คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3308/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์นำเข้าบูช ยี่ห้อโอริฮาชิ ซึ่งเป็นอะไหล่รถยนต์ที่เพียงแต่อาจใช้ทดแทนอะไหล่แท้ได้ แต่คุณภาพต่างกัน จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นสินค้าประเภทและชนิดเดียวกับบูช ซึ่งเป็นอะไหล่แท้ การที่จำเลยหาราคาอันแท้จริงในท้องตลาดโดยการนำเอาราคาของบูช ซึ่งเป็นอะไหล่แท้มาเป็นหลักในการคำนวณว่า ถ้า อะไหล่แท้มีราคาเท่าใดเมื่อลดให้ร้อยละ 20 ราคาที่เหลือถือว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของบูช ที่โจทก์นำเข้า ย่อมไม่ชอบด้วยเหตุผล และยังไม่สอดคล้องกับคำจำกัดความของคำว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 2.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์นำเข้าบูชยี่ห้อ โอริฮาชิ ซึ่งเป็นอะไหล่รถยนต์ที่อาจใช้ทดแทนอะไหล่แท้ เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 แจ้งว่าโจทก์สำแดงราคาสินค้าดังกล่าวไว้ต่ำไป จึงให้โจทก์วางเงินเพิ่มเติมเป็นประกันค่าอากร ภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาลรวม297,042.72 บาท จำเลยที่ 1 จึงปล่อยสินค้าให้โจทก์รับไป ต่อมากองการประเมินของจำเลยที่ 1 ได้คืนเงินประกันค่าภาษีอากรให้โจทก์4,250 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย 22.26 บาท รวม 4,272.26 บาท แต่ยังไม่ถูกต้อง เพราะจำเลยมิได้คำนวณเรียกเก็บภาษีจากราคาสินค้าอันแท้จริงในท้องตลาดหรือราคาแห่งของที่ซื้อมาจริง กรณีของโจทก์ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดคือราคาที่โจทก์ซื้อมาซึ่งเป็นราคาที่ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงต้องคืนเงินประกันให้โจทก์อีก 122,750 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 23 กันยายน 2529 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 13,748.36 บาทรวมเงินที่จำเลยจะต้องคืนให้โจทก์ทั้งสิ้น 136,498.36 บาท ขอให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวนนั้นพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราที่กล่าวแล้วในต้นเงิน 122,750 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า การประเมินราคาสินค้าที่โจทก์นำเข้าต้องเป็นไปตามคำสั่งกรมศุลกากรที่ 28/2527 เรื่องระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการประเมินราคาอะไหล่ยานยนต์ ลงวันที่ 26 ตุลาคม 2527ข้อ 3.2.3 ข. โดยประเมินราคาเทียบกับอะไหล่แท้ยี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้าอีซูซุ ให้ต่างกันได้ไม่เกินร้อยละ 20 ตามใบขนสินค้าของโจทก์ ปรากฏว่าโจทก์สำแดงราคาสินค้า “ORIHASHI” BUSH เป็นเงิน444,660.13 บาท เมื่อคำนวณราคาตามคำสั่งดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของสินค้าดังกล่าวเป็นเงิน 798,720.20 บาทโจทก์สำแดงราคาต่ำไป 354,060.07 บาท โจทก์จึงต้องเสียภาษีอากรเพิ่มขึ้นและเมื่อหักจากเงินวางเพิ่มเติมเป็นประกันภาษีอากรที่โจทก์วางไว้แล้ว จำเลยต้องคืนเงินให้โจทก์เพียง 4,250 บาทเท่าที่โจทก์กล่าวในฟ้อง เจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งภาษีอากรขาเข้าภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาลให้โจทก์ทราบแล้ว เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม2529 โจทก์ไม่อุทธรณ์การประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร “วินิจฉัยข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันฟังได้ว่า บริษัทโจทก์นำบูชยี่ห้อโอริฮาชิ ซึ่งเป็นอะไหล่ระยนต์ที่ใช้ทดแทนอะไหล่แท้เข้ามาในราชอาณาจักร ในการชำระอากรขาเข้าโจทก์ยื่นใบขนตามเอกสารหมาย ล.1 สำแดงว่า ราคาสินค้าที่โจทก์นำเข้าคิดเป็นเงิน 444,660.13 