แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นบริษัทรับจ้างเฝ้ายามตามสถานที่ต่าง ๆ โจทก์เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยลูกจ้างของจำเลยได้รับคำสั่งให้ไปอยู่เวรที่โรงแรม ขณะอยู่เวรโจทก์ละทิ้งหน้าที่ไปเพราะเหตุน้อยใจที่ถูกผู้จัดการรักษาความปลอดภัยของโรงแรมต่อว่านั้น แม้จะถือว่าเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้างและเป็นการบกพร่องต่อหน้าที่ก็ตาม แต่พฤติการณ์ดังกล่าวก็มิใช่เป็นกรณีที่ร้ายแรง โดยนายจ้างไม่จำต้องตักเตือน เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุนี้ โดยไม่ตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือก่อนกรณีจึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำ ทำหน้าที่พนักงานรักษาความปลอดภัย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นบริษัทรับจ้างเฝ้ายามตามสถานที่ต่าง ๆ โจทก์ละทิ้งหน้าที่ขาดงานติดต่อกันเกินกว่า ๓ วัน จำเลยจึงบอกเลิกจ้างโจทก์
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ไปอยู่เวรที่โรงแรม ขณะอยู่เวรได้ถูกผู้จัดการรักษาความปลอดภัยของโรงแรมต่อว่า โจทก์น้อยใจได้ละทิ้งหน้าที่ไป ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่าการที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายมาก ถือว่าโจทก์บกพร่องต่อหน้าที่และขาดสมรรถภาพในการทำงานอย่างร้ายแรง ซึ่งจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องตักเตือนก่อนนั้นเห็นว่าการที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่ไปเพราะเหตุน้อยใจที่ถูกผู้จัดการรักษาความปลอดภัยของโรงแรมต่อว่านั้น แม้จะถือว่าเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้างและเป็นการบกพร่องต่อหน้าที่ก็ตาม แต่พฤติการณ์ดังกล่าวก็มิใช่เป็นกรณีที่ร้ายแรงโดยนายจ้างไม่จำต้องตักเตือน เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุดังกล่าวโดยไม่ตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือก่อน กรณีจึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ ๔๗(๓)
พิพากษายืน