คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3318/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินมีกำหนดระยะเวลาการจ้าง 5 ปี นับแต่วันที่26 กุมภาพันธ์ 2516 ตามสัญญาจ้างได้ระบุเงื่อนไขไว้ว่า เมื่อจ้างกันครบกำหนด 5 ปีแล้ว จำเลยจะจ้างโจทก์ต่ออีกคราวละ 1 ปี ต่อเมื่อจำเลยได้พิจารณาความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งและประสิทธิภาพการทำงานของโจทก์เป็นที่พอใจแล้ว เมื่อสัญญาจ้างครบกำหนดจำเลยได้ทำสัญญาจ้างโจทก์ต่ออีก 1 ปี โดยระบุเงื่อนไขเพิ่มเติมไว้ว่า หากสิ้นสุดระยะเวลาว่าจ้างตามสัญญานี้แล้ว และมิได้มีการแจ้งให้ท่านทราบเป็นลายลักษณ์อักษรก็ให้ถือว่าการจ้างสิ้นสุดลงตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญานี้ ต่อมาหลังจากสัญญาจ้างฉบับหลังสิ้นสุดลงแล้ว จำเลยหาได้แจ้งแก่โจทก์เป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะต่อสัญญาจ้างให้โจทก์อีกหรือไม่และจำเลยคงให้โจทก์ทำงานในตำแหน่งเดิมและจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ตลอดมาการที่ตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเช่นโจทก์จะต้องผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงานและตรวจสุขภาพทุกปีก็เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในตำแหน่งและประสิทธิภาพการทำงานเท่านั้น จึงหามีผลเป็นการต่อสัญญาจ้างเป็นรายปีไม่ดังนั้นเมื่อสัญญาจ้างฉบับหลังสิ้นสุดลงและจำเลยจ้างโจทก์ต่อมา จึงเป็นการจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอนแต่ยังคงไว้ซึ่งความอย่างเดียวกันกับสัญญาเดิมซึ่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสัญญาเสียเมื่อใดก็ได้โดยการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 581,582 การที่จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจะต่ออายุสัญญาจ้างให้โจทก์คราวละ5 ปี ตามสัญญาจ้างที่ปรับปรุงใหม่ ขอให้โจทก์แจ้งความประสงค์ภายในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2537 หากพ้นกำหนดถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะทำงานกับจำเลยต่อไป และจำเลยจะเลิกจ้างโจทก์นั้นโดยจำเลยบอกกล่าวล่วงหน้าโดยให้ระยะเวลาถึง 11 เดือนแก่โจทก์ในการตัดสินใจ และเป็นสัญญาจ้างใหม่ที่เป็นคุณกว่าเดิมทั้งเป็นผลสืบเนื่องจากการยื่นข้อเท็จจริงของสหภาพแรงงานพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเพื่อให้เกิดความทัดเทียมกันในหมู่พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินด้วยกันและเป็นระเบียบเดียวกันแม้โจทก์จะไม่เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานดังกล่าวและมิได้ลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ไม่ยอมผูกพันตามสัญญาจ้างที่ปรับปรุงใหม่ดังกล่าวกรณีเช่นนี้จำเลยก็ย่อมมีเหตุผลสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ ไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของจำเลย ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2516 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 78,000 บาท เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2537 จำเลยมีคำสั่งยืนยันเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุผลว่าหากโจทก์ไม่ยอมต่อสัญญาจ้างใหม่กำหนด 5 ปี จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่26 กุมภาพันธ์ 2537 โดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิด เป็นการกระทำผิดกฎหมาย ทำให้พนักงานเกิดความกลัวและได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจเมื่อโจทก์ไม่ยอมลงลายมือชื่อต่อสัญญาจ้างใหม่จำเลยจึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์อันเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายกล่าวคือ ขณะถูกเลิกจ้างโจทก์อายุ 50 ปี ยังสามารถทำงานให้จำเลยจนครบเกษียณอายุ 60 ปี ได้อีก10 ปี ทำให้โจทก์ขาดรายได้คือ ค่าจ้างและเบี้ยเลี้ยงต่าง ๆประจำทุกเดือน และในทุกสิ้นปีโจทก์จะต้องได้รับการพิจารณาขึ้นขั้นและปรับเปลี่ยนเงินเดือนกับเบี้ยเลี้ยงให้สูงขึ้น การเลิกจ้างครั้งนี้จึงทำให้โจทก์เสียสิทธิต่าง ๆ ไป หากโจทก์ยังคงทำงานอยู่กับจำเลยภายใน 10 ปี