คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3313/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของกรมศุลกากรจำเลยที่ 1 ได้ยึดผ้าของโจทก์โดยอ้างว่า เป็นผ้าที่ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากตรวจสอบหลักฐานแล้วเห็นว่าผ้าที่ถูกยึดไม่ตรงกับผ้าที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้า การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการยึดโดยมีเหตุผลอันควรสงสัยว่าผ้าที่ยึดนั้นได้ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรดังนี้ กรณีไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ยึดผ้าของโจทก์ไว้สอบสวนเป็นเวลาถึง 5เดือนเศษ เพราะไม่อาจแยกพิจารณาเฉพาะผ้าของโจทก์ก่อนผ้ารายการอื่นได้เนื่องจากยึดมาจากแหล่งเดียวกัน ต้องส่งผ้าที่ยึดไปกองวิเคราะห์สินค้าทำการวิเคราะห์ ส่งเจ้าหน้าที่ไปสอบถามเจ้าของโรงงานที่ผลิตและฟอกย้อม สอบสวนชิปปิ้ง ทำหนังสือไปถึงกองประเมินอากรกับกองตรวจสินค้าขาเข้าแล้ว และเสนอความเห็นไปยังกรมศุลกากรจำเลยที่ 1 พร้อมกันทั้ง 7 รายการ เช่นนี้เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนไม่มีการกลั่นแกล้งโจทก์ ทั้งโจทก์เพิ่งนำชิปปิ้งมาให้สอบสวนหลังจากการยึดผ้าประมาณ 3-4 เดือน โจทก์ไม่มีหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่าจำเลยใช้เวลาสอบสวนเกี่ยวกับผ้าพิพาทนานเกินสมควรหรือจำเลยกลั่นแกล้งโจทก์ ประกอบกับผ้ามิใช่ทรัพย์สินที่เสื่อมสลายได้ง่าย ไม่มีเหตุจำเป็นต้องพิจารณาสอบสวนโดยเร่งรัดเป็นพิเศษ ในที่สุดจำเลยคืนผ้าให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นกรมสังกัดกระทรวงการคลังจำเลยที่ 2ถึง 4 เป็นเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2524จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ 1 ให้ทำการตรวจค้นบริษัทศรีสยามภัณฑ์ จำกัดจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ร่วมกับพวกยึดสินค้ารวม 7 รายการที่สงสัยว่าจะเป็นสินค้าที่หลบหนีภาษีศุลกากรนำเข้ามาในราชอาณาจักรมีสินค้ารายการที่ 2 คือผ้าเส้นใยประดิษฐ์ 100% ซึ่งโจทก์ฝากให้บริษัทศรีสยามภัณฑ์ จำกัดขายจำนวน 475 ม้วนยาว 24,837 หลาขายในราคาหลาละ 45 บาทในระหว่างตรวจค้นนายไพโรจน์ วชิโรพรอนันต์กรรมการโจทก์ ได้นำหลักฐานการนำสินค้ารายการที่ 2 ดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรไทยเสียภาษีอากรถูกต้องแสดงต่อจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 แต่จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ยังคงยืนยันยึดผ้าดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นผ้าที่ลักลอบนำเข้ามาโจทก์จำต้องให้จำเลยกับพวกยึดผ้าดังกล่าวไปเก็บไว้ที่ทำการของจำเลยที่ 1 ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 1 ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าผ้าที่ถูกยึดไปได้นำเข้ามาโดยชอบด้วยกฎหมายจึงคืนผ้าให้โจทก์ 475 ม้วนเป็นเวลาถึง 5 เดือนเศษนับแต่วันถูกยึดผ้าไปเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายหากจำเลยไม่ยึดผ้าของโจทก์ไปโจทก์จะขายผ้าได้เป็นเงิน 1,117,665 บาทโจทก์ขอคิดค่าเสียหายเท่ากับดอกเบี้ยที่โจทก์ต้องเสียให้กับธนาคารขอให้พิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน390,944 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสี่ให้การว่าจำเลยที่ 4 ได้รับแจ้งจากสายสืบว่าจะมีผู้ลักลอบนำผ้าจากต่างประเทศมาเก็บไว้ที่บริษัทศรีสยามภัณฑ์ จำกัดจำเลยที่ 4 จึงขออนุมัติจากจำเลยที่ 2 เข้าตรวจค้นบริษัทดังกล่าวได้ร่วมกันตรวจค้นกับจำเลยที่ 3 กับพวกและมีเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีหมายค้นด้วยยึดสินค้าอันมีเหตุอันควรสงสัยว่าหลบหนีศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร 7 รายการรายการที่ 2 เป็นผ้า 100% โพลีเอสเตอร์จอร์เจียสีต่าง ๆ หน้ากว้าง 36 นิ้วตราซัมซุงเต็กรูปผู้หญิงจำนวน 505 ม้วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 กับพวกได้เปรียบเทียบผ้าของกลางและใบขนสินค้าที่โจทก์นำมาแสดงแล้วเห็นว่าเป็นผ้าคนละชนิดกันและมีจำนวนต่างกันจึงได้ยึดผ้าดังกล่าวไว้เพื่อสอบสวนให้แน่ชัดว่าผ้าของกลางเป็นผ้าตามใบขนสินค้าที่โจทก์กล่าวอ้างหรือไม่จำเลยไม่ได้กลั่นแกล้งโจทก์ เมื่อตรวจพิสูจน์แล้วได้คืนผ้าของกลางแก่โจทก์ทันทีจำเลยไม่ได้กระทำละเมิดโจทก์ไม่เสียหาย
ในระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นจำเลยที่ 4 ถึงแก่กรรมโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 4 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นตามที่คู่ความรับกันว่าเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2524 จำเลยที่ 3 ที่ 4 กับพวกตรวจค้นบริษัทศรีสยามภัณฑ์ จำกัดแล้วยึดผ้าไป 7 รายการโดยอ้างว่าเป็นผ้าที่ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายผ้าตามรายการที่ 2 นั้นเป็นของโจทก์ฝากให้บริษัทดังกล่าวขายให้แต่ถูกจำเลยยึดไปด้วยต่อมาเมื่อจำเลยทำการสอบสวนแล้วเห็นว่าผ้าตามรายการที่ 2 ของโจทก์นั้นเป็นผ้าที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยชอบด้วยกฎหมายจึงสั่งคืนผ้าของกลางให้โจทก์รับไปเมื่อวันที่19 สิงหาคม 2524 ซึ่งเป็นเวลา 5 เดือนเศษหลังจากที่ยึดไปปัญหามีว่าจำเลยทั้งสี่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยยึดผ้าของโจทก์ไปโดยมิชอบจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์นั้นเห็นว่าโจทก์นำสืบว่าโจทก์นำหลักฐานใบขนสินค้าขาเข้าใบกำกับสินค้าและใบเสร็จรับเงินค่าเสียภาษีอากรไปแสดงต่อจำเลยที่ 3 ที่4 ตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.3 แล้วแต่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ก็ยังยึดผ้าตามรายการที่ 2 ซึ่งเป็นของโจทก์ไปจำเลยที่ 3 ที่ 4เบิกความว่าได้ตรวจสอบหลักฐานดังกล่าวแล้วเห็นว่าผ้าที่ถูกยึดไม่ตรงกับผ้าที่สำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้านายไพโรจน์วชิโรพรอนันต์ผู้จัดการโจทก์ซึ่งเป็นผู้นำหลักฐานมาแสดงก็เบิกความรับว่าเป็นเช่นนั้นจริง ดังนั้นการยึดผ้าของกลางของโจทก์ซึ่งกระทำโดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงเป็นการยึดโดยมีเหตุผลอันควรสงสัยว่าผ้าที่ยึดนั้นได้ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรฉะนั้นการยึดผ้าของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ปัญหาต่อไปตามฎีกาของโจทก์ก็คือการที่จำเลยทำการยึดผ้าของโจทก์ไว้ทำการสอบสวนเป็นเวลาถึง 5 เดือนเศษจึงคืนให้โจทก์นั้นเป็นเวลานานเกินสมควรและเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่นั้นจำเลยนำสืบว่านายวรศักดิ์พวงเดชนิติกรของจำเลยที่ 1 เป็นผู้สอบสวนกรณีนี้และเสนอความเห็นให้จำเลยที่ 1 สั่งตามคำเบิกความของนายวรศักดิ์พยานจำเลยได้ความว่าได้สอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผ้าทั้ง 7 รายการที่ยึดมาพร้อมกันไม่อาจแยกพิจารณาเฉพาะผ้ารายการที่ 2 ของโจทก์ก่อนรายการอื่นได้เพราะยึดมาจากแหล่งเดียวกันต้องส่งของกลางไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือกองวิเคราะห์สินค้าทำการวิเคราะห์เสียก่อนเพื่อให้ทราบว่าผ้าตามใบขนที่อ้างและตามของกลางนั้นมีลักษณะเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไรทั้งต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปสอบถามเจ้าของโรงงานที่ผลิตและฟอกย้อมด้วย นอกจากนี้นายวรศักดิ์ยังให้นายไพโรจน์นำชิปปิ้งมาสอบด้วยปรากฏตามคำให้การของชิปปิ้งทั้งสองเอกสารหมาย ล.19 และ ล.20 ต่อมาต้องทำหนังสือไปถึงกองประเมินอากรและกองตรวจสินค้าขาเข้าเพื่อสอบถามเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของชิปปิ้งสำหรับสินค้ารายนี้เมื่อได้ทำการตรวจสอบผ้าทั้งเจ็ดรายการแล้วนายวรศักดิ์ได้เสนอความเห็นไปยังจำเลยที่ 1 พร้อมกันทั้งเจ็ดรายการโดยขอให้ปล่อยรายการที่ 2 ที่ 3และที่ 7 รายการอื่นให้ยึดไว้จำเลยที่ 1 ก็เห็นด้วยจำเลยที่ 1ได้สั่งคืนผ้ารายการที่ 2 ให้โจทก์การพิจารณาในเรื่องยึดและคืนของกลางทั้งเจ็ดรายการนี้ได้ดำเนินการตามขั้นตอนไม่มีการกลั่นแกล้งโจทก์อย่างไรเหตุที่คืนผ้าของกลางรายการที่ 2ช้าไปเนื่องจากโจทก์ไม่นำชิปปิ้งมาให้ทำการสอบสวนเพิ่งนำมาให้สอบสวนหลังจากการจับกุมผ้าของกลางประมาณ 3-4 เดือนคำเบิกความของนายวรศักดิ์ดังกล่าวมีพยานเอกสารสนับสนุนและสมเหตุผลน่าเชื่อถือ โจทก์ไม่มีหลักฐานมาแสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยใช้เวลาสอบสวนเกี่ยวกับผ้าของกลางรายนี้นานเกินสมควรหรือกลั่นแกล้งโจทก์อย่างไรผ้าของกลางก็มิใช่ทรัพย์ที่เสื่อมสลายได้ง่ายซึ่งจำเป็นที่จะต้องพิจารณาสอบสวนโดยเร่งรัดเป็นพิเศษแต่อย่างใดเมื่อในที่สุดจำเลยคืนผ้าของกลางให้โจทก์ก็ปรากฏว่าโจทก์ได้รับผ้าของกลางคืนในสภาพเรียบร้อยจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.

Share