คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3312/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ให้ รับผิดในฐานะที่เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์โดยสารอันเป็นรถที่ก่อให้เกิดความเสียหายครั้งนี้แม้ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของ ย.ได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวของ ย.และย. กับห้างหุ้นส่วนจำกัดศ. เป็นผู้เอาประกันภัยค้ำจุนไว้แก่จำเลยที่ 3 แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันดังกล่าวในฐานะอะไรของ ย.กับห้างหุ้นส่วนจำกัดศ. และมีนิติสัมพันธ์กันอย่างไรกับบุคคลทั้งสองนั้น อัน เป็นเหตุให้ ย. กับห้างหุ้นส่วนจำกัดศ. ต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3ผู้รับประกันภัยค้ำจุนจะใช้ค่าสินไหมทดแทนก็ต่อเมื่อ ย.กับห้างหุ้นส่วนจำกัด ศ. ต้องรับผิด ในเมื่อตามฟ้องไม่ปรากฏว่าย.กับห้างหุ้นส่วนจำกัดศ. จะต้องรับผิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน 1จ.-8686 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน ร.บ.-00002 ของจำเลยที่ 2 และเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ร.บ.-00002 ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1ขับรถยนต์คันดังกล่าวในทางการจ้างของจำเลยที่ 2 โดยประมาทชนรถยนต์โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์คันที่เสียหาย จำเลยที่ 2 ไม่ใช่นายจ้างของจำเลยที่ 1 และไม่ใช่เจ้าของรถยนต์ เพราะได้ขายรถยนต์คันดังกล่าวให้ผู้อื่นไปแล้วจึงไม่ต้องรับผิด และจำเลยที่ 3 จะรับผิดก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดต่อโจทก์เท่านั้น และต่อสู้คดีประการอื่นอีก ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนมาแล้วว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของนางสาวยุพดี นางสาวยุพดีและห้างหุ้นส่วนจำกัดศุภชัยทัวร์เป็นผู้เอารถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ร.บ.-00002 ไปประกันภัยค้ำจุนไว้แก่จำเลยที่ 3 ในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้ขับรถไปในทางการที่จ้างของนางสาวยุพดีและห้างหุ้นส่วนจำกัดศุภชัยทัวร์
ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 3 ในปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยซึ่งจะต้องรับผิดต่อโจทก์เท่านั้น โจทก์มิได้บรรยายฟ้องหรือนำสืบให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 มีนิติสัมพันธ์กับผู้เอาประกันภัยคือนางสาวยุพดีอย่างไร และจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับนางสาวยุพดีอย่างไรแล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิด เสียก่อนโดยเห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ให้รับผิดในฐานะที่เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน ร.บ.-00002อันเป็นรถที่ก่อให้เกิดความเสียหายครั้งนี้ ถึงแม้ตามทางพิจารณาจะได้ความว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของนางสาวยุพดีได้ขับรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน ร.บ.-00002 ของนางสาวยุพดีและนางสาวยุพดีกับห้างหุ้นส่วนจำกัดศุภชัยทัวร์เป็นผู้เอาประกันภัยค้ำจุนไว้แก่จำเลยที่ 3 ก็ตาม แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันดังกล่าวในฐานะอะไรของนางสาวยุพดีกับห้างหุ้นส่วนจำกัดศุภชัยทัวร์ ผู้เอาประกันและมีนิติสัมพันธ์กันอย่างไรกับบุคคลทั้งสองนั้นอันจะเป็นเหตุให้นางสาวยุพดีกับห้างหุ้นส่วนจำกัดศุภชัยทัวร์ต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนจะใช้ค่าสินไหมทดแทนก็ต่อเมื่อนางสาวยุพดีกับห้างหุ้นส่วนจำกัดศุภชัยทัวร์ต้องรับผิด ในเมื่อตามฟ้องไม่ปรากฏว่านางสาวยุพดีกับห้างหุ้นส่วนจำกัดศุภชัยทัวร์จะต้องรับผิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย ฎีกาจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังขึ้น เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ดังกล่าวแล้ว ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้ออื่นต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share