รวมค่าเสียหายทั้งสิ้นเป็นเงิน21,700,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามตำแหน่งและหน้าที่เดิมโดยให้จำเลยจ่ายเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันรับโจทก์กลับเข้าทำงาน เงินโบนัสประจำปี 2538และ 2539 รวมทั้งสิทธิการใช้บัตรโดยสารย้อนหลังไป 3 ปี จำนวน2,280,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่รับโจทก์กลับเข้าทำงาน ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน 21,700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าเสียหายจากการไม่ได้รับสิทธิใช้บัตรโดยสารจำนวน 12,288,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยเห็นการว่า โจทก์เคยเป็นลูกจ้างของจำเลยในตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2516และได้รับการต่ออายุสัญญาจ้างทุกปีต่อเนื่องมาจนถึงวันที่26 กุมภาพันธ์ 2537 ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 30,010 บาท ค่าประจำตำแหน่งเดือนละ 6,000 บาท ส่วนเงินได้อื่น เช่น ค่าเบี้ยเลี้ยงเงินส่วนแบ่งจากการขายสินค้า เป็นต้นมีจำนวนไม่แน่นอนไม่เป็นค่าจ้าง โจทก์ทำสัญญาจ้างกับจำเลยฉบับแรกเมื่อวันที่20 กุมภาพันธ์ 2516 สัญญาระบุว่าโจทก์ปฏิบัติงานกับจำเลยในตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินมีกำหนดระยะเวลา 5 ปีเริ่มแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2516 สิ้นสุดวันที่ 25 กุมภาพันธ์2521 เมื่อครบกำหนดแล้ว จำเลยอาจต่ออายุสัญญาให้โจทก์คราวละ1 ปี โดยพิจารณาจากความสามารถในการปฏิบัติงานตามความเหมาะสมในตำแหน่งหน้าที่และเหตุผลอื่น ๆ และเมื่อครบกำหนดเวลา 5 ปีแล้ว จำเลยได้ต่อสัญญาจ้างให้โจทก์ทุกปีจึงเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดแน่นอน จนกระทั่งปี 2533 จำเลยได้เริ่มเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาจ้างพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินใหม่ให้เป็นคุณแก่พนักงานยิ่งขึ้น โดยแทนที่ครบอายุ 5 ปีแล้วจะต่ออายุสัญญาจ้างให้คราวละ 1 ปี เป็นต่ออายุสัญญาจ้างให้คราวละ5 ปี แต่ไม่เกินอายุ 60 ปี สำหรับพนักงานต้อนรับชายและไม่เกิน45 ปีสำหรับพนักงานต้อนรับหญิง จำเลยจึงได้เรียกโจทก์กับพนักงานต้อนรับทุกคนมาทำบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมสัญญาจ้างตามเงื่อนไขที่ตกลงกันใหม่ ซึ่งพนักงานเกือบทั้งหมดยินยอมลงนามต่อสัญญาดังกล่าว ยกเว้นโจทก์กับนายลิขิต เข็มแข็ง เท่านั้น จำเลยจึงมีหนังสือฉบับลงวันที่ 12 มีนาคม 2536 ไปถึงโจทก์ให้มาทำสัญญาใหม่ภายในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2537 โดยแจ้งด้วยว่า หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวโจทก์ยังไม่มาต่ออายุสัญญาถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะทำงานกับจำเลยอีกต่อไป และขอเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่26 กุมภาพันธ์ 2537 เป็นต้นไป ปรากฏว่าเมื่อครบกำหนดเวลาดังกล่าว โจทก์ไม่ยอมมาทำสัญญากับจำเลย จำเลยจึงมีหนังสือฉบับลงวันที่ 11 มีนาคม 2537 เลิกจ้างโจทก์ อันเป็นการเลิกจ้างเนื่องจากสัญญาจ้างสิ้นสุดลงตามระยะเวลาที่ตกลงกันอีกทั้งโจทก์ไม่ประสงค์ทำงานกับจำเลยอีกต่อไป จึงไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ที่จำเลยต้องกำหนดอายุสัญญาจ้างพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินแตกต่างไปจากพนักงานทั่วไปเนื่องจากจำเลยมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศเป็นหลักต้องแข่งขันด้านให้บริการแก่ผู้โดยสารกับสายการบินนานาชาติพนักงานต้อนรับบนเครื่องบนต้องผ่านการทดสอบความสามารถคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัวเกี่ยวกับภาษาบุคลิกภาพ สุขภาพและความเหมาะสมอื่น ๆ การต่ออายุสัญญาจ้างดังกล่าวไม่ทำให้พนักงานตอบรับเกิดความกลัวหรือได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจดังที่โจทก์กล่าวอ้างแต่อย่างใด การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายเพราะจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อครบกำหนดเวลาตามสัญญาจ้างและโจทก์ไม่ประสงค์จะทำงานกับจำเลยอีกต่อไป อย่างไรก็ดีการที่โจทก์คำนวณค่าเสียหายโดยอาศัยระยะเวลาการทำงานที่เหลืออยู่ซึ่งไม่แน่นอนว่าโจทก์จะทำงานให้แก่จำเลยหรือจะได้รับการต่ออายุสัญญาจ้างจนกระทั่งถึงอายุ 