แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลและคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดเป็นจำเลยที่ 2 ที่ 3 ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ที่ 2 ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองให้คณะกรรมการดังกล่าวมีสภาพเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดา จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงไม่อยู่ในฐานะที่ถูกฟ้องร้องได้ และฟ้องโจทก์แปลความไม่ได้ว่าโจทก์ฟ้องตัวบุคคลที่ประกอบเป็นคณะกรรมการเพราะโจทก์มิได้ระบุชื่อเป็นรายบุคคล โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ได้
จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของที่นาพิพาทเป็นผู้บอกเลิกการเช่าแก่โจทก์ เมื่อโจทก์เห็นว่าการบอกเลิกการเช่าไม่ชอบ จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้โต้แย้งสิทธิเกี่ยวกับการเช่าที่นาพิพาทกับโจทก์ โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ให้โจทก์เช่าที่นาพิพาทต่อไปได้ ทั้งนี้โดยอาศัยสิทธิตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 57ซึ่งบัญญัติให้โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้ในกรณีที่โจทก์ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัด.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นคณะกรรมการควบคุมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๒๔ จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าของที่นาพิพาทได้บอกเลิกการเช่าที่ดินต่อโจทก์อ้างว่าโจทก์มิได้ชำระค่าเช่านาเกินกว่า ๒ ปี โดยจำเลยที่ ๑ มิได้ส่งสำเนาให้แก่ประธานคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแต่ประการใดจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายจำเลยที่ ๒ และที่๓ ได้มีคำวินิจฉัยให้โจทก์หมดสิทธิการเช่าที่นา คำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ปฏิบัติตามสัญญาการเช่าที่โจทก์ทำไว้กับเจ้าของที่ดินเดิม เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิการเช่าที่นาพิพาท
จำเลยที่ ๑ ให้การและฟ้องแย้งว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ไม่มีสภาพบุคคล โจทก์จึงไม่อาจฟ้องบังคับให้เพิกถอนคำวินิจฉัยได้ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ออกจากที่นาพิพาทและให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายเดือนละ ๑๐,๐๐๐ บาทแก่จำเลยที่ ๑
จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง คดีโจทก์ขาดอายุความเพราะฟ้องเกิน ๓๐ วัน นับแต่วันที่โจทก์ทราบคำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๓ การบอกเลิกการเช่าของจำเลยที่ ๑และคำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ มีสภาพเป็นบุคคลประกอบด้วยคณะกรรมการโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่น พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ และวินิจฉัยปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ เป็นคณะกรรมการควบคุมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๒๔ มิได้กล่าวมาโดยชัดเจนว่าเป็นคณะกรรมการควบคุมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตำบลอะไร จังหวัดอะไร เป็นแต่กล่าวมาลอย ๆทั้งการฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยของจเลยที่ ๒ ที่ ๓ ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๒๔ ซึ่งตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเพียงบัญญัติว่า คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบล (คชก.ตำบล) ก็ดี คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัด (คชก.จังหวัด) ก็ดี ประกอบด้วยบุคคลใดบ้างไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองให้คณะกรรมการดังกล่าวมีสภาพเป็นนิติบุคคลหรือเป็นบุคคลธรรมดาแต่อย่างใด จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ จึงไม่เป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาอันจะอยู่ในฐานะที่ถูกฟ้องร้องได้ และฟ้องโจทก์แปลความไม่ได้ว่า โจทก์ฟ้องตัวบุคคลที่ประกอบเป็นคณะกรรมการเพราะโจทก์มิได้ระบุชื่อเป็นรายบุคคล โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ไม่ได้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชอบแล้ว ส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ นั้นเห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๒๔ มาตรา ๕๗ ซึ่งบัญญัติให้โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้ในกรณีที่โจทก์ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัด จำเลยที่ ๑ เจ้าของที่พิพาทเป็นผู้บอกเลิกการเช่านาแก่โจทก์ โจทก์เห็นว่า การบอกเลิกการเช่าไม่ชอบ จำเลยที่ ๑จึงเป็นผู้โต้แย้งสิทธิเกี่ยวกับการเช่าที่นาพิพาทกับโจทก์โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ ๑ ขอให้บังคับให้จำเลยที่ ๑ให้โจทก์ได้เช่านาพิพาทต่อไปตามฟ้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.