บาท ตรงกับราคาที่ปรากฏในใบกำกับสินค้าตลอดจนหลักฐานการชำระเงินค่าสินค้าที่โจทก์ชำระผ่านธนาคาร เนื่องจากอะไหล่ที่โจทก์นำเข้าเป็นอะไหล่เทียมใช้ทดแทนอะไหล่แท้ที่ใช้กับรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุ ซึ่งจำเลยที่ 1 มีคำสั่งทั่วไปที่ 28/2527 วางระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการประเมินราคาอะไหล่ไว้โดยเฉพาะ เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จึงเรียกให้โจทก์วางเงินเพิ่มเติมเป็นประกันภาษีอากรไว้ แล้วคำนวณราคาอันแท้จริงในท้องตลาดสำหรับอะไหล่ระยนต์ที่โจทก์นำเข้าโดยนำราคาบูชซึ่งเป็นอะไหล่ที่แท้จริงของรถยนต์อีซูซุ ที่บริษัทตรีเพชรอีซูซุเซลล์ตัวแทนจำหน่ายอะไหล่แท้ยื่นไว้ต่อจำเลยที่ 1 มาเป็นหลักในการคำนวณว่า ถ้าเป็นอะไหล่แท้จะมีราคาเท่าใด และเมื่อลดให้ร้อยละ 20ราคาที่เหลือถือว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของบูชที่โจทก์นำเข้า อากรขาเข้าได้คำนวณตามราคานี้ ซึ่งโจทก์ต้องเสียเพิ่มเป็นเงิน 70,812 บาท มีปัญหาว่า ราคาที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ใช้ในการคำนวณอากรขาเข้าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของบูชที่โจทก์นำเข้าหรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 2 แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 ให้คำจำกัดความคำว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดหรือราคาแห่งของอย่างใดว่า “หมายความว่าราคาขายส่งเงินสด (ในส่วนราคาขนเข้าไม่รวมค่าอากร) ซึ่งจะพึงขายของประเภทและชนิดเดียวกันโดยไม่ขาดทุน ณ เวลาและที่ที่นำขอบเข้าหรือส่งของออกแล้วแต่กรณี โดยไม่มีการหักทอน หรือลดหย่อนราคาแต่อย่างใด” ตามนี้จะเห็นได้ว่าในการพิจารณาถึงราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของสินค้าชนิดใดจะต้องนำราคาขายส่งเงินสดของสินค้าอย่างเดียวกันมาเป็นเครื่องเปรียบเทียบ การหาราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของบูชซึ่งเป็นอะไหล่รถยนต์เทียมที่โจทก์นำเข้าตามฟ้องแทนที่จำเลยจะนำราคาขายส่งเงินสดของบูชซึ่งเป็นอะไหล่รถยนต์เทียมอย่างเดียวกันที่ผู้อื่นนำเข้ามาเป็นเครื่องเปรียบเทียบดังวิธีการที่กฎหมายบัญญัติไว้จำเลยที่ 1 กลับนำราคาขายส่งบูชซึ่งเป็นอะไหล่รถยนต์แท้ของรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุที่ลดราคาลงแล้วร้อยละ 20 ตามเกณฑ์ที่จำเลยที่ 1 กำหนดไว้ในคำสั่งทั่วไปที่28/2527 ซึ่งเป็นระเบียบปฏิบัติของจำเลยที่ 1 ในการประเมินราคาอะไหล่รถยนต์เปรียบเทียบแทน ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่า บูชที่นำเข้าในคดีนี้เป็นอะไหล่รถยนต์ซึ่งเพียงแต่อาจใช้ทดแทนอะไหล่แท้ได้เท่านั้น แต่คุณภาพแตกต่างกัน จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นสินค้าประเภทและชนิดเดียวกับบูชซึ่งเป็นอะไหล่แท้ การที่จำเลยที่ 1 หาราคาอันแท้จริงในท้องตลาดโดยการนำเอาราคาของบูช ซึ่งเป็นอะไหล่แท้มาเป็นเกณฑ์เปรียบเทียบตามวิธีการดังกล่าว ย่อมไม่ชอบด้วยเหตุผล ทั้งยังไม่สอดคล้องกับคำจำกัดความของคำว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 2 ดังกล่าวด้วย ฉะนั้นราคาขายส่งเงินสดบูชซึ่งเป็นอะไหล่รถยนต์แท้ ที่คำนวณลดราคาลงตามเกณฑ์ที่จำเลยที่ 1 กำหนดไว้ดังกล่าวแล้วจึงหาใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดของบูชซึ่งเป็นอะไหล่รถยนต์เทียมที่โจทก์นำเข้าไม่ การประเมินให้โจทก์ชำระอากรขาเข้าโดยวิธีการดังกล่าวจึงเป็นการประเมินที่ไม่ชอบ คำวินิจฉัยชองศาลภาษีอากรกลางในปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยโดยอาศัยเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้วฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share