60 ปีหรือไม่ จึงเป็นค่าเสียหายที่โจทก์กำหนดขึ้นเอาเอง สำหรับค่าเสียหายเรื่องที่โจทก์ได้รับความอับอายกระทบกระเทือนทางจิตใจเนื่องจากการถูกเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้นก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้โจทก์เรียกร้องได้ ส่วนเรื่องค่าเสียหายเกี่ยวกับค่าบัตรโดยสารเครื่องบินตามระเบียบของจำเลยถือเป็นการให้มิใช่เป็นสิทธิที่จะต้องได้รับ จำเลยสงวนสิทธิที่จะยกเลิกเรียกคืน หรือระงับการใช้บัตรโดยสารที่ให้แก่พนักงานและครอบครัวเป็นการชั่วคราวหรือตลอดไปเมื่อใดก็ได้ โจทก์ไม่มีสิทธิคำนวณค่าบัตรโดยสารเป็นค่าเสียหายได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.6 กำหนดระยะเวลาการจ้างไว้ 5 ปี โดยมีเงื่อนไขว่าครบกำหนดแล้วจำเลยจะต่อสัญญาจ้างให้ปีต่อปี เมื่อครบกำหนด5 ปีแล้วจำเลยได้ต่อสัญญาจ้างให้โจทก์มีกำหนด 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2521 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2522 ตามเอกสารหมาย จ.16 โดยมีเงื่อนไขระบุไว้ในสัญญาข้อ 4 ว่า “หากสิ้นสุดระยะเวลาว่าจ้างตามสัญญานี้แล้ว และมิได้มีการแจ้งให้ท่านทราบเป็นลายลักษณ์อักษร ก็ให้ถือว่าการจ้างสิ้นสุดลงตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในหนังสือนี้” ถือได้ว่าเอกสารหมาย จ.16 เป็นสัญญาจ้างฉบับสุดท้ายที่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2522เมื่อครบกำหนดจำเลยมิได้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้โจทก์มาต่อสัญญาจ้างกันใหม่ กลับยินยอมให้โจทก์ทำงานกับจำเลยต่อไปจนกระทั่งปี 2536 จำเลยจึงมีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.7 แจ้งให้โจทก์มาต่อสัญญาจ้างกันใหม่เป็นคราวละ 5 ปี เมื่อโจทก์ปฏิเสธไม่ยอมต่อสัญญาจ้าง จำเลยจึงมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.8 พฤติการณ์ที่จำเลยยินยอมให้โจทก์ทำงานกับจำเลยต่อมาเป็นการจ้างที่มิได้กำหนดระยะเวลากันไว้ว่าจะจ้างกันนานเท่าใด ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาโดยบอกกล่าวล่วงหน้าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 581, 582 จึงฟังได้ว่านับแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2522 เป็นต้นไป เป็นการจ้างที่มิได้กำหนดระยะเวลาการจ้างสิ้นสุดแน่นอน โจทก์จึงสามารถทำงานให้แก่จำเลยจนครบเกษียณอายุ 60 ปีเหมือนเช่นพนักงานทั่วไปของจำเลย เงื่อนไขข้อตกลงใหม่ไม่เป็นครูแก่โจทก์จึงไม่ผูกมัดโจทก์ โจทก์มีสิทธิที่จะไม่ยอมปฏิบัติตามได้ การที่จำเลยยกเอาเหตุดังกล่าวมาเลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมสมควรให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างเดิมโดยโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายและเงินโบนัสจากจำเลยในระหว่างถูกเลิกจ้างและเพื่อความเป็นธรรมอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522ให้โจทก์คืนค่าชดเชยและเงินจำนวนต่าง ๆ ที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ไปในขณะเลิกจ้างพิพากษาให้โจทก์คืนเงินจำนวน 1,050,625 บาท แก่จำเลยภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษา แล้วให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานทันทีในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างรวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เท่าเดิม โดยให้นับอายุงานต่อเนื่องยกเว้นช่วงระหว่างวันที่เลิกจ้างไปจนถึงวันที่รับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิม คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์2516 มีกำหนดระยะเวลาจ้าง 5 ปี โดยมีเงื่อนไขต่อสัญญาจ้างได้คราวละ 1 ปี ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.6 เมื่อสัญญาจ้างครบกำหนด 5 ปีในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2521 จำเลยได้ทำสัญญาจ้างโจทก์ต่ออีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2521ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2522 ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.16หลังจากนั้นจำเลยไม่เคยเรียกโจทก์มาทำสัญญาจ้างต่ออีกเลยแต่ให้โจทก์คงทำงานในตำแหน่งเดิมตลอดมา ต่อมาปี 2533 