ปรับจำเลยที่ 2 จำนวน 20,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด1 ปี 8 เดือน และปรับจำเลยที่ 2 จำนวน 80,000 บาท หากจำเลยที่ 2ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 จำเลยที่ 2ได้ชำระค่าปรับและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนจำเลยทั้งสองฎีกา ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสองไม่คัดค้าน ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้ และให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอคืนค่าปรับที่จำเลยที่ 2 ได้ชำระไว้ต่อศาลโดยอ้างว่าศาลฎีกาได้มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องแล้ว คดีเป็นอันเลิกกันจำเลยที่ 2 จึงพ้นผิดไม่ต้องชำระค่าปรับ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้กระทำเช่นนี้ได้จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้คืนค่าปรับจำนวน 80,000 บาทแก่จำเลยที่ 2 และยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1
พนักงานอัยการจังหวัดเพชรบุรีฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ต่อมาโจทก์ถอนฟ้องและจำเลยขอคืนค่าปรับ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอคืนค่าปรับของจำเลย แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับให้คืนค่าปรับเช่นนี้ กรณีจึงเป็นเรื่องผู้เสียหายใช้อำนาจฟ้องคดีต่อศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 โดยพนักงานอัยการมิได้เป็นคู่ความในคดีด้วย ทั้งกรณีไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. 2498มาตรา 11 ที่จะให้พนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่ดำเนินคดีนี้ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ดังนั้น พนักงานอัยการจังหวัดเพชรบุรีจึงไม่สามารถเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้และไม่มีสิทธิฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาของพนักงานอัยการจังหวัดเพชรบุรี