คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3309/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คืนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันใช้จำเลยที่ 1 ซึ่งมิใช่เจ้าพนักงานตำรวจให้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ เพื่อเป็นเครื่องมือให้ไปเรียกเก็บเงินจากบรรดาคนขับรถยนต์บรรทุกที่แล่นผ่านไปมาไม่เลือกว่าคนขับรถนั้นจะได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1เข้าไปพูดกับคนขับรถว่า “ตามธรรมเนียม” คนขับรถนั้นแม้มิได้ กระทำความผิดก็ต้องจำใจจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 ด้วยความ เกรงกลัวต่ออำนาจในการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ การกระทำของ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ดังกล่าวเป็นการร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจเพื่อให้คนขับรถยนต์บรรทุกมอบเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพวกของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 แล้วและหากรถยนต์บรรทุกคันใดมีการกระทำที่เป็นความผิดต่อกฎหมายถ้าจำเลยที่ 1 เรียกเอาเงินจากคนขับรถได้แล้ว จำเลยที่ 2ถึงที่ 4 ก็จะไม่ทำการจับกุมการกระทำของจำเลยที่ 2 ถึง ที่ 4 ดังกล่าวย่อมเป็นการร่วมกันเรียกและรับเงินจากคนขับรถยนต์บรรทุกสำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อไม่กระทำการในตำแหน่งคือไม่จับกุมตามหน้าที่ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 แต่คืนเกิดเหตุมีการเรียกเก็บเงินหลายครั้งหลายหนจากบรรดาคนขับรถหลาย ๆ คนดังนี้ เมื่อโจทก์รวมการกระทำเหล่านี้ไว้ในฟ้องข้อเดียวกันโดยถือเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท คือผิดทั้งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148และ 149 จึงต้องบังคับให้เป็นไปตามคำขอของโจทก์ ซึ่งแต่ละบทมาตรามีโทษเท่ากัน และเมื่อผิดตามบทเฉพาะเช่นนี้แล้วก็ไม่จำต้องปรับบทความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157อันเป็นบททั่วไปอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2534เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 2 กันยายน 2534 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยทั้งสี่กระทำความผิดและร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรม คือ
ก. จำเลยที่ 1 แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจทางหลวง 1กองกำกับการ 3 และกระทำการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจทางหลวงโดยจำเลยที่ 1 ไปยืนอยู่บริเวณสามแยกท่าพระ ตำบลบางพระอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ใช้ไฟฉายส่องเรียกตรวจรถยนต์บรรทุกที่แล่นผ่านและรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 81-6084 นครราชสีมา ที่นายสุนทร ลายหม้อเป็นผู้ขับแล่นผ่าน แล้วแสดงตนต่อผู้ขับรถยนต์ว่า จำเลยที่ 1 เป็นตำรวจทางหลวงมีอำนาจจับกุมผู้ขับรถยนต์บรรทุกที่กระทำผิดกฎหมายและเรียกเก็บเงินจากรถยนต์บรรทุกดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 มิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการนั้น
ข. จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจทางหลวง 1 กองกำกับการ 3 ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกงจังหวัดฉะเชิงเทรา มีอำนาจหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิดต่อกฎหมายอาญาบนทางหลวงในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา ตามวันเวลาดังกล่าวจำเลยที่ 2ถึงที่ 4 ได้รับคำสั่งให้เป็นผู้ประจำรถวิทยุตรวจการณ์ หมายเลข 3113 ปฏิบัติการในทางหลวงหมายเลข 304, 314 และ 315ออกจับกุมรถยนต์บรรทุกที่กระทำความผิดบนทางหลวงแผ่นดินในเขตรับผิดชอบ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตโดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ปฏิบัติหน้าที่อยู่บริเวณสามแยกบางพระได้ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบร่วมกันจูงใจและให้ค่าจ้างจำเลยที่ 1 ออกไปยืนตรวจจับเรียกเก็บเงินจากรถยนต์บรรทุกที่แล่นผ่าน เมื่อผู้ขับรถยนต์บรรทุกคันใดจ่ายเงินให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็จะไม่ทำการจับกุม อันเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจเพื่อให้บุคคลอื่นมอบให้ซึ่งทรัพย์สินแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จำเลยที่ 1เรียกเก็บเงินจากผู้ขับรถยนต์บรรทุกที่แล่นผ่านหลายคันรวมเป็นเงิน4,150 บาท และเรียกเก็บเงินจากนายสุนทร ลายหม้อผู้ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 81-6084 นครราชสีมา เป็นเงิน 20 บาทเพื่อจะไม่จับกุม นายสุนทรมอบธนบัตรฉบับละ 10 บาท จำนวน2 ฉบับ ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจได้ทำตำหนิไว้ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้นำเงินดังกล่าวไปมอบให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการกรมตำรวจ และนายสุนทร
ค. ขณะจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กระทำความผิดตามฟ้องข้อ ข.จำเลยที่ 1 ช่วยเหลือให้ความสะดวกในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2ถึงที่ 4 โดยจำเลยที่ 1 ออกไปเรียกเก็บและรวบรวมเงินจากผู้ขับรถยนต์บรรทุกแต่ละคันที่แล่นผ่านให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4
เจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 1 ได้พร้อมธนบัตรรวมเป็นเงิน4,150 บาท และธนบัตรฉบับละ 10 บาท จำนวน 2 ฉบับ ที่นายสุนทรมอบให้จำเลยอันเป็นเงินที่จำเลยได้มาจากการกระทำความผิดตามฟ้องข้อ ข. และยึดได้ไฟฉาย 1 กระบอก ที่จำเลยที่ 1 ใช้เป็นเครื่องมือส่องเรียกให้รถยนต์บรรทุกจ่ายเงินและกระติกน้ำ 1 ใบที่ใช้เป็นที่ใส่เงินที่เรียกเก็บจากรถยนต์บรรทุกอันเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145, 148, 149, 157, 33, 83,86, 91 ริบของกลาง ยกเว้นเงิน 20 บาท ที่นายสุนทรมอบให้จำเลยให้คืนเจ้าของ
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 1 หลบหนี ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายจำเลยที่ 1 ออกจากคดี
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 149, 157, 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามบทเฉพาะมาตรา 148 จำคุกคนละ 5 ปีของกลางริบ ยกเว้นเงิน 20 บาท ที่นายสุนทร ลายหม้อมอบให้จำเลยให้คืนเจ้าของ
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2ถึงที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยพยานหลักฐานโจทก์และจำเลยแล้ว พฤติการณ์แห่งคดีรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า จำเลยที่ 2ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันใช้จำเลยที่ 1 เป็นเครื่องมือเรียกเก็บเงินจากบรรดาคนขับรถยนต์บรรทุกที่แล่นผ่านไปมา ไม่เลือกว่าจะได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหรือไม่ ดังที่ได้ความว่าเพียงแต่จำเลยที่ 1 เข้าไปพูดว่า “ตามธรรมเนียม” เพียงเท่านี้ คนขับรถก็ต้องจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 เชื่อว่าเป็นไปด้วยความเกรงกลัวต่ออำนาจในการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 แม้มิได้กระทำความผิดก็จำใจต้องยอมให้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจเพื่อให้คนขับรถยนต์บรรทุกมอบเงินให้แก่จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นพวกของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 แต่หากรถยนต์บรรทุกคันใดมีการกระทำที่เป็นความผิดต่อกฎหมาย ถ้าจำเลยที่ 1 เรียกเอาเงินจากคนขับรถได้แล้ว จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็จะไม่ทำการจับกุม กรณีนี้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันเรียกและรับเงินจากคนขับรถยนต์บรรทุกสำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อไม่กระทำการในตำแหน่งคือ ไม่จับกุมตามหน้าที่ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 เงินของกลางที่ยึดได้มีจำนวนมากถึง 4,150 บาทแสดงว่ามีการเรียกเก็บเงินหลายครั้งหลายหนจากบรรดาคนขับรถหลาย ๆ คนในคืนเดียวกันโจทก์รวมการกระทำเหล่านี้ไว้ในฟ้องข้อ ข. โดยถือเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทคือผิดทั้งมาตรา 148 และ 149 จึงต้องบังคับให้เป็นไปตามคำขอของโจทก์ ซึ่งแต่ละบทมาตรามีโทษเท่ากัน และเมื่อผิดตามบทเฉพาะเช่นนี้แล้วก็ไม่จำต้องปรับบทความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157อันเป็นบททั่วไปอีก
พิพากษากลับว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 148 และ 149 ถือตามคำฟ้องของโจทก์ว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีโทษเท่ากัน ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 จำคุกจำเลยคนละ5 ปี ของกลางริบ เว้นแต่เงินของกลางจำนวน 20 บาท ให้คืนแก่เจ้าของ คำขออื่นให้ยก

Share