จำเลยปรับปรุงสัญญาจ้างใหม่เป็นจ้างกันมีกำหนดระยะเวลา 5 ปี และจ้างต่ออีกคราวละ 5 ปี จนกว่าพนักงานผู้นั้นจะเกษียณอายุ อันเป็นผลสืบเนื่องจากการยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่26 กุมภาพันธ์ 2537 ตามหนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย จ.8 เนื่องจากโจทก์ไม่ยอมทำสัญญาจ้างกับจำเลยตามแบบสัญญาจ้างที่ปรับปรุงใหม่เอกสารหมาย ล.6 จำเลยได้จ่ายค่าชดเชยค่าทำงานในวันหยุดและเงินบำเหน็จแก่โจทก์รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,050,625 บาทแล้ววินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาว่าการเลิกจ้างเป็นธรรมหรือไม่ว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินมีกำหนดระยะเวลาการจ้าง 5 ปี นับแต่วันที่26 กุมภาพันธ์ 2516 ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.6ซึ่งตามสัญญาดังกล่าวข้อ 3 ได้ระบุเงื่อนไขไว้ว่า เมื่อจ้างกันครบกำหนด 5 ปี แล้ว จำเลยจะจ้างโจทก์ต่ออีกคราวละ 1 ปีต่อเมื่อจำเลยได้พิจารณาความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งและประสิทธิภาพการทำงานของโจทก์เป็นที่พอใจแล้ว เมื่อสัญญาจ้างครบกำหนดวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2521 จำเลยได้ทำสัญญาจ้างโจทก์ต่ออีก 1 ปีตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2521 ถึงวันที่28 กุมภาพันธ์ 2522 ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.16 โดยระบุเงื่อนไขเพิ่มเติมไว้ในสัญญาข้อ 4 ว่า “หากสิ้นสุดระยะเวลาว่าจ้างตามสัญญานี้แล้ว และมิได้มีการแจ้งให้ท่านทราบเป็นลายลักษณ์อักษรก็ให้ถือว่าการจ้างสิ้นสุดลงตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญานี้”ได้ความว่าหลังจากสัญญาจ้างฉบับหลังสิ้นสุดลงแล้ว จำเลยหาได้แจ้งแก่โจทก์เป็นลายลักษณ์อักษรว่า จะต่อสัญญาจ้างให้โจทก์อีกหรือไม่จำเลยคงให้โจทก์ทำงานในตำแหน่งเดิมและจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ตลอดมา กรณีเช่นนี้แม้ตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเช่นโจทก์จะต้องผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงานและตรวจสุขภาพทุกปีก็เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในตำแหน่งและประสิทธิภาพการทำงานเท่านั้น หามีผลเป็นการต่อสัญญาจ้างเป็นรายปีไม่ดังนั้นนับแต่สัญญาจ้างฉบับหลังสิ้นสุดลง การที่จำเลยจ้างโจทก์ต่อมาจึงเป็นการจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน แต่ยังคงไว้ซึ่งความอย่างเดียวกันกับสัญญาเดิม ซึ่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสัญญาเสียเมื่อใดก็ได้โดยการบอกกล่าวล่วงหน้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 581, 582 หาใช่จำเลยต้องจ้างโจทก์ไปจนครบเกษียณอายุไม่ ดังนั้น การที่จำเลยมีหนังสือฉบับลงวันที่ 12 มีนาคม 2536 ตามเอกสารหมาย จ.7แจ้งให้โจทก์ทราบว่าจะต่ออายุสัญญาจ้างให้โจทก์คราวละ 5 ปี ตามสัญญาจ้างที่ปรับปรุงใหม่ ขอให้โจทก์แจ้งความประสงค์ภายในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2537 หากพ้นกำหนดถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะทำงานกับจำเลยต่อไป จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2537 เป็นต้นไปนั้น เป็นการบอกกล่าวล้วงหน้าโดยให้ระยะเวลาถึง 11 เดือนแก่โจทก์ในการตัดสินใจและเป็นสัญญาจ้างที่เป็นคุณกว่าเดิมทั้งเป็นผลสืบเนื่องจากการยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเพื่อให้เกิดความทัดเทียมกันในหมู่พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินด้วยกันและเป็นระเบียบเดียวกัน เมื่อโจทก์ไม่ยอมผูกพันตามสัญญาจ้างที่ปรับปรุงใหม่ดังกล่าวเพียงได้ความว่าโจทก์ไม่เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน และมิได้ลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องเท่านั้นกรณีเช่นนี้จำเลยย่อมมีเหตุผลสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ ไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ศาลจึงไม่อาจบังคับให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือกำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นข้ออื่นและอุทธรณ์ของโจทก